หุ้น Growth ยอดนิยมให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น Value เสมอไปจริงหรือไม่?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาและในช่วงต้นปีนี้ ตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องตามภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย รวมถึงการทำ QE ของธนาคารกลางหลักทั่วโลกยังช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดการเงินโลก หุ้นเติบโต หรือ Growth Stock เช่น หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง FAAMG (Facebook, Amazon, Apple, Microsoft, Google) และหุ้นในกลุ่ม Thematic เช่น หุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางและเล็ก ตัวอย่างเช่น กอง ETF ยอดนิยมของ ARK Invest เช่น ARKK, ARKW, ARKG, ARKQ และ ARKF ล้วนให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาดแบบขาดลอย (แม้มาพร้อมกับความผันผวนที่สูงมากเช่นกัน) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสไตล์หุ้นอื่น


จึงเกิดคำถามสำคัญที่ว่า รูปแบบการลงทุนหุ้นคุณค่า หรือ Value Stock ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปใช่หรือไม่ และแนวคิดในการซื้อหุ้นที่อาจดูไม่ทันสมัย โดยเฉพาะหุ้น Value ในกลุ่ม Energy, Financials, Industrials และ Materials นั้นไม่น่าดึงดูดอีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ ในเมื่อหุ้น Growth ที่ร้อนแรงนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดูดีกว่า ดังนั้นหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ดี หุ้นแบบเดียวที่นักลงทุนต้องลงทุนคือหุ้น Growth เช่น หุ้นกลุ่ม Technology, IT และ Communication Services รวมถึง Consumer Discretionary ใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ แต่ผมอยากให้นักลงทุนมองภาพอย่างรอบคอบมากขึ้น แต่อย่าเพิ่งปิดทางเลือกการลงทุน และลองพิจารณาข้อมูลดังต่อไปนี้ก่อนครับ


ในปี 2020 หากเราพิจารณากลุ่มหุ้นเติบโต (ใช้ MSCI USA Growth Index เป็นตัวแทน Benchmark Index) นั้นสามารถสร้างผลตอบแทนทั้งปีได้ถึง 43% ในขณะที่หุ้นคุณค่า (ใช้ MSCI USA Value Index เป็นตัวแทน) สามารถทำผลตอบแทนได้เพียง 1% (รูปที่ 1) ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงเห็นชัดแล้วว่าสไตล์หุ้น Value ดูจะไม่สามารถเทียบชั้นกับหุ้น Growth ได้เลย


อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาค่ามัธยฐานหรือบริษัทที่อยู่ตรงกลาง เมื่อนำบริษัทที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดมาเรียงกัน (Median Company) ในดัชนี MSCI USA Growth นั้น แท้จริงแล้ว Median Company กลับสร้างผลตอบแทนได้เพียง 22% ซึ่งต่างกับผลตอบแทนภาพใหญ่ของดัชนีที่ 43% ราวครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจาก Benchmark Index ของหุ้น Growth นั้นถูกครอบงำผลตอบแทนโดยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท เช่น กลุ่ม FAAMG ที่มี Market Cap ถึงราว 22% ของ S&P Index

growth-shares-return-better-than-value-shares-01

ดังนั้นภาพที่นักลงทุนเห็นจึงเปรียบเสมือนเหรียญด้านเดียว และเป็นข้อสังเกตว่านักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะให้ราคากับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ มากเกินไป ในอีกด้าน จากข้อมูลของ Refinitiv และ Schroders บ่งชี้ว่ามีถึง 18% ของบริษัทในดัชนี MSCI USA Value ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 22% ในปีที่แล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตสารเคมีและแบตเตอรี่ชั้นนำของสหรัฐฯ Albemarle และบริษัทเหมืองแร่ Freeport-McMoran ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นราว 100% ทั้งคู่ บริษัทขนส่งสินค้า FedEx ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นราว 75% และบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรและการก่อสร้าง Deere ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นราว 60% จะเห็นได้ว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่แพ้กับหุ้น Growth หรือหุ้นเทคโนโลยีเลย ในขณะที่ความเสี่ยงและความผันผวนในตัวหุ้นก็ต่ำกว่า เนื่องจากนักลงทุนอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก


แม้สิ่งที่ผมกำลังอธิบายไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าหุ้น Growth ยังมีแนวโน้ม Outperform หุ้น Value ได้อยู่ในระยะยาวจากการที่เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตโควิด-19 อย่างชัดเจน แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีหุ้น Value อีกจำนวนมากที่มีผลการดำเนินงานที่ดีมากไม่แพ้หุ้น Growth เช่นกัน
ดังนั้นผมจึงอยากนำเสนอและให้แง่คิดนักลงทุนว่า ไม่เพียงเฉพาะหุ้น Growth เท่านั้นที่สามารถให้ผลตอบแทนสูง ในอีกด้าน นักลงทุนควรเริ่มพึงระวังหุ้น Growth และหุ้นเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ราคามักจะวิ่งนำหน้ากำไรไปมากด้วยความคาดหวังที่สูงมากของตลาด


ตัวอย่างเช่น หุ้น Facebook ที่มี Actual Price/Earnings Ratio หรือ PE สูงถึง 26 เท่าในปี 2020 ในขณะที่หุ้น Apple, Amazon และ Microsoft มี Actual PE ที่ 40 เท่า, 78 เท่า และ 42 เท่า ตามลำดับ และหุ้นยอดนิยมอย่าง Tesla นั้นก็มี PE สูงถึง 1,200 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลข PE ที่มี Margin of Safety ต่ำมากสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ และเสี่ยงต่อการโดนเทขายทำกำไรได้ทุกเมื่อ


รูปที่ 1: แม้ในภาพรวมหุ้น Growth ยังมีแนวโน้ม Outperform หุ้น Value ก็ตาม แต่หากพิจารณาผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐฯ สไตล์ Growth และ Value ในปี 2020 จะพบว่า Median Company Return ของหุ้น US Growth ให้ผลตอบแทนเพียง 22% ไม่ได้มากเท่า Benchmark Index Return ที่ 43% ซึ่งไม่ต่างจากหุ้น Value ดีๆ ที่ความผันผวนต่ำกว่ามากนัก

                                                                            อ้างอิง: Schroders และ Refinitiv

 

สำหรับแนวโน้มของหุ้น Growth และหุ้น Value ในปี 2021 ตั้งแต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เราเห็น US Bond Yields เริ่มปรับตัวสูงขึ้น นำโดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่กลับมาสู่ระดับ 1.2-1.3% เริ่มสร้างความกังวลต่อการปรับฐานของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้าอาจเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว US Bond Yields ที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นมากอย่างที่คิด เนื่องจากถ้า Bond Yields ที่เพิ่มขึ้นมาจาก Growth Expectation ที่ดีขึ้น ผมจึงมีมุมมองว่าตลาดจะยังสามารถปรับขึ้นต่อได้ (แต่หากมาจาก Hawkish Stance และการเริ่มส่งสัญญาณลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed, ECB และ BOJ จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นได้ทันที) อีกทั้งผมยังมีมุมมองว่า แม้หุ้น Growth ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ต่อเนื่องจากความแข็งแกร่งรายบริษัท ทั้งยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์มากขึ้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 แต่หุ้น Value ก็มักจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มากในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและวงจรธุรกิจที่อยู่ในช่วง Early Expansion เช่นกัน ทั้งยังได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของ Bond Yields อีกด้วย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มการเงินและธนาคารที่ Net Interest Margin (NIM) จะทยอยดีขึ้นเมื่อเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชันขึ้น เป็นต้น ดังนั้นในมุมมองการทำ Asset Allocation นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เยอะอยู่แล้วจึงควรพิจารณาหุ้นในภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากหุ้นสหรัฐฯ และอาศัยโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจในการเข้าลงทุนหุ้น Value บ้าง เช่น หุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น รวมถึงหุ้นในภูมิภาค Emerging Asia เนื่องจากหุ้นในภูมิภาคเหล่านี้มีสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Value รวมถึงหุ้นวัฏจักร (Cyclical) เป็นสัดส่วนที่มากกว่าหุ้นสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yields ในระยะต่อไป


หากนักลงทุนติดตามข่าวสารการลงทุนของกอง ETF ยอดนิยม เช่น ARK Invest (ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะการลงทุนแบบ Very High Conviction บนหุ้น Mid-Small US Growth) จะพบว่าเมื่อเร็วๆ นี้เริ่มมีข่าวว่ากองทุนกำลังเผชิญกับปัญหาเงินไหลเข้ามากเกินไป ทำให้ ARK เริ่มถือหุ้นกระจุกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้นมากกว่า 10%) ราว 25 บริษัท ในขณะที่ ETF Assets Under Management ของ ARK เมื่อสิ้นปี 2020 ที่ยังต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าเงินลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกกำลังเป็นปัจจัยผลักดันราคาหุ้นและสินทรัพย์ของกองทุนให้ราคาขึ้นเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปพอสมควรแล้ว


ดังนั้น หนทางในการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดีที่สุดคือการที่นักลงทุนกระจายการลงทุนหุ้นออกไปให้หลากหลาย เพื่อรับมือกับความผันผวน และพิจารณาหุ้นนอกกระแส เช่น หุ้น Value ไว้ติดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวลงบ้างครับ


บทความโดย ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Investment Strategy, Research and Asset Allocation, Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มา : The Standard Wealth