เปิดเทคนิคลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีแบบสุดปัง

ผู้ลงทุนท่านใดเคยมีปัญหาแบบนี้บ้างครับ ท่านมีความต้องการลงทุนกองทุนรวมลดหย่อนภาษี มีประเภทกองทุนที่ต้องการในใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ท่านไม่แน่ใจ คือ ลงทุนตอนนี้ดีหรือไม่ จะได้ราคาที่ถูกแล้วหรือยัง หรือควรจะรอไปก่อน เพราะยังไม่ใช่ราคาที่ดีที่สุด


หากท่านกำลังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็แปลว่าท่านกำลังใช้กลยุทธ์จับจังหวะตลาด (market timing) ซึ่งเป็นการประเมินทิศทางตลาด เพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ให้ได้ในราคาต่ำที่สุด และขายเมื่อราคาอยู่ในจุดสูงสุด แต่หากวิเคราะห์ไม่แม่นยำ การมัวรอจับจังหวะเช่นนี้ อาจกลายเป็นพลาดโอกาสที่ดีได้ อีกทั้ง การลงทุนในกองทุนรวมลดหย่อนภาษี ล้วนมีเงื่อนไขการถือครองค่อนข้างนาน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน และถือครองจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน และ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 8 ปี นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งโดยปกติ ยิ่งระยะเวลาลงทุนนาน ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ผลตอบแทนจะเป็นบวก  


ขณะเดียวกัน หากท่านต้องการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีภาษีนี้ ก็ต้องซื้อกองทุนรวมลดหย่อนภาษีภายในปีนี้ ซึ่งถ้าท่านจับจังหวะมาโดยตลอด แล้วยังไม่เจอเวลาที่เหมาะสมเสียที อาจกลายเป็นว่า ท่านรอจนวันทำการสุดท้ายของปีแล้วจึงลงทุน โดยราคาที่ได้ในวันทำการสุดท้ายก็อาจไม่ใช่ราคาที่ดีที่สุดอยู่ดี ที่สำคัญ มีโอกาสที่ท่านจะลงทุนไม่ทันได้ กรณีที่ท่านจำวันทำการสุดท้ายผิด เช่น ปี 2566 ที่วันทำการสุดท้ายที่ซื้อขายกองทุนได้ คือวันที่ 28 ธ.ค. 2566 (เนื่องจากวันที่ 29 ธ.ค. 2566 เป็นวันหยุดทำการของสถาบันการเงิน) หรือไปลงทุนเลยเวลาทำการซื้อขายกองทุนที่มีผลเป็นรายการในวันทำการนั้น เป็นต้น  

556228153

ฉะนั้น เมื่อท่านต้องการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว ขอแนะนำ 3 กลยุทธ์ง่ายๆ ให้เลือกใช้ได้ตามความสะดวก ดังนี้


1. ลงทุนสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด (Dollar Cost Average : DCA)
- กรณีที่ท่านมองว่า  ไม่สามารถจับจังหวะตลาดได้อย่างแม่นยำ ต้องการตัดการใช้อารมณ์ตัดสินใจลงทุน กังวลว่าจะลืมลงทุน และต้องการฝึกวินัยการลงทุนให้ตัวเอง วิธี Dollar Cost Average (DCA) อาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ เนื่องจากเป็นการตั้งเงื่อนไขไว้ล่วงหน้าว่าจะลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด เช่น ทุกวันที่เงินเดือนออก ทุกวันที่ที่เป็นวันเกิด หรือ ทุกวันแรกของเดือน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันท่านสามารถตั้งเงื่อนไขลงทุนแบบ DCA ไว้ล่วงหน้าด้วยตัวเองได้ง่ายๆ บนแอปพลิเคชันธนาคาร วิธีนี้ จะทำให้ท่านได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์หลายระดับราคา จากหลากหลายช่วงเวลา ได้กระจายความเสี่ยงด้านราคาโดยปริยาย โดยเมื่อนำต้นทุนทั้งหมดมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย ก็อาจได้ต้นทุนเฉลี่ยสินทรัพย์ที่ไม่สูงเกินไป

           

2. ทยอยเข้าไปลงทุน เมื่อเห็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) หรือมูลค่าหน่วยลงทุน ปรับลดลง – วิธีนี้คล้ายการจับจังหวะตลาด แต่แทนที่จะรอจังหวะที่ดีที่สุดเพียงครั้งเดียว ก็ทยอยเข้าหลายๆ ครั้ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ลงทุนควรทราบคือ NAV ที่ท่านเห็นในวันที่ท่านทำการซื้อหน่วยลงทุน จะไม่ใช่ราคาที่ท่านซื้อ เพราะ NAV ที่เห็นคือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่สะท้อนราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) ซึ่ง NAV วันนี้ สะท้อนราคาในอดีต จะเป็นของวันก่อนหน้าอย่างน้อย 1 วัน กรณีกองทุนต่างประเทศ ข้อมูล NAV อาจเป็นข้อมูลของ 3-5 วันทำการก่อนหน้าได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องวันและเวลาทำการที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม การทยอยเข้าซื้อ ก็ทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยหลาย ช่วงเวลาเช่นกัน


3. ใช้ผสมผสานทั้งวิธี DCA และทยอยลงทุนเพิ่มเมื่อ NAV ลดลง
- เป็นการผสมผสานการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ บวกกับการจับจังหวะตลาด ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการฝึกวินัยการลงทุน พร้อมกับการได้ลงทุนต่อเนื่องในกองทุนลดหย่อนภาษี แต่ก็ยังได้จับจังหวะตลาดในช่วงเวลาที่มองว่า ราคา NAV น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ อาจทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยรวมที่ต่ำลงกว่า DCA เพียงอย่างเดียวก็ได้ กรณีที่จับจังหวะตลาดถูก  


ผมมองว่า ทั้ง 3 วิธีนี้ใช้กับกองทุน RMF กองทุน SSF และกองทุน Thai ESG ได้ทั้งสิ้น โดยกรณี SSF และ Thai ESG ซึ่งไม่มีเงื่อนไขต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ทั้งยังนับช่วงเวลาครบกำหนดที่ขายหน่วยลงทุนได้แบบแยกรายก้อนที่ลงทุนในแต่ละครั้ง อาจนำวิธี DCA มาใช้ แล้วทยอยขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดในทุกเดือนตามกำหนดเวลาการครบเงื่อนไข ก็ได้ ส่วนกรณีที่เลือกใช้วิธีทยอยลงทุนเมื่อเห็น NAV ลดลง แนะนำว่า ควรจะบันทึกวันที่ลงทุนในแต่ละครั้งเอาไว้ให้ดี เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขในช่วงขายคืน


ส่วนกองทุน RMF มีเงื่อนไขลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือครองจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หากท่านยังมีระยะเวลาลงทุนเหลืออีกนาน อาจใช้วิธี DCA หรือทยอยลงทุนเมื่อเห็น NAV ลดลง หรือใช้ 2 วิธีนี้ผสมกันก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะลืมว่าเงินครบกำหนดขายคืนแบบไม่ผิดเงื่อนไขได้เมื่อไหร่ เพราะเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจน และการขายคืน สามารถขายคืนทุกๆ ก้อนพร้อมกันในครั้งเดียวได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไข


เมื่อเลือกวิธีการที่จะใช้ได้แล้ว ก็อย่ารอช้า ลงทุนกองทุนรวมลดหย่อนภาษีกันได้เลย แต่อย่าลืมคำนวณด้วยว่าท่านมีสิทธิลงทุนในกองทุนรวมลดหย่อนภาษีแต่ละประเภทเท่าไหร่ กรณี RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท กองทุน SSF  ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยทั้งการซื้อ RMF และ SSF เมื่อรวมกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ  จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย ส่วน กองทุน Thai ESG ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และไม่เกิน 100,000 บาท     


หากยังไม่ได้คำนวณภาษี รวมทั้งสิทธิลดหย่อนต่างๆ ท่านสามารถใช้บริการ EASY Tax Planning Advisory ตัวช่วยคำนวณภาษีออนไลน์ผ่าน SCB Connect ได้ ซึ่งบริการนี้จะช่วยคำนวณภาษีเบื้องต้นง่ายๆ พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีให้ด้วย


สุดท้ายนี้ ขอย้ำครับว่า ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีแล้วค่อยลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี แต่ลงทุนได้ทันทีครับ 


คำเตือน

·  กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้

· เงินลงทุนในกองทุน Thai ESG นำไปลดหย่อนภาษีได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ทั้งนี้ เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามกฎหมายและประกาศที่กำหนดโดยกรมสรรพากร

· ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จาก website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777


บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA  SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


จัดทำ ณ วันที่ 6 ธ.ค. 2566