พลิกโอกาสการลงทุนใน Property Fund & REIT ท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่

ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์กลุ่ม Property Fund และ REIT ที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 2 และ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและธุรกิจรีเทล ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่ 4 จะเริ่มทยอยปรับตัวขึ้น แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของในบางหลักทรัพย์ ซึ่งยังไม่กลับไปถึงระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19


สำหรับการแพร่ระบาดในระลอกสามนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกในระยะ 1-3 เดือนนี้ โดยนักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่าได้รับผลกระทบเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ราคาตลาดปรับตัวลดลงและยังไม่กลับสู่ระดับราคาเดิม ผู้ลงทุนอาจพิจารณาจังหวะในการเข้าลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากการลงทุนใน Property Fund และ REIT ควรจะเป็นการลงทุนระยะกลางถึงยาว ที่ใช้ระยะเวลาเพียงพอที่จะรับผลกระทบของการผลตอบแทนที่ปรับขึ้นและลดลงระหว่างทางได้ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาความสำเร็จในการจัดการวัคซีนในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นกลับของเศรษฐกิจในประเทศ


จากสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้ 2 กลุ่มหลักๆ มีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มโรงไฟฟ้า และโทรคมนาคม ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ และมีความผันผวนของรายได้ตามภาวะเศรษฐกิจต่ำ อีกทั้งมีสัญญาเช่าระยะยาวกับผู้เช่ารายใหญ่ ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน และมีสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดสูง และ กลุ่มกองทุนนิคมอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มคลังสินค้า หรือโรงงานให้เช่า ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากโควิด-19

โดยในระยะยาวยังได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ และการปรับระบบซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนแปลงฐานการผลิต เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานการผลิตที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป

property-fund-reit-01

ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังต้องระมัดระวังในการลงทุน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิด-19 เช่น กลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอาคารสำนักงาน เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในภาคการท่องเที่ยวนั้นก็คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีนในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศอาจจะกลับมาได้ช้า ในส่วนของกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มอาคารสำนักงานนั้น ในระยะยาวอาจถูกดิสรัปต์จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ทั้งการบริโภคออนไลน์ และการ Work from Home


ในปัจจุบันระดับราคาของ Property Fund และ REIT ในประเทศไทยนั้นได้ปรับตัวลดลงมาก โดยคาดการณ์ได้จากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 5% ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น


อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของ REIT ในประเทศไทยโดยรวมแล้วมีลักษณะเป็น Traditional REIT หรือ Old Economy ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปใน REIT ต่างประเทศที่มีความหลากหลาย มีความเป็น New Economy เช่น Data Centre, Logistics Centre และมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนใน REIT ที่มีผลประกอบการที่ดี และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า


สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนที่ลงทุนใน Property และ REIT นั้น บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้นำเสนอกองทุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCB Property and Infrastructure Flexible Fund: SCBPIN) มีนโยบายลงทุนในหน่วย Property/Infra ที่จดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันกองทุนมีการลงทุนใน REIT ไทยและสิงคโปร์เป็นหลัก ปัจจุบันเน้นลงทุนในกลุ่ม Reopening ทั้งกลุ่ม Retail กลุ่มออฟฟิศ และกลุ่ม Hospitality


นอกจากนี้ กองทุนยังมีการกระจายลงทุนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม Business Park และกลุ่ม Data Centre ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากโควิด-19 และมีโอกาสการเติบโตในอนาคตไปกับเมกะเทรนด์ของโลกด้วย นอกจากนี้ กองทุน SCBPIN ยังเปิดให้ลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) อีกด้วย


ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน SCBAM Fund Click ได้ที่นี่


บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth