เปิดโลกการลงทุนใน Startup

บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร


ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ขยายวงกว้างขวางมากขึ้น เรื่องการลงทุนใน Startup ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษา บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักการลงทุนใน Startup กัน

ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนใน Startup เราควรมาทำความรู้จักประเภทนักลงทุนใน Startup กัน ได้แก่

  1. Angel Investor คือ นักลงทุนอิสระที่มาลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้กับ Startup ในระยะเริ่มต้น เรียกว่าเป็นการ Seed เงินลงทุนให้ Startup ด้วยเงินทุนของนักลงทุนเอง ซึ่งการที่เราเติมคำว่า Angel เข้าไปหน้าคำว่านักลงทุนนั้น ก็เพื่อจะบอกว่า นักลงทุนประเภทนี้ เป็น “เทพบุตร เทพธิดาของชาว Startup” นั่นเอง

    ส่วนใหญ่ Angel Investor จะเป็นบุคคลทั่วไปที่ใช้เงินทุนของตนเอง และมีทุนไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงิน หรือ Venture Capital

  2. Venture Capital หรือเรียกย่อๆ ว่า VC คือ ธุรกิจการร่วมลงทุน เป็นการนำเงินลงทุนเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัท เปรียบเสมือนการอยากจะเปิดบริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่เงินทุนไม่เพียงพอ จึงต้องการระดมทุน จากเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือ นักลงทุนท่านอื่น ซึ่งเจ้าของเงินทุนเหล่านี้จะได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทด้วย และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทมีกำไรก็จะทำการแบ่งตามสัดส่วนของการถือหุ้น

    Venture Capital เป็น Private Equity Capital (การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์)ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นการลงทุนในกิจการที่เกิดใหม่และอยู่ในช่วงของการเติบโต (และอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์) โดยทั่วไปนั้น การลงทุนจะอยู่ในรูปแบบของการซื้อหุ้นของกิจการดังกล่าวด้วยเงินสด ดังนั้นการลงทุนในลักษณะที่เป็น Venture Capital จึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

    นักลงทุนที่เป็น VC ไม่ได้ต้องการถือหุ้นของบริษัทเราไปตลอด ส่วนใหญ่เมื่อลงทุนไปแล้วประมาณ 3 - 5 ปีและนานสุดไม่เกิน 10 ปี ก็จะเริ่มถอนตัวออกจากการถือหุ้นของบริษัท โดยความคาดหวังของ VC คือต้องการให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ และจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ 

นอกจากนี้เราต้องรู้จักกับ 4 รอบสำคัญของการลงทุนใน Startup คือ

  1. Seed Funding  วิธีการหาเงินของ Startup ในขั้นตอนแรกนี้ คือการที่มีไอเดียจะทำโครงการสักโครงการหนึ่ง โดยเงินทุนก้อนแรกที่คนกลุ่มนี้ได้มาส่วนใหญ่มาจากคนในครอบครัว หรือเงินรางวัลจากการส่งไอเดียเข้าประกวดจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งได้มาจาก Angel Investor หรือ Venture Capital เงินที่ใช้ในช่วงนี้จะยังไม่มากนัก และนำไปใช้เพื่อทำสินค้าทดลองในตลาดเล็กๆ หรือเริ่มฟอร์มบริษัท ยังไม่มีรายได้ หรือรายได้ยังน้อยมาก ขั้นตอน Seed Funding ส่วนใหญ่ลงทุนกันไม่เกิน 10 ล้านบาท

  2. Series – A  เป็นรอบที่ Startup ต้องการที่จะออกผลิตภัณฑ์หรือขยายการกระจายตัวเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น หรือจะขยายตัวไปสู่ตลาดใหม่ รวมไปถึงการปรับรูปแบบทางธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับตลาดที่กว้างขึ้น โดยที่ Venture Capital ที่จะลงทุนใน Startup นั้นๆ ก็จะวิเคราะห์แล้วว่า Startup นี้สามารถสร้างรายได้ที่ดีได้ในอนาคต และสามารถคำนวณหามูลค่าบริษัทที่แท้จริง โดยปกติแล้วในขั้นตอนนี้จะต้องลงทุนอย่างน้อยประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ

  3. Series – B  เมื่อตลาดกว้างขึ้น มีผลิตภัณฑ์มากขึ้น เงินลงทุนรอบใหม่ที่ Startup ต้องการก็เพื่อการขยายฐานลูกค้าในระดับที่ใหญ่กว่าประเทศหรือภูมิภาค รวมไปถึงความต้องการที่จะนำเงินไปเพื่อเข้าซื้อบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับธุรกิจของบริษัทนั้นๆ

  4. Series – C  คล้ายๆ กับ Series – B แต่การลงทุนจะเข้มข้นกว่า และ Startup จะต้องประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเป็นรอบที่ Venture Capital ถือว่าเป็น Milestone ที่สำคัญและพร้อมที่จะเข้า IPO หรือ Initial Public Offering (การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ได้เลย

เมื่อรู้จักนักลงทุนใน Startup กันไปแล้ว เรื่องถัดมาที่เราต้องทราบคือ อะไรคือสิ่งที่นักลงทุนมองหาใน Startup?

  • ทีมที่ดี เป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักที่นักลงทุนมองหาเลยทีเดียว เพราะลำพังแค่ไอเดียอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ Startup ต้องมีทีมงานที่มีความสามารถมากพอที่จะนำพาธุรกิจไปให้ถึงตามเป้าหมาย หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “การลงทุนใน Startup เป็นการลงทุนในตัวบุคลากร”
  • ผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) นั้นน่าดึงดูดแค่ไหน แก้ปัญหาหรือ Pain Point ของลูกค้าในเรื่องอะไร และมีลูกค้าที่สนใจและใช้บริการของคุณจริงๆ หรือไม่ ถึงแม้ผลงานจะดูดีแต่ไม่มีคนใช้ โอกาสที่จะได้รับเงินทุนก็น้อยลงทันที
  • โอกาสในตลาด ขนาดของตลาดนั้นใหญ่หรือมีอัตราการเติบโตมากน้อยแค่ไหน นั่นหมายถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจด้วย จุดสำคัญก็คือ Startup ต้องแสดงให้เห็นภาพว่าทำไมสิ่งที่คุณกำลังนำเสนออยู่มีขนาดของตลาดที่ใหญ่จนน่าดึงดูดนักลงทุนจริงๆ
  • แผนธุรกิจที่นำเสนอมีความเป็นไปได้และความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน สมมุติฐานของตัวเลขต่างๆ สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจหรือไม่ มีที่มาที่ไปอย่างไร ตัวเลขที่เกินความเป็นจริงไปมาก ไม่ได้ช่วยให้ การประเมินมูลค่า หรือ Valuation ดูดี แต่อาจส่งผลถึงความน่าเชื่อถือและสะท้อนถึงความสามารถในการวิเคราะห์ตลาดของ Startup เพราะตัวเลขหรือค่าต่างๆ นักลงทุนสามารถตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ได้
  • การรักษาเอกลักษณ์ แม้ว่าธุรกิจของคุณนั้นจะไปได้ดี แต่ถ้านักลงทุนมองว่าเป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบได้ง่าย นักลงทุนก็อาจไม่สนใจลงทุนได้เหมือนกัน ข้อนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ Startup ต้องตระหนัก เพราะนอกจากจะขายความต่างแล้ว สิ่งสำคัญคือเอกลักษณ์ที่คู่แข่งหรือใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆ