ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
4 จุดสำคัญที่ควรเช็คเป็นประจำเพื่อป้องกันปัญหา รถความร้อนขึ้นสูง
เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “เครื่องร้อน” หรือ “โอเวอร์ฮีท” กันมาบ้าง แต่มีไม่น้อยที่ไม่รู้ถึงความร้ายแรงของอาการเหล่านี้ โดยเฉพาะถ้าความร้อนถึงระดับ โอเวอร์ฮีท นั่นหมายถึงมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง และหากรถความร้อนขึ้นมาก ๆ ถึงขั้นรุนแรงจนต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ นั่นหมายความว่ามีงบบานปลายอีกมหาศาล
โดยปกติเมื่อเครื่องยนต์ทำงาน จะเกิดความร้อนที่สูงมากในระบบ ทั้งจากการเผาไหม้ และการเสียดสีของชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งทำให้รถความร้อนขึ้นและความร้อนเหล่านี้จะต้องจัดการระบายออกไปด้วย “ระบบระบายความร้อนหรือระบบหล่อเย็น” ซึ่งมีส่วนประกอบหลายอย่าง และการทำงานหลายขั้นตอน แต่วันนี้จะมาว่ากันถึงวิธีการใช้งานและการสังเกตว่า รถความร้อนขึ้นเกิดจากอะไรได้บ้างและการดูแลระบบระบายความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารถความร้อนขึ้นและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานต่อไป
1. มาตรวัดห้ามละเลย
การขับขี่รถยนต์ มีสิ่งที่พึงปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัย คือ หมั่นดูข้อมูลต่างๆ ของรถที่มาตรวัดบนคอนโซลหน้า รวมถึงมาตรวัดความร้อนของเครื่องยนต์เพื่อตรวจสอบว่ารถความร้อนขึ้นเกินหรือไม่
ในรถยนต์ที่มาตรวัดเป็นแบบเข็มเมื่อเครื่องยนต์ทำงานได้ที่แล้ว เข็มจะอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่าง C ซึ่งหมายถึง Cool กับ H หมายถึง Heat แต่ถ้าหากเข็มจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า หรือต่ำกว่ากึ่งกลาง เล็กน้อย ก็ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจอะไร เป็นเรื่องปกติ
ซึ่งหากใครที่สังเกตอยู่เป็นประจำทุกครั้ง ก็จะรู้ได้ว่าตำแหน่งเข็มที่ชี้นั้นปกติหรือผิดปกติ และถ้าเห็นว่าเข็มเริ่มขึ้นไปทาง H เรื่อยๆ แสดงว่ารถความร้อนเพิ่มขึ้น ขั้นแรกให้ปิดสวิทช์แอร์ทันที เพื่อลดภาระการทำงานเครื่องยนต์ แล้วรีบหาที่จอดที่ปลอดภัย เพื่อตรวจสอบว่ารถความร้อนขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร หรือตามช่างมาแก้ไข อย่าปล่อยให้เข็มวัดความร้อนเพิ่มขึ้นจนสูงมาก เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายรุนแรง
ส่วนรถบางรุ่นที่ไม่มีเข็ม แต่จะมีสัญญาณไฟแสดงเมื่อความร้อนสูงกว่าปกติ ก็ให้คอยสังเกต ถ้าไฟโชว์เมื่อไร ก็ต้องรีบจอดรถเช่นกัน
อาจจะมีผู้สงสัยว่าเราพูดถึงกันแต่เครื่องยนต์รถความร้อนขึ้นเกินแล้วถ้าเครื่องยนต์เย็นเกินไป จะมีผลเสียหรือไม่ คำตอบคือ มี เพราะเครื่องยนต์จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีอุณหภูมิทีสูงพอ ถ้าต่ำเกินไป จะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้สมรรถนะลดลง และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าใครสังเกตการใช้งานของตนเอง ช่วงใช้งานรถช่วงแรกๆ ของวัน อัตราสิ้นเปลืองจะสูงกว่าเมื่อใช้งานไปสักระยะ เพราะความร้อนช่วงแรกยังสูงไม่พอ ดังนั้นถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ก็จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขด้วย
2. หม้อน้ำ –หม้อพักน้ำ หมั่นตรวจสอบดูแล
รถความร้อนขึ้นอาจเกิดจาก หม้อน้ำ – หม้อพักน้ำมีปัญหา ดังนั้น เมื่อจอดรถอย่างปลอดภัยแล้ว ให้ตรวจสอบดูหม้อน้ำ แต่...จำไว้ว่าห้ามเปิดดูทันที ต้องรอให้เครื่องยนต์เย็นลงเสียก่อน เพราะหากเปิดหม้อน้ำทันทีแรงดันของน้ำที่ร้อนจะพุ่งใส่เป็นอันตรายได้
หากมั่นใจว่าความร้อนลดลงจนปลอดภัย จึงค่อยเปิดฝาหม้อน้ำ และเพื่อกันความเสี่ยง ให้หาผ้าสักผืนมาคลุมฝาหม้อน้ำก่อนเปิด เพราะหากมีน้ำร้อนพุ่งออกมา ก็จะถูกผ้ากั้นขวางเอาไว้
โดยทั่วไป ฝาหม้อน้ำจะเปิดแบบ 2 จังหวะ เมื่อจะเปิดให้เปิดทีละจังหวะ ซึ่งจังหวะแรก หากน้ำยังมีแรงดันอยู่จะพุ่งออกมา ฝาหม้อน้ำที่ยังไม่หลุดจากหม้อน้ำ จะเป็นตัวป้องกันอันตรายอีกทางหนึ่ง
ในทางกลับกัน เมื่อปิดฝาหม้อน้ำ ก็อย่าลืมบิดให้ครบ 2 จังหวะ ป้องกันไม่ให้หลุดออกมาระหว่างใช้งาน
เมื่อเปิดแล้ว ตรวจดูว่าน้ำพร่องไปหรือไม่ ถ้าพร่องก็จัดการเติมใหม่ แต่หลังจากนั้นก็ต้องคอยตรวจสอบบ่อยๆ ถ้าพบว่าน้ำพร่องเป็นประจำ แสดงว่าเกิดการรั่ว ต้องรีบซ่อมแซม
และใกล้ๆ กัน จะมีหม้อพักน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกสีขาวขุ่น สามารถมองเห็นระดับน้ำภายในได้ หมั่นตรวจสอบเป็นประจำให้ระดับน้ำอยู่ระหว่าง Min กับ Max ถ้าสูงเกินหรือต่ำเกินไป แสดงว่ามีความผิดปกติในระบบ ดังนั้นต้องตรวจสอบให้ระดับน้ำไม่ต่ำกว่าขีด Min เพราะถ้าต่ำกว่าแสดงว่าอาจมีการรั่วไหลในระบบ ส่วนการเติมน้ำในระบบก็ไม่ควรเติมเกินกว่าขีด Max เพราะเมื่อเครื่องยนต์ทำงาน น้ำจะมีการขยายตัวและถ่ายเทกันระหว่างหม้อน้ำกับหม้อพักน้ำ ดังนั้นถ้าน้ำมากเกินไป ก็ทำให้การถ่ายเทไม่สะดวกได้เช่นกัน
3. คูลแลนท์ จำเป็นหรือไม่
เมื่อพูดถึงหม้อน้ำ ก็มักจะมีคำถามที่มาคู่กันเสมอว่า เติมน้ำเปล่าปกติได้หรือไม่ หรือต้องเติมน้ำยาหล่อเย็น (คูลแลนท์) ด้วย
คำตอบคือ ควรเติมน้ำยาหล่อเย็นด้วย โดยปกติจะผสมกับน้ำในสัดส่วน 50/50 แต่บางทีผู้จำหน่ายก็ผสมมาให้เรียบร้อย
การที่ต้องเติมเพราะน้ำยาหล่อเย็นมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ทำให้จุดเดือดของน้ำสูงกว่า 100 องศา เซลเซียส พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เดือดช้ากว่าปกติ จึงช่วยลดปัญหาการระเหยกลายเป็นไอ ที่ทำให้รถความร้อนขึ้นเพราะน้ำพร่องจากระบบได้ง่าย
คูลแลนท์ยังช่วยให้การระบายความร้อนดีขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยลดการเกิดตะกรัน และสนิมได้ด้วย
สนิม และตะกรัน ไม่ได้มีโทษแค่ทำให้หม้อน้ำหรือครีบรังผึ้งเสียหายเท่านั้น แต่ยังทำให้เครื่องยนต์รถความร้อนขึ้นง่ายอีกด้วย เพราะน้ำหมุนเวียนไม่ดี และอันตรายอีกอย่างที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง คือ ทำให้หม้อน้ำระเบิดได้ เพราะตะกรันหรือสนิมที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ว่างในหม้อน้ำลดลง นอกจากนี้ยังทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และความดันภายในหม้อน้ำเพิ่มขึ้น เหมือนกับคนที่มีไขมันเกาะเส้นเลือด ก็เสี่ยงที่จะเป็นความดันสูง และเส้นเลือดแตกได้นั่นเอง
ประโยชน์ทางอ้อมของคูลแลนท์คือการมีสีที่แตกต่างไปจากน้ำ ดังนั้นเมื่อหยดลงพื้น จะสังเกตได้ง่ายว่าเป็นน้ำที่หยดจากระบบหล่อเย็น ไม่ใช่น้ำที่เกิดจากความเย็นของระบบแอร์ นั่นเป็นการช่วยเตือนให้รีบตรวจหารอยรั่ว และทำการแก้ไขก่อนที่จะบานปลายจนกลายเป็นสาเหตุให้รถความร้อนขึ้น
4. พัดลม-สายพาน ตรวจสอบไม่ยาก
ยังมีสิ่งที่ผู้ใช้รถสามารถตรวจสอบด้วยตนเองง่ายๆ ก็คือ พัดลมไฟฟ้า และสายพาน ซึ่งมีผลต่อระบบระบายความร้อนอันเป็นสาเหตุให้รถความร้อนขึ้นทั้งสิ้น โดยเปิดกระโปรงหน้ารถขึ้น แล้วสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อดูว่าพัดลมหมุนปกติหรือไม่ หรือช้ากว่าปกติ ทั้งนี้การจะรู้ผิดปกติหรือไม่ จะต้องใช้การสังเกตการทำงานบ่อยๆ วิธีการคือ ควรหาเวลาว่างๆ เช่น วันหยุดอยู่บ้าน สักสัปดาห์ละครั้ง ลองเปิดฝากระโปรงเพื่อตรวจเช็คดู และที่สำคัญต้องเช็คด้วยสายตาเท่านั้น อย่าเอามือไปแตะไปจับอะไรเด็ดขาด รวมถึงแต่งตัวให้เสื้อผ้ากระชับ ไม่รุ่มร่าม ที่เสี่ยงจะห้อยเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ได้
ส่วนสายพานซึ่งอยู่หน้าเครื่อง ซึ่งปัจจุบันมักจะมีแค่เส้นเดียวแต่คุมการทำงานทั้งหมด ให้ใช้วิธีฟังเสียงว่ามีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ และส่วนใหญ่คือเสียง อี๊ดๆ ให้ฟัง 3 ช่วง คือ ช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์ ช่วงเร่งเครื่อง และช่วงดับเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีเสียงผิดปกติ และสภาพสายพานยังปกติ คือไม่มีรอยขูด รอยบาด หรือ แตกกรอบ ก็ยังสามารถใช้งานได้อีกยาวนาน
ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับระบบระบายความร้อนอีกมาก แต่ที่นำมาพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของรถ แม้จะไม่มีความชำนาญเชิงช่างก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของรถยนต์ที่ใช้อยู่เสมอ เพื่อให้รถยังคงสภาพดีและสามารถใช้งานไปได้อีกยาวนาน