ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Drive in Vintage รถวินเทจบนเส้นทางแห่งความหลงใหล
“ซื้อรถ มีแต่ลด” อาจใช้ไม่ได้กับรถคลาสสิกวินเทจ เพราะการสะสมรถคลาสสิกบางรุ่นบางคันนั้น สามารถทำกำไรให้กับนักสะสมได้มากกว่า 300% จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันราคาของรถคลาสสิกวินเทจเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด แต่การจะมาเป็นนักสะสมรถวินเทจนั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยความรู้ด้านเทคนิคและวิศวกรรม รวมไปถึง “Passion” พบกับ คุณวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้หลงใหลในการสะสมรถคลาสสิกวินเทจ ที่มาเล่าเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นในการตามหารถแต่ะละคัน และเมื่อตามเจอแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เป็นเจ้าของ รวมถึงเคล็ดลับในการเลือกรถที่จะสะสม พร้อมเผยจุดสังเกตสำคัญที่ทำให้รถคันนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ร่วมพูดคุยโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
ความชื่นชอบรถยนต์ตั้งแต่วัยเยาว์
ในวงการสะสมรถยนต์ทั่วไปจะแบ่งประเภทรถยนต์ตามช่วงเวลาคร่าวๆ เป็น 2 ช่วง ได้แก่ ก่อนปีค.ศ. 1950 เป็นรถยนต์แอนทีค (Antique Car) และตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 เป็นต้นไป เป็นรถคลาสสิกวินเทจ เมื่อเริ่มแรกที่คุณวิทวัสสะสมรถยนต์ ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะสะสมรถคลาสสิกวินเทจ เคยคิดอยากสะสมรถแอนทีค แต่ติดเรื่องอะไหล่หายาก แล้วเมืองไทยมีรถแอนทีคค่อนข้างน้อย จึงมาสะสมรถคลาสสิกวินเทจเป็นหลัก จุดเริ่มต้นมาจากความชื่นชอบรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก คุณวิทวัสเล่าว่ามีคุณน้าไปเรียนหมอและมีครอบครัวที่ประเทศเยอรมนี คุณยายจึงไปอยู่เยอรมนีพักหนึ่งเพื่อเลี้ยงหลาน เมื่อตอนกลับมาเมืองไทยก็ได้ซื้อรถเบนซ์กลับมาหนึ่งคัน เป็นรถเบนซ์รุ่น A250 มีความพิเศษกว่ารถที่ขายในเมืองไทย คือพวงมาลัยพาวเวอร์สั่งทำพิเศษ และแอร์เป็นแบบ Molding
เมื่อเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ คุณวิทวัสก็รบเร้าขอรถยนต์จากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งท่านก็ซื้อให้แบ่งกันใช้กับพี่ชาย เป็นรถเฟี้ยต เรซซิ่ง 2 ประตู นับเป็นรถคันแรกในชีวิต แม้จะผ่านมา 40 ปีแล้ว ปัจจุบันรถคันนี้ก็ยังมีสภาพสมบูรณ์ ขณะที่ไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ได้เห็นรถสวยๆ ก็อยากซื้อ เมื่อเรียนจบได้ไปเยอรมนีหาคุณน้าเพื่อท่องเที่ยวทวีปยุโรปก่อนกลับเมืองไทย ด้วยความชื่นชอบรถสปอร์ตเป็นพิเศษ เมื่อเดินทางไปถึงอังกฤษ มีโอกาสผ่านโชว์รูมรถโลตัส รถสัญชาติอังกฤษที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ 007 ก็ได้ลองขับแต่ก็ไม่ได้ซื้อกลับเมืองไทย
Chevrolet Corvette รถสะสมคันแรกที่เป็นดั่งครู
เมื่อคุณวิทวัสเข้าทำงานที่ปตท. ก็มีโอกาสได้เห็นรถ Chevrolet Corvette ในที่จอดรถคอนโดของเพื่อนร่วมงาน เกิดความสนใจ แต่ก่อนจะติดต่อขอซื้อ ก็ได้ปรึกษาพล.ต.ท.นิยม กาญจนวัฒน์ น้าเขยของภรรยา ผู้เป็นปรมาจารย์รถยนต์คลาสสิกวินเทจในสมัยนั้น ซึ่งท่านก็แนะนำให้ซื้อ เพราะรถรุ่นนี้ในเมืองไทยมีไม่เยอะ คุณวิทวัสจึงไปเจรจาขอซื้อจากเจ้าของที่เป็นชาวต่างประเทศมาได้ แต่เนื่องจากขณะนั้นไม่มีความรู้เรื่องการสะสมรถยนต์คลาสสิกวินเทจมากนัก จึงมาทราบภายหลังว่าซื้อมาในราคาค่อนข้างสูง เพราะรถ Corvette คันนี้ เป็นแบบที่ภาษาคนสะสมรถเรียกว่า “เครื่องไม่แท้” หมายถึง เครื่องยนต์ที่มีอยู่ในรถไม่ใช่เครื่องเดิมของคันนี้ ซึ่งการสะสมรถคลาสสิกวินเทจมีหลักสำคัญว่าทุกอย่างในรถต้องเป็นของดั้งเดิม ที่เรียกว่าความเป็นออริจินัล แม้เครื่องยนต์จะเอามาจากรถรุ่นเดียวกันปีเดียวกันก็ไม่ได้ เครื่องยนต์ของคันไหนก็ต้องอยู่กับคันนั้น ประสบการณ์นี้จึงทำให้คุณวิทวัสศึกษาหาความรู้เรื่องรถยนต์คลาสสิกวินเทจอย่างจริงจัง รวมถึงการตรวจสอบเลขแซสซีและหมายเลขเครื่อง โดยรถ Corvette คันที่ได้มาเป็นรุ่นปี 1963 แต่เครื่องยนต์เป็นของ Corvette ปี1972 คุณวิทวัสเน้นย้ำว่า แม้จะเครื่องยนต์รถ Corvette เหมือนกัน มีรูปร่างคล้ายกันก็ไม่ได้ ราคาที่ซื้อมาจึงถือว่าแพง เพราะไม่ใช่รถออริจินัล
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณวิทวัสจึงตัดสินใจติดต่อเจ้าของเดิม จึงทราบว่าเคยเอารถไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถแถวพระราม 9 นำไปสู่การติดตามหาเครื่องยนต์เดิมของรถ Corvette โดยนำหมายเลขเครื่องไปตามหาเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถ พบว่าเครื่องยนต์ที่ต้องการถูกนำไปฝังดิน ขุดขึ้นมาเป็นซากเก่าขึ้นสนิม เจ้าของอู่เรียกราคาเครื่องยนต์เก่านี้ถึง 20,000 – 25,000 บาท เพราะเจ้าของอู่มีความรู้เรื่องรถคลาสสิกวินเทจ รู้ถึงความสำคัญของเครื่องยนต์ออริจินัล โดยบอกคุณวิทวัสว่า “ถ้า (คุณวิทวัส) ไม่ได้เครื่องยนต์ตัวนี้ รถยนต์ของคุณก็ไม่มีราคา” หลังจากที่ครุ่นคิดอยู่หนึ่งเดือน คุณวิทวัสก็ยอมซื้อเครื่องยนต์อันนั้น แล้วซื้ออะไหล่จากอเมริกา นำไปให้อาจารย์ที่เทคโนฯ Rebuild ขึ้นมาใหม่ คุณวิทวัสถือว่ารถ Corvette คันนี้เป็นรถครู ที่นอกจากจะให้ความรู้เรื่องการดูและตรวจสอบรถแล้ว ยังให้ประสบการณ์การหาช่างที่เชี่ยวชาญ รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของช่าง และการหาอะไหล่ของแท้มา Rebuild รถยนต์
Ferrari Dino บทพิสูจน์ Passion ในรถคลาสสิกวินเทจ
จากรถ Corvette คันแรก คุณวิทวัสก็หลงใหลและเสาะหารถคลาสสิกวินเทจมาสะสมในคอลเล็กชั่นมาจนถึงทุกวันนี้ รถอีกคันที่มีเรื่องราวน่ากล่าวถึงคือ Ferrari Dino ซึ่งที่มาของการได้รถคันนี้เหมือนเป็นพรหมลิขิต เริ่มจากการที่ญาติของคุณวิทวัสรู้ว่าคุณวิทวัสเริ่มสะสมรถยนต์คลาสสิกวินเทจ จึงเล่าให้ฟังว่าเมื่อนานมาแล้วเคยเห็นรถเฟอร์รารี่ Dino สีแดงคันหนึ่งแถวสุขุมวิท 40 คุณวิทวัสจึงพื้นที่สำรวจถนนแถวนั้น จนพบรถ Ferrari Dino คันนั้นถูกคลุมผ้าใบจอดอยู่ในที่จอดรถอพาร์ทเมนท์ในซอยสุขุมวิท 40 ซึ่งเจ้าของเป็นวิศวกรชาวฝรั่งเศส มีภรรยาเป็นคนไทย อาศัยอยู่ที่แม่ฮ่องสอนเป็นส่วนใหญ่ นานๆ ครั้งจะกลับมากรุงเทพ ในระหว่างการเจรจาขอซื้อ เจ้าของเดิมบอกคุณวิทวัสว่าตั้งแต่ซื้อรถคันนี้เข้ามาในเมืองไทย ด้วยความที่เขารักรถมากจึงเอาออกมาขับในท้องถนนไม่เกิน 3 ครั้ง แล้วก็จอดเก็บไว้เพราะกลัวมอเตอร์ไซด์เฉี่ยวชน ทั้งนี้แสดงว่าตอนที่ญาติคุณวิทวัสเห็นรถคันนี้ คือ 1 ใน 3 ครั้งที่เจ้าของนำออกมาขับ ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยมาก “เหมือนเป็น Destiny ว่าของที่ใช่ก็จะเป็นของเรา” คุณวิทวัสกล่าว
เมื่อติดต่อขอซื้อในครั้งแรก เจ้าของบอกราคาค่อนข้างสูง แต่อีกหนึ่งปีต่อมาเจ้าของก็ติดต่อกลับมาเสนอราคาที่ต่ำลงกว่าเดิม เพราะตั้งใจจะขายเนื่องจากภรรยาต้องการนำเงินไปสร้างบ้านที่แม่ฮ่องสอน สุดท้ายมาตกลงกันได้ในครั้งที่สาม โดยเจ้าของเดิมบอกว่าที่จริงแล้ว มีคนมาขอซื้อในราคาที่เสนอคุณวิทวัสในครั้งแรก เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ 20 ปี แต่เขาไม่ขายให้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะดูแลรถได้ตลอดรอดฝั่ง กลัวว่าพอเบื่อก็จะทอดทิ้งรถ การที่เขา ยอมขายให้คุณวิทวัสในราคาที่ต่ำกว่า เพราะคุยกันแล้วรู้ว่าคุณวิทวัสเป็นคนรักรถมากเหมือนกัน และมีความรู้เรื่องรถยนต์ ซึ่งจะสามารถดูแล Ferrari Dino คันนี้ได้เป็นอย่างดี
หลักการตรวจสอบและประเมินราคารถ
คุณวิทวัสกล่าวย้ำหลักการตรวจสอบรถคือ รถทุกคันต้องมีแผ่นเพลทคลัสซีที่ระบุเลขแซสซีและเครื่องยนต์ หายไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นสิ่งที่บอกประวัติทั้งหมดของรถ และสำคัญคือส่วนประกอบทุกอย่างต้องอยู่ครบ อะไหล่ของแท้จะต้องสั่งจากต่างประเทศ โดยสมัยก่อนที่การสื่อสารยังไม่ทันสมัย ก็ต้องใช้วิธีส่งแฟ็กซ์กัน แต่ในปัจจุบันการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถคลาสสิกวินเทจทำได้ง่ายด้วยอินเทอร์เน็ต จึงมีคนนิยมสะสมรถคลาสสิกวินเทจเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคารถดีดตัวสูงขึ้น เพราะซัพพลายน้อย ดีมานด์เยอะ บางทีคนก็ตัดสินใจรีบซื้อในราคาที่ยังไม่ทันได้ต่อรองเพราะกลัวจะโดนซื้อตัดหน้า ต่างจากสมัยก่อนที่ไม่ค่อยมีใครเล่น นักสะสมจึงมีโอกาสค่อยๆ ศึกษาตรวจสอบตัวรถ และต่อรองราคาอย่างสมเหตุสมผล
ในส่วนทิปส์สำหรับนักสะสมรถรุ่นใหม่ คุณวิทวัสบอกว่าถ้าเป็นรถที่ยังมีอยู่จำนวนมากในท้องตลาด ก็อย่าเพิ่งรีบร้อน ให้ค่อยๆ ศึกษาตรวจสอบความออริจินัล สภาพรถ ตำหนิ เลขไมล์ ฯลฯ จะได้รู้ราคาที่เหมาะสม ถ้าเป็นรถรุ่นใหม่ๆ จะมีราคามาตรฐานในเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นรุ่นที่เก่ามากๆ มีน้อยแค่ 1-2 คันในประเทศไทยจะไม่มีราคามาตรฐาน การประเมินราคาต้องมาจากการศึกษาตัวรถยนต์เท่านั้น จึงต้องหมั่นดูรถบ่อยๆ เพื่อเก็บสะสมความรู้ความเชี่ยวชาญ
มากกว่า “ราคา” คือคุณค่าทาง “จิตใจ”
แม้ว่าในแง่ของการลงทุนที่บริษัท Auction ให้ข้อมูลว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคารถคลาสสิกวินเทจเพิ่มขึ้นมา 5-6 เท่าของราคาเดิม แต่สำหรับคุณวิทวัสแล้ว ด้วยสตอรี่เรื่องราวของรถยนต์แต่ละรุ่นและการที่กว่าจะได้รถคันนั้นๆ มาได้ ทำให้การสะสมรถยนต์มีคุณค่าทางจิตใจอย่างประเมินไม่ได้ เป็นการสะสมด้วยความรัก ไม่เคยคิดเป็นเรื่องธุรกิจการทำกำไรในลักษณะการเป็น Investor และที่ผ่านมาไม่เคยขายแม้แต่คันเดียว อนาคตมีแผนจะนำรถเหล่านี้มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้กับคนรักรถคลาสสิกวินเทจต่อไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงสิ่งสำคัญของ Passion Investment ซึ่งก็คือคุณค่าทางจิตใจที่มีต่อเจ้าของทรัพย์สินนั่นเอง
ที่มา : SCBTV Treasure Your Passion EP 3 : Drive in Vintage รถวินเทจบนเส้นทางแห่งความหลงใหลออกอากาศทาง SCBTV วันที่ 27 ต.ค. 2563