ปัญหาเรื่องบ้านที่มากับหน้าฝน

หน้าฝนกำลังมาเยือนอีกครั้ง ช่วยดับความร้อนระอุของอุณหภูมิในบ้านเราให้คลายลงบ้าง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถึงหน้าฝนทีไร มักทำให้หลายๆ ครอบครัวปวดหัว เพราะปัญหาที่มาพร้อมกับหน้าฝน ไม่ว่าจะเป็นปัญหายอดฮิตอย่างเรื่องการรั่วซึม น้ำขัง ระบายไม่ทัน บทความนี้เราจะมาสะระตะดูปัญหาของบ้านที่มาพร้อมกับหน้าฝน รวมทั้งวิธีการแก้ไขและป้องกันกัน 
 

1.หลังคารั่วซึม

เป็นปัญหาสามัญประจำหน้าฝนเลยก็ว่าได้ ส่วนของหลังคาที่มักเกิดการรั่วซึมบ่อยๆ คือ บริเวณผืนและตำแหน่งจุดต่อต่าง ๆ เช่น บริเวณรอยต่อระหว่างผืนหลังคาแต่ละด้าน และรอยต่อตรงสันหลังคา โดยสาเหตุของการรั่วซึมเกิดจากการเลือกวัสดุและอุปกรณ์หลังคาไม่ได้มาตรฐาน มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่ถูกต้อง บางกรณีรวมไปถึงลักษณะของรูปทรงหลังคาที่ทำการออกแบบไม่ถูกหลักการตั้งแต่แรก นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ครอบหลังคาเสื่อมสภาพ กระเบื้องหลังคาแตกร้าว การมุงหลังคาด้วยองศาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น


แนวทางการแก้ไขและป้องกัน ต้องใช้ “อุปกรณ์ยึดครอบหลังคา” ที่มีคุณภาพเพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผืนหลังคา ป้องกันปัญหาการรั่วซึมบริเวณสันหลังคาได้อย่างไร้กังวล นอกจากนี้เจ้าของบ้านควรเลือกกระเบื้องหลังคาและอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้ รวมถึงเลือกช่างติดตั้งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันปัญหาหลังคารั่วซึมตั้งแต่ต้นเหตุ สำหรับการแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นหากมีการรั่วแล้วสามารถใช้ซิลิโคนยาแนวรอยต่อที่น้ำรั่วซึมเข้ามา แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะได้หน้าชั่วคราวเท่านั้น

2. กระเบื้องหลังคาหลุด-ปลิว

 ด้วยสภาวะอากาศที่แปรปรวนในช่วงหน้าฝน บ้านจึงต้องรับมือกับฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง หรือแม้แต่พายุฤดูร้อน ซึ่งข้อมูลด้านสถิติความเร็วลมจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 93 สถานี พบว่าสถิติความเร็วลมเมื่อเกิดพายุฝนในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ 103 ถึงมากกว่า 118 กม./ชั่วโมง ซึ่งเริ่มสร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะส่วนหลังคาเพราะหากมีการยึดกระเบื้องหลังคาไม่ดีแรงลมอาจพัดเอาหลังคาปลิวไปด้วย ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเท่านั้น ยังอาจเกิดอันตรายกับทรัพย์สินและบุคคลที่อยู่บริเวณนั้นด้วย

house1

แนวทางการแก้ไขและป้องกัน เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ควรใช้ “ระบบยึดกระเบื้องหลังคา” (Roof Fixing Solution) ประกอบด้วย แป ตะปูเกลียวยึดกระเบื้อง แหนบยึดกระเบื้องเศษ ขอยึดกระเบื้อง และขอยึดเชิงชาย ด้วยวิธีการติดตั้งโดยยึดกระเบื้องหลังคาทุกแถวทุกแผ่น ซึ่งจะทำให้การยึดหลังคาทั้งผืนแข็งแรงแน่นหนา โดยแนะนำให้เลือกให้อุปกรณ์ยึดที่มีคุณภาพสูงและเหมาะกับขนาดของหลังคา

3. ผนังและพื้นรั่วซึม

สำหรับปัญหาผนังและพื้นรั่วซึมในช่วงหน้าฝนจะคล้ายๆ กับปัญหาหลังคารั่ว  ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น พื้นหรือผนังเกิดความชื้นจนเชื้อราหรือตะไคร่ขึ้น สีทาบ้านลอกล่อน วัสดุกรุผิวโป่งพองหรือหลุดร่วง ไปจนถึงโครงสร้างบ้านได้รับความเสียหายจากการที่เหล็กเสริมในคอนกรีตเป็นสนิม และถ้าผนังตรงจุดนั้นมีปลั๊กไฟหรือสายไฟ ก็อาจทำให้เกิดไฟรั่วได้เช่นกัน ​นอกจากนี้หากมีช่องว่างระหว่างวงกบประตู-หน้าต่างกับผนัง ก็ทำให้น้ำผ่านเข้ามาภายในบ้านได้

แนวทางการแก้ไขและป้องกัน การแก้ไขขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุวงกบ เช่น วงกบอะลูมิเนียมควรลอกซิลิโคนเดิมออกให้หมด ทำความสะอาดแล้วจึงยาแนวด้วยซิลิโคนใหม่ วงกบไม้ถ้ายังอยู่ในสภาพดีแต่แยกตัวจากผนังโดยรอบ ให้ทำความสะอาดและอุดช่องว่างโดยรอบด้วยซิลิโคน หรือกาวโพลียูรีเทน (กาวพียู) อีกสาเหตุของปัญหาน้ำรั่วซึมจากน้ำฝนคือท่อระบายน้ำจากหลังคาหรือระเบียงที่ซ่อนในผนังบ้านรั่วซึม ซึ่งอาจทำให้ผนังหรือพื้นมีรอยช้ำน้ำ หรือสีบวมที่ผนังได้เช่นกัน การแก้ไขควรซ่อมท่อระบายน้ำที่รั่วซึมให้เรียบร้อย โดยผ่านทางช่องเซอร์วิสภายในบ้าน (ถ้าไม่มีช่องเซอร์วิสจำเป็นต้องรื้อฝ้าเพดานหรือทุบผนังในบริเวณที่เกิดปัญหารั่วซึม) แล้วจึงซ่อมแซมผนังหรือพื้นที่เสียหาย  ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดปัญหารั่วซึมจนโครงสร้างพื้นหรือคานได้รับความเสียหาย เช่น คอนกรีตกะเทาะจนเห็นเหล็กเส้นที่เป็นสนิม ควรรีบซ่อมแซมตามลักษณะความเสียหาย โดยในกรณีที่เป็นสนิมผิวให้ขัดสนิมด้วยกระดาษทรายและทาน้ำยาแปลงสนิม (Rust Converter) ก่อนฉาบหรือหล่อคอนกรีตสำหรับงานซ่อมแซม (Non-Shrink Grout) แต่หากเป็นสนิมขุมที่กินเนื้อเหล็กควรซ่อมแซมภายใต้การควบคุมของวิศวกรผู้ชำนาญเท่านั้น

4. รางน้ำ-ท่อระบายน้ำ

หลายๆ คนคงทราบดีว่าการที่ฝนตกแต่ละครั้งไม่ได้ตกมาแค่น้ำฝนอย่างเดียว แต่ยังพาเอาฝุ่นดินหรือใบไม้ตกลงมาด้วย ซึ่งบางครั้งเมื่อสิ่งนี้ไปตกลงที่รางน้ำฝนหรือท่อน้ำทิ้ง อาจเป็นสาเหตุทำให้ท่อน้ำทิ้งตันได้ ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตให้ดีว่าท่อน้ำทิ้งหรือรางน้ำฝนยังใช้งานได้ดีอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มีน้ำไหลลงมาเมื่อฝนตกก็แปลว่าตันแน่นอน   แนวทางการแก้ไขและป้องกัน หมั่นเช็คและดูแลทำความสะอาด อย่าปล่อยให้มีเศษผง เศษขยะหรือใบ้ไม้เข้าไปอุดตัน เพราะจะเป็นบ่อเกิดของการกั้นทางน้ำและเป็นสาเหตุให้น้ำไหลเข้าบ้านในที่สุด

5. หญ้าและวัชพืชขึ้นรก

เนื่องจากน้ำเยอะในหน้าฝน ทำให้หญ้าและวัชพืชต่าง ๆในโตเร็ว ควรหมั่นตัด-ตกแต่งสวน ดึงวัชพืชทิ้ง จัดเรียงต้นไม้ให้เป็นระเบียบ และเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ด้วย

6 .อุปกรณ์ใส่น้ำมีน้ำขัง

ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากน้ำฝน เพราะแน่นอนว่าเมื่อฝนตกแล้วก็มักจะมี "น้ำขัง" อยู่ตามพื้นหรือตามสิ่งของ ภาชนะต่างๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ยุงก็จะเริ่มมาวางไข่บริเวณน้ำขังนั้น จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายอย่าง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย หรือไข้สมองอักเสบได้

แนวทางการแก้ไขและป้องกัน สำรวจรอบบ้านตรวจสอบอุปกรณ์ที่บรรจุน้ำรอบ ๆ บ้าน และคว่ำให้เรียบร้อย หรือถ้ามีแอ่งน้ำเล็ก ๆ ก็นำดินหรือทรายมาถมให้เต็ม เพื่อป้องกันน้ำขัง

7. ต้นไม้หักทับตัวบ้าน

การปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ใกล้ๆ ตัวบ้าน ถ้าฝนตกหนักลมแรง ก็อาจไปทำให้กิ่งหรือลำต้นของต้นไม้ใหญ่นั้นหักโค่นลงมาทับตัวบ้านให้ได้รับความเสียหายได้ แนวทางการแก้ไขและป้องกันคือ ไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวบ้านมากเกินไปแต่แรก ตัดแต่งกิ่งของไม้ใหญ่ข้างบ้านสม่ำเสมอ อย่าให้มีส่วนไหนยื่นหรือล้ำออกมาพาดตัวบ้าน เพราะเสี่ยงต่ออันตรายในหน้าฝน  

8. ไฟฟ้าลัดวงจร

สาเหตุเกิดจากกสายไฟหรืออุปกรณ์จ่ายไฟเกิดการเสื่อมสภาพ น้ำฝนหรือความชื้นจากฝนอาจทำให้ระบบจ่ายไฟเสียหายจนเกิดการลัดวงจร และส่งผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรืออาจทำให้เกิดประกายไฟเสี่ยงต่อไฟไหม้ได้อีกด้วย แนวทางการแก้ไขและป้องกัน ต้องเช็คสายไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่างสม่ำเสมอว่าไม่เก่าเสื่อมสภาพ ไม่มีไฟรั่ว และใช้งานได้อย่างปลอดภัย

9. ปัญหาตะไคร่น้ำบนพื้นคอนกรีต

เมื่อฝนตกบ่อย ๆ บริเวณหน้าบ้าน หรือทางเดินอาจเกิดตะไคร่น้ำได้ ซึ่งไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้เลย เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แนวทางการแก้ไขและป้องกัน หลังฝนตก ควรรีบทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยไว้นาน วิธีกำจัด อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่ราด แต่ต้องเลือกน้ำยาให้เหมาะกับพื้นผิวที่จะทำความสะอาดด้วย ทิ้งให้น้ำยาทำปฏิกิริยา จากนั้นใช้แปรงขัด หรือใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดก็ได้

ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดบางปัญหาก็เป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญมาทำการซ่อมให้เรา เช่น เช่นเรื่องปัญหาหลังคาหรือผนังรั่วซึม รวมทั้งปัญหาหลังคาปลิว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเงินจำนวนมากหลักหมื่นหรือหลักแสนขึ้นอยู่กับความหนักเบาของปัญหา สำหรับหลายๆ บ้านที่มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วแต่ขาดงบประมาณในการซ่อมแซม SCB มีตัวช่วยให้คุณซ่อมบ้านได้เลยโดยไม่ต้องรอเก็บเงิน ได้เงินก้อนใหญ่สูงสุดถึง 3 ล้านบาท ผ่อนได้นาน 72 เดือน กู้ง่ายๆ ได้เองผ่าน SCB EASY App อนุมัติไวไม่ต้องรอนาน บ้านก็จะกลับมาเป็นสถานที่ที่อบอุ่นของครอบครัว หมดปัญหาจุกจิกกวนใจอีกต่อไป 


อ้างอิง

https://decor.mthai.com/home-idea/tips-home-idea/43206.html

https://www.livinginsider.com/inside_topic/5968/1/Home-problem-that-come-with-rainy-season.html

http://www.inside2home.com