ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
The Treasure Hunter สะสมประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะโบราณ (ตอนที่ 1)
ภาพถ่าย 1 ภาพ อาจแทนคำพูดได้มากกว่าพันคำ ภาพถ่ายโบราณบางภาพ อาจเขียนบรรยายออกมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ได้ 1 เล่ม นอกจากภาพถ่ายโบราณหายากแล้ว ของสะสมอื่นๆ เช่น ศาสตราวุธโบราณ เฟอร์นิเจอร์โบราณ รวมไปถึงบ้านโบราณ คุณค่าของศิลปวัตถุโบราณเหล่านั้น คงไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้
คุณอรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ไทยสตาร์ กรุ๊ป
ผู้ที่รักการสะสมศิลปะโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยได้เปิด Villa Musée ภูวนาลี รีสอร์ทเขาใหญ่ ให้ผู้คนได้มาชมคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้ จะมาบอกเล่าคุณค่าที่แท้จริงของการสะสมภาพถ่ายและศิลปะโบราณ ร่วมสัมผัสคุณค่าที่เป็นมากกว่าการลงทุนเพื่อผลกำไร แต่เป็นความสุขทางใจ และเรื่องราวที่น่าจดจำ ร่วมพูดคุยโดย
คุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
จุดเริ่มต้นเส้นทางนักสะสม
คุณอรรถดา คอมันตร์ หรือคุณโอ๊ค มีความชื่นชอบของโบราณมาตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากสมัยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก โรงเรียนอยู่ใกล้ไปรษณีย์กลาง และย่านของเก่า ของสะสมอย่างจริงจังในตอนนั้นคือแสตมป์กับเหรียญสมัยรัชกาลที่ 5 เอกสาร ป้ายโฆษณาของวินเทจ ประกอบกับมีเพื่อนที่บ้านทำธุรกิจขายของเก่า จึงมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องของเก่า รวมถึงที่บ้านก็มีของเก่าตกทอดกันมา ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายคราม เมื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ ก็ชอบไปเดินดู ซื้อของเก่าตาม Flea Market ร้านขายของเก่า ซึ่งก็พบของสไตล์เอเชียจำนวนมากที่ไปอยู่ในประเทศตะวันตก เมื่อกลับมาก็สนใจรถคลาสสิก สนุกกับการซ่อม การไปอู่ สั่งของมาซ่อมรถเอง และเริ่มสั่งของทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้เพื่อนที่เคยเรียนอยู่ต่างประเทศด้วยกันช่วยแนะนำให้ ด้วยความที่ส่วนตัวคุณโอ๊คชื่นชอบงานสถาปัตย์ จึงชอบสะสมเครื่องเรือนไม้ เฟอร์นิเจอร์โบราณ ของตกแต่งอย่าง โคมแชนเดอร์เลีย พรมเปอร์เซีย รวมถึงภาพถ่ายโบราณ และอาวุธโบราณด้วย
ในเรื่องการศึกษาหาความรู้ คุณโอ๊คมีโอกาสเรียนรู้วิธีการดูของเก่าจากคนค้าขายวัตถุโบราณที่มีความเชี่ยวชาญ ของเก่าในประเทศไทยมีมาจากจีน เวียดนาม เขมร อินเดีย พม่า ซึ่งคุณโอ๊คจะสะสมของสมัยโคโลเนียล คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 -6 แต่ถ้าเป็นของไทยจะสะสมของตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และจากที่มีโอกาสไปทำงานฮ่องกงบ่อยๆ เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ก็ได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความรู้กับดีลเลอร์ที่ฮ่องกง ทำให้ทราบว่า จริงๆ ในเมืองไทยมี เฟอร์นิเจอร์จีนดีๆ จำนวนมากที่เข้ามาสมัยร.4-ร.5 ราคาถูกกว่าที่ฮ่องกง เมื่อประเทศจีนเศรษฐกิจดี คนจีนที่มีกำลังซื้อก็นิยมมาประมูลซื้อของโบราณของเขาในไทยกลับไป
ภาพถ่ายโบราณของไทยหายากติดอันดับโลก
ภาพถ่ายโบราณของไทย ถือว่าเป็นภาพถ่ายในกลุ่มที่มูลค่าสูงที่สุดของโลก ซึ่งกล้องถ่ายภาพเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2388 ช่วงปลายสมัย ร.3 โดยบาทหลวงลาร์นอดี นำเข้ามาจากฝรั่งเศส ถือว่านำเข้ามาค่อนข้างเร็ว คือเพียง 6 ปีหลังจากที่เกิดภาพถ่ายในเชิง Commercial ครั้งแรกในโลก คนไทยเริ่มถ่ายภาพจริงๆ ในช่วงรัชกาลที่ 4 โดยพระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกที่ยอมให้ถ่ายภาพ ซึ่งในสมัยนั้นการถ่ายภาพเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ การถ่ายภาพจึงแสดงถึงความศิวิไลซ์ โดยช่างที่ถ่ายภาพในยุคนั้นเป็นชาวตะวันตกและเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียง เช่น ปีแยร์ รอซีเย จอห์น ทอมสัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพถ่ายโบราณของไทยมีราคาแพง ประกอบกับจำนวนภาพถ่ายมีน้อย เพราะไม่ค่อยมีคนยอมให้ถ่าย ด้วยเชื่อกันว่าการถ่ายภาพทำให้อายุสั้น รวมถึงเก็บรักษายาก ทำให้ภาพถ่ายที่เหลือรอดมาปัจจุบันยิ่งมีน้อย มีการประมาณว่าภาพถ่ายศตวรรษที่ 19 ของทั่วโลกเหลือรอดมาเพียง 15% เท่านั้น
คุณค่าของภาพถ่ายโบราณ แบ่งออกเป็นตัวเรื่องราวในภาพถ่าย ผู้ถ่าย สภาพ และอายุ โดยเริ่มจากเทคนิคการถ่ายภาพ เช่น เทคนิคดาแกโรไทด์ ฟิลม์กระจก กระจกแห้ง กระจกเปียก ฯลฯ สตูดิโออัดภาพ ซึ่งจะบอกได้ว่าถูกถ่ายโดยใคร และตอนไหน ถ้าเป็นภาพบุคคลจะสามารถคำนวณอายุบุคคลในภาพได้ นอกจากนี้ยังดูได้จากไซส์ขนาดของภาพ อย่างรูปไซส์ CDV (Carte de visite) ใช้อยู่ในช่วงแรกไม่กี่ปี ก็เปลี่ยนมาไซส์คาบิเน็ต (Cabinet) สิ่งเหล่านี้บอกอายุของภาพทั้งสิ้น ในส่วนเนื้อหาของภาพ มีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนปัจจุบันเห็นถึงเรื่องราวในอดีต ภาพหลายภาพที่คุณโอ๊คซื้อประมูลมาจากต่างประเทศไม่เคยเปิดเผยในเมืองไทย สามารถอ้างอิงและนำไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีคนสะสมภาพถ่ายโบราณจำนวนมาก และภาพถ่ายโบราณของไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากของนักสะสมทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นทั้งงานแอนทีคและงานศิลปะที่ถ่ายโดยช่างภาพที่มีชื่อเสียง มีการนำออกประมูลในสถาบันประมูลชั้นนำ
ในคอลเล็กชั่นภาพถ่ายโบราณของคุณโอ๊ค มีตั้งแต่ ภาพถ่ายด้วยเทคนิคดาแกโรไทด์ (Daguerreotype) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพยุคแรกของโลกเมื่อ 180 ปีมาแล้ว เป็นการถ่ายภาพลงแผ่นเงิน อัดซ้ำไม่ได้ ซึ่งคนที่ถ่ายรูปสมัยนั้นได้ต้องมีฐานะดี เพราะราคาแพงมาก ปัจจุบันภาพถ่ายดาแกโรไทด์ชาวต่างประเทศยังพอหาได้ เพราะเขาถ่ายภาพเยอะกว่า แต่ในเมืองไทยหาภาพถ่ายดาแกโรไทด์คนไทยไม่เจอแล้ว ที่มีอยู่คือพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วินเซอร์ที่อังกฤษ และพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยนที่อเมริกาตามลำดับ
จากเทคนิคดาแกโรไทด์ที่ใช้ในช่วงต้นทศวรรษ 1840-1850 การถ่ายภาพก็พัฒนามาใช้ฟิลม์กระจก พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 คุณโอ๊คได้นำมาให้ชมเป็นภาพไซส์ CDV อายุ 160 กว่าปีซึ่งเป็นภาพเดียวกับที่พระองค์ส่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส และมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ฉายพระรูปที่สตูดิโอในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก คาดว่าพระราชทานให้ผู้นำประเทศในยุโรป โดยมีลายพระหัตถ์ภาษาไทยและอังกฤษ ระบุวันเดือนปีที่พระราชทานให้
คุณโอ๊คเล่าถึงความยากของการสะสมภาพถ่ายโบราณว่านอกจากหายากแล้ว การเก็บรักษาก็ยากอีกด้วย ภาพที่อัดลงกระดาษอัลบูมิน ถ้าเก็บในอุณหภูมิไม่เหมาะสมจะขึ้นรา ควรต้องเก็บรักษาในซองและกระดาษกันกรด การเก็บรักษาภาพถ่ายที่ถูกต้องจริงๆ ต้องไม่ให้โดนแสง ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 40% อุณหภูมิประมาณ 18-21 องศาเซลเซียส ปัจจัยเหล่านี้เมืองไทยไม่ซัพพอร์ทเลย ต้องหาวิธีรักษาไม่ให้ภาพเหล่านี้เสื่อมสลายไปก่อนเวลาอันควร เช่นเก็บรักษาในตู้กันความชื้นเป็นต้น
สำหรับนักสะสมที่เริ่มต้นสะสมภาพถ่ายโบราณ ต้องดูที่ความแท้ทันยุค ความสมบูรณ์ แม้ภาพในลักษณะเดียวกัน รูปที่สภาพดีจะมีราคาสูงกว่า ซึ่งภาพถ่ายโบราณของไทยที่สภาพดีส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป เป็นภาพที่ส่งไปจากประเทศไทยเราเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เพราะสมัยก่อนภาพถ่ายเป็นของขวัญที่ประมุขแห่งรัฐมอบให้กันเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี อัลบั้มภาพถ่ายสยามก็ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญ ต่อมาเมื่อคนรุ่นหลังเขาไม่เก็บ ภาพถ่ายโบราณของไทยเหล่านี้ก็เลยมีโอกาสออกมาสู่ตลาด ซึ่งคุณโอ๊คก็พยายามนำกลับมารักษาไว้ในประเทศไทย
ทำหนังสือเผยแพร่คุณค่าสู่สาธารณชน
หลังจากเก็บสะสมภาพถ่ายโบราณมาพอสมควร คุณโอ๊คก็มีโอกาสทำหนังสือโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาพถ่ายหายากเหล่านี้ยังคงอยู่และเผยแพร่ให้คนอื่นมีโอกาสให้เห็น โดยได้รับคำแนะนำจากพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี อดีตประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย เล่มแรกได้แก่
Siam Days of Glory สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ซึ่งคุณโอ๊คเล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่าในปีนั้น (พ.ศ. 2553) เป็นปีครบ 100 ปีแห่งการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 5 จึงอยากทำอะไรที่เป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่าน ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านเรามีหนังสือภาพถ่ายสมัยศตวรรษที่ 19 ออกมาแล้วหลายประเทศ แต่ของไทยเรายังไม่มีหนังสือบอกเล่าเรื่องราวสมัยนั้นอย่างจริงจัง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2554 ส่วนเล่มที่สอง
“กรุงเก่าเมื่อกาลก่อน ภาพถ่าย 100 ปี พระนครศรีอยุธยา”
เนื่องจากตอนปีพ.ศ. 2554 ที่น้ำท่วมอยุธยา คุณโอ๊คจึงอยากเผยแพร่ภาพในอดีตของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน โดยนำรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือบางส่วนไปบูรณะวัด
ถัดมาคือ
“Le Siam A Fontainebleau : L’ Ambassade Du 27 Juin 1861”
จัดทำเพื่อเฉลิมฉลอง 150 ปีสัมพันธ์การทูตไทย-ฝรั่งเศส ในคราวที่รัชกาลที่ 4 ส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ในปี 1861 โดยราชทูตเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของคุณโอ๊คด้วย การทำหนังสือเล่มนี้ต้องติดต่อขอลิขสิทธิ์จากพระราชวังฟงแตนโบล ซึ่งมีภาพถ่ายและเนื้อหาน่าสนใจมาก เช่นภาพราชทูตทั้ง 27 คน ไม่มีใครเคยเห็นหน้า เพราะที่ไทยไม่ได้ถ่ายภาพไว้ แต่ฝรั่งเศสได้ถ่ายภาพไว้ทั้งหมด ภาพเครื่องมงคลราชบรรณาการ รวมถึงบทความที่ฝรั่งเศสเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยไว้
เล่มต่อมาคือ “สมุดตราสะสมของเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ ๕” ซึ่งเจ้าจอมเลียมมาจากสายสกุลบุนนาค เป็นนักสะสมตราในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยท่านตัดตรามาจากหัวจดหมายบ้าง แผ่นกระดาษที่มีตราเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการต่างๆ คุณโอ๊คแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนสนใจประวัติศาสตร์การออกแบบ สัญลักษณ์ต่างๆ โดยการออกแบบสัญลักษณ์ตราต่างๆ ที่มาจากเอกลักษณ์ของเจ้าของตรา เช่นประวัติความเป็นมาของตระกูล ปีเกิด คติพจน์ประจำตัว เป็นต้น และสำหรับคนที่สะสมของโบราณ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นประโยชน์ เพราะตราเหล่านี้มักจะประทับบนข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ถ้ารู้จักตราก็จะรู้ว่าของชิ้นนั้นเป็นของใคร
อีก 2 เล่ม ได้แก่
“สมุดภาพสยามเรเนซองส์ ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1-2”
เป็นหนังสือรวมรวมภาพถ่ายในคอลเล็กชั่น ประกอบเรื่องราวและเกร็ดประวัติศาสตร์ ทำให้อ่านง่าย 1 ภาพต่อ 1 เรื่อง และเล่มล่าสุดคือ
“สูญแผ่นดินสิ้นอำนาจ วาระสุดท้ายของแมนจูจากภาพถ่ายที่พบในสยาม”
เป็นภาพถ่ายประเทศจีนสมัยปลายราชวงศ์ชิง บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน-ญี่ปุ่น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งภาพหลายภาพไม่ปรากฏในหอจดหมายเหตุที่ประเทศจีนหรือตามเว็บไซต์ต่างๆ เขียนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน-ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19
ความน่าสนใจของการสะสมศิลปะวัตถุโบราณของคุณโอ๊ค-อรรถดา คอมันตร์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ที่
The Treasure Hunter สะสมประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะโบราณ (ตอนที่ 2)
ที่มา : SCBTV
Treasure Your Passion EP 4 : The Treasure Hunter สะสมประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะโบราณ (ตอนที่ 1)
ออกอากาศทาง SCBTV วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563