หน้าหนาวนี้! ระวัง 6 โรคที่แฝงตัวมาพร้อมอากาศหนาว

พอย่างเข้าหน้าหนาวทีไรอากาศเปลี่ยนแปลงอาจทำให้บางคนที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่ายกว่าปกติ เพราะฤดูหนาวมักมาพร้อมกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เพื่อความไม่ประมาทมาดูว่าโรคที่มาพร้อมฤดูหนาวมีอะไรบ้างและควรมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร

โรคไข้หวัด

  • เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกฤดูหากร่างกายของเราอ่อนแอ แต่ในช่วงหน้าหนาวโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดมีมากกว่าถึง 2 เท่าซึ่งโรคไข้หวัดมีเชื้อไวรัสหวัดหลายร้อยชนิดที่ทำให้เป็นโรคได้

  • อาการที่พบ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม ระคายคอ โดยทั่วไปจะหายภายใน 1 สัปดาห์

  • การดูแลรักษา พักผ่อนให้เพียงพอ  ดื่มน้ำมาก ๆ  รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอ โรคนี้จะหายได้เองตามธรรมชาติหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

  • การป้องกัน  ออกกำลังกายเป็นประจำ  พักผ่อนให้เพียงพอ  ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และทานอาหารให้ครบ5 หมู่โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีช่วยป้องกันโรคหวัดได้

โรคไข้หวัดใหญ่

  • ไข้หวัดใหญ่มักจะระบาดในช่วงฤดูหนาวเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรง แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เบาหวาน โรคไตวาย อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก

  • อาการที่พบ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมี เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน

  • การดูแลรักษา  ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

  • การป้องกัน เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อจากทางเดินหายใจและจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปแหล่งชุมชน ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี

ปอดบวมหรือปอดอักเสบ

  • เกิดจากที่ปอดมีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าไปอยู่ตามถุงลม ทำให้เนื้อปอดบริเวณนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ

  • อาการที่พบ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ไอ มีเสมหะ มีไข้สูง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีอาการกำเริบมากขึ้นในฤดูหนาว โดยเฉพาะหากติดเชื้อไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย

  • การดูแลรักษา ควรมาพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะและยาลดไข้ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อช่วยลดเสมหะ

  • การป้องกัน  ดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อไม่ให้ติดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ พบยาแก้หอบติดตัวและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็จะเป็นอีกวิธีที่ป้องกันโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบได้

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

  • เกิดจาก ไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่พบได้ง่ายในฤดูหนาว และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี

  • อาการที่พบ มีอาการอาเจียนมาก / ถ่ายมากผิดปกติ  ซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชม. ปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ในเด็กจะมีกระหม่อมบุ๋ม

  • การดูแลรักษา รักษาตามอาการ โดยดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไป รับประทานยาแก้อาเจียนถ้ามีการอาเจียนบ่อย หากมีอาการขาดน้ำ ปัสสาวะออกน้อยหรืออาเจียนมากรับประทานไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน

  • วิธีป้องกัน รักษาสุขอนามัย การดูแลความสะอาดของอาหารน้ำดื่ม และล้างมือบ่อยๆ และหมั่นดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ และฉีดวัคซีนเพราะในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสนี้แล้ว

โรคหัด

  • เกิดจาก เชื้อไวรัสมักพบในเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อได้จากการ ไอ จาม น้ำลายของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน

  • อาการ  มีไข้สูง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ไอ ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป นอกจากนี้จะมีผื่นเป็นปื้นสีแดง หลังจากเป็นไข้มาแล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา และจะหายไปเอง ภายใน 7 วัน

  • วิธีรักษา เนื่องจากโรคหัดไม่ใช่โรคร้ายแรง การรักษาจึงสามารถรักษาตามอาการจนกว่าจะหาย

  • วิธีป้องกัน ฉีดวัคซีนสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

โรคภูมิแพ้

  • ช่วงฤดูหนาวคนที่มีโรคภูมิแพ้อากาศอยู่เดิมอาจมีอาการมากขึ้นได้ หรือบางคนที่แพ้ตัวไรในฝุ่นตามที่นอนในช่วงฤดูหนาวอาจมีอาการมากขึ้น

  • อาการ คันจมูก คันตา จามมีน้ำมูกใสๆ คัดจมูกอยู่ตลอดได้ ผู้ป่วยบางรายมีผื่นนูนคันเวลาอากาศเย็น (cold-induced urticaria) โดยมักมีอาการในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยน อาจมีตุ่มนูนคันขึ้นในบริเวณที่ถูกอากาศเย็นได้

  • วิธีรักษา  ในรายที่มีอาการมากควรรับประทานยาแก้แพ้อากาศเพื่อลดอาการลง

  • การป้องกัน ควรดูแลสุขภาพให้สุขแรงด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่นและหลีกเลี่ยงสารหรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ก็จะเป็นแนวทางในการป้องกันอีกทางหนึ่ง


ไม่ว่าฤดูไหนอากาศจะหนาวจะร้อนอย่างไร ถ้าหากเราหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างเป็นสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานร่างกายของเราให้แข็งแรงสามารถลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยลงได้ และถ้าหากดูแลสุขภาพอย่างดีแล้วแต่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเหนือสิ่งอื่นใดควรมีประกันสุขภาพติดตัวไว้จะได้ไม่ต้องปวดใจเวลาจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล สนใจทำประกันสุขภาพ ดูรายละเอียด -ที่นี่ -

ที่มา :

https://vibhavadi.com/health966

https://www.paolohospital.com

https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy006.html

https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=513