ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ลงทุน RMF-SSF ทั้งที มีนโยบายให้เลือกเยอะมั้ย
ช่วงใกล้สิ้นปี มักจะเป็นเวลาที่นักลงทุนซึ่งมีเงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มองหาช่องทางการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็น 2 ทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ได้ครอบคลุมระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ ตั้งแต่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง โดยสามารถแบ่งกลุ่มนโยบายแบบกว้างๆ ได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ นโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนแบบผสม ลงทุนในหุ้น และลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกได้ว่า จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในกองทุน RMF-SSF กองทุนใดกองทุนหนึ่งไปเลย หรือแบ่งเงินลงทุนในหลายกองทุน เพื่อให้พอร์ตลงทุนระยะยาวตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ตรงใจมากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนใจจากกองทุน RMF-SSF ที่เคยลงทุนอยู่ ไปลงทุนในกองทุน RMF-SSF ใหม่ๆ ที่มีนโยบายตรงใจก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในกรณีเปลี่ยนใจแบบใช้เงินก้อนใหม่ลงทุนเพิ่มในกองทุนใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนไว้ ก็เลือกได้ตามสบายว่าจะลงทุนใน RMF หรือ SSF แต่ถ้าคิดจะเปลี่ยนใจแบบสับเปลี่ยนเงินลงทุนจากกองทุนเดิมไปยังกองทุนใหม่ ต้องไม่ลืมว่า สับเปลี่ยนได้เฉพาะกองทุนรวมประเภทเดียวกันเท่านั้น คือ RMF สับเปลี่ยนไป RMF ส่วน SSF ก็สับเปลี่ยนไป SSF เท่านั้น ไม่สามารถสับเปลี่ยนข้ามประเภทได้
สำหรับ นโยบายการลงทุนกองทุน RMF-SSF 4 ประเภทที่กล่าวไว้นั้น จะตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนแตกต่างกันไป โดยนโยบายแรก ที่ลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ เช่น อาจจะต้องการลงทุน RMF ต่อเนื่องจากที่ลงทุนไปแล้วช่วงที่ผ่านมา โดยที่มีระยะเวลาลงทุนเหลือไม่มาก ใกล้เกษียณอายุแล้ว หรือลงทุนใน SSF ได้นาน 10 ปี แต่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้น ขอเน้นรักษามูลค่าเงินเป็นหลัก นโยบายกลุ่มนี้ก็จะเหมาะสมที่สุด
เพราะตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ หุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือก ขณะเดียวกันยังเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้น ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยของโลกยังค้างอยู่ในระดับสูง ซึ่ง SCB CIO คาดการณ์ว่า กว่าที่เราจะเริ่มเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งเป็นธนาคารกลางหลักที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของทั่วโลก เริ่มปรับลดดอกเบี้ย ก็น่าจะเป็นในช่วงไตรมาส 3/2567 ไปแล้ว
นโยบายถัดมาคือ กองทุนผสม ซึ่งลงทุนสินทรัพย์หลากหลายประเภทในกองทุนเดียว กองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง คือ เสี่ยงกว่ากองทุนตราสารหนี้ แต่ก็ยังน้อยกว่ากองทุนหุ้น โดยผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่จัดพอร์ต ผสมผสานสินทรัพย์ต่างๆ ในกองทุนให้ ส่วนจะมีสินทรัพย์ประเภทใดในสัดส่วนเท่าใด ขึ้นอยู่กับนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งกองทุนอาจจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดสัดส่วนไม่ต่ำกว่า หรือไม่เกินเท่าใด หรืออาจจะกำหนดแบบยืดหยุ่นลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ได้ตั้งแต่ 0-100% ก็ได้
จุดเด่นของกองทุนผสม คือ ทำให้นักลงทุนสามารถจัดพอร์ตลงทุนแบบเบ็ดเสร็จผ่านการลงทุนในกองทุนเดียวได้เลย โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เพียงแต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่ชอบจัดพอร์ตลงทุนเอง กองทุนผสมก็อาจจะไม่ตรงโจทย์เท่าไหร่
นโยบายกลุ่มที่ 3 คือ กองทุนหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง จะมีแบ่งนโยบายปลีกย่อยได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1)กองทุนที่ลงทุนในหุ้นรายประเทศ หรือภูมิภาค หรือทั่วโลก เช่น ลงทุนในหุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ หุ้นจีน เป็นต้น กับ 2) กองทุนที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธีมเฉพาะด้าน โดยกองทุนลักษณะนี้ จะเน้นคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับธีม ไม่ได้เน้นจำกัดวงอยู่ในประเทศใด หรือภูมิภาคใดเป็นหลัก เช่น ธีมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นกลุ่มสุขภาพ หุ้นที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า หุ้นที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน และหุ้นที่เกี่ยวกับเมกะเทรนด์โลก เป็นต้น
ส่วนนโยบายกลุ่มสุดท้ายคือ กองทุนสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกองทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ โดยสินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ น้ำมัน ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ มักจะมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนโดยรวม เนื่องจากสินทรัพย์ทางเลือก มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้สัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับหุ้นหรือตราสารหนี้ แต่มีปัจจัยเฉพาะตัวมาเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนช่วยประคับประคอง หรืออาจเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนได้ ในช่วงที่มีสถานการณ์ส่งผลกระทบต่อมูลค่าตราสารหนี้และหุ้น
ในส่วนของ SCB เราก็นำเสนอขายกองทุน RMF-SSF ค่อนข้างครอบคลุมตั้งแต่นโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงค่อนข้างต่ำไปจนถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกได้ตามโจทย์การลงทุนของตนเอง
ทั้งนี้ มีข้อควรรู้ที่ต้องย้ำเตือนนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ คือ กองทุน RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี รวมทั้งต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องถือครองมาอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน กำหนดให้ลงทุนเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ส่วน SSF ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนเมื่อไหร่ ก็ต้องถือครองต่อไปจนครบ 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน โดยลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ขณะที่ค่าลดหย่อนจาก RMF เมื่อนำมารวมกับ SSF รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย
เมื่อทราบแล้วว่า นโยบายของ RMF-SSF นั้นมีหลากหลาย เข้าใจความต้องการของตนเองว่า ต้องการลงทุนใน RMF เพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ หรือลงทุน SSF เพื่อเป้าหมายการใช้เงินในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งรู้ระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ คราวนี้ท่านก็สามารถเลือกกองทุน RMF-SSF ที่มีนโยบายตรงกับความต้องการได้แล้ว
ผมแนะนำว่า ท่านไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันสุดท้ายของปีแล้วจึงลงทุน RMF-SSF แต่ควรทยอยลงทุนไปก่อนระหว่างปี เพื่อไม่ให้เสียโอกาสจากการลืมลงทุน รวมทั้งอาจจะได้ลงทุนด้วยมูลค่าที่น่าสนใจมากกว่าด้วย โดยอาจใช้วิธี Dollar Cost Average (DCA) หรือลงทุนสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด เช่น ลงทุนทุกเดือน ในวันที่เงินเดือนออก หรือวันที่ที่เป็นวันเกิด ก็ได้ ทั้ง RMF-SSF
การลงทุนด้วยวิธี DCA จะช่วยสร้างวินัยการลงทุน ทำให้ได้ออมก่อนใช้ ทั้งยังทำให้ไม่ต้องไปกังวลกับสภาวะตลาดที่ผันผวน ไม่ต้องกลัวว่าราคาสินทรัพย์จะขึ้นหรือจะลง เพราะกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะลงทุนในวันใด โดยไม่สนใจว่าภาวะตลาดวันนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจาก Market Timing หรือการเลือกช่วงเวลาการลงทุนได้ ซึ่งการที่เราลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ในหลายๆ ช่วงเวลา ทำให้เราได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายระดับราคา ซึ่งเมื่อนำต้นทุนทั้งหมดมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย ก็อาจจะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ไม่สูงมาก
ส่วนท่านใดที่ยังไม่แน่ใจว่า ควรลงทุนใน RMF-SSF จำนวนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกินสิทธิลดหย่อนที่มี ก็สามารถใช้บริการ EASY Tax Planning Advisory ตัวช่วยคำนวณภาษีออนไลน์ผ่าน SCB Connect ได้เลย ซึ่งก็จะช่วยคำนวณภาษีเบื้องต้นได้ง่ายๆ พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีให้ด้วย
คำเตือน
· การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน RMF/SSF กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
· การลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน รวมทั้งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงมีความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน
· เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
· สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
บทความโดยคุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จัดทำ ณ วันที่ 13 พ.ย. 2566