Net Zero เทรนด์ลงทุนยุคใหม่ คนรักษ์โลก

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ประเทศสกอตแลนด์ ได้ประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2573 โดยมี 200 ประเทศที่เข้าร่วม และแนวคิด Net Zero กลายเป็นกระแสหลักและถูกหยิบยกมาพูดในวงกว้างมากขึ้น


Net Zero หมายถึง ความพยายามไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงแนวทางการจัดการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกผลิตออกมาแล้ว


ปัจจุบันไม่ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจและบริการ อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย การเผาไหม้ของการขับขี่รถยนต์ การใช้เครื่องปรับอากาศจนเกินจำเป็น รวมถึงกิจกรรมการใช้ชีวิตของทุกคนมักจะปล่อยมลพิษออกมาโดยไม่รู้ตัว และโลกได้เข้าสู่ภาวะเรือนกระจกมากขึ้น การปล่อยมลพิษต่าง ๆ เช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และอื่น ๆ ออกมาโดยไม่ควบคุม ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกสูงขึ้น ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเริ่มเดินหน้าแผน Net Zero


อย่างไรก็ตาม Net Zero ไม่ใช่ห้ามปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษต่าง ๆ เพราะธุรกิจบางอย่างอาจจำเป็นที่จะปล่อยมลพิษบางส่วนได้ ตราบใดที่ธุรกิจสามารถชดเชยด้วยกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ เช่น การปลูกป่า หรือการใช้เทคโนโลยีการดักจับมลพิษในอากาศโดยตรง หมายความว่าจากนี้ไปทุกคนจำเป็นต้องลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เพื่อเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศกำลังผลักดันในการกระตุ้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐอเมริกามีการออกนโยบายที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมหลายนโยบาย และสนับสนุนการลงทุนและการใช้งาน Clean Energy โดยมีแผนงบประมาณมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ Net Zero Emissions


สหภาพยุโรป (อียู) จัดสรรงบประมาณ 1.8 ล้านยูโร เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ภายหลังจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยงบประมาณราว 30% จะนำมาสนับสนุนวัตถุประสงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ


ประเทศจีน เป็นประเทศที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดในโลก และปัจจุบันมีการรณรงค์ให้บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานหรือผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลมีการออกนโยบาย Dual Credit Policy ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการผลิตและใช้งานรถยนต์น้ำมัน โดยมีเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2603 เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคธุรกิจและบริการ เป็นกลุ่มที่ดำเนินกิจการแล้วปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมาก จึงเห็นความเคลื่อนไหวของแต่ละองค์กรในการบริหารจัดการเพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น


ธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า

เงินลงทุนกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกในช่วงสามทศวรรษข้างหน้าจะย้ายไปสู่ภาคการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสสำหรับเอกชนที่จะมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจโครงข่ายไฟฟ้า


ธุรกิจยานพาหนะและการขนส่ง

ปัจจุบัน คนทั่วโลกเริ่มสนใจและพร้อมเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจยานยนต์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต ส่วนรถบรรทุกและการบิน ซึ่งไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ อาจต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อเป็นหนทางไปสู่เป้าหมายของการกำจัดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้ในอนาคต

(ที่มา : บมจ.ปตท.)

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมาย Net Zero เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับห่วงโซ่อุปทาน หรือหันมาใช้พลังงงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการที่ธุรกิจเริ่มเข้าใจแล้วการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าที่นักลงทุนคาดหวัง ทำให้ Net Zero ป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจแตกต่างเหนือคู่แข่ง มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น

ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในธุรกิจที่มีเป้าหมาย Net Zero

1.ผลตอบแทนอาจไม่สูง

เมื่อธุรกิจตั้งเป้าหมาย Net Zero อาจใช้เงินลงทุนสูงและมีระยะเวลาในการดำเนินการนาน ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น และผลการดำเนินงานปรับลดลง อาจทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนปรับลดลงตามไปด้วย

2.ต้องใช้ประสบการณ์

การวิเคราะห์เพื่อค้นหาธุรกิจที่มีเป้าหมาย Net Zero ต้องประเมินในเชิงคุณภาพมากขึ้น จากนั้นต้องตีค่าออกมาเป็นเชิงปริมาณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยนักลงทุนต้องคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านนี้ในวันนี้ แล้วประเมินว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์กลับมาเมื่อคิดเป็นตัวเงินหรือมูลค่าอยู่ที่เท่าใด มากน้อยแค่ไหน สามารถลดความเสี่ยงได้อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์

3.ไม่การันตีผลตอบแทน

ธุรกิจที่ให้ความสำคัญและมีเป้าหมาย Net Zero จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีเป้าหมายลงทุนและต้องการผลตอบแทนที่ดีในระยะเวลารวดเร็ว ขณะเดียวกันการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้ เพราะเป้าหมาย Net Zero มีความเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านความสามารถการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือความเสี่ยง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถด้านการเติบโตยั่งยืน หากมองในการลงทุนทำให้ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่อาจมีปัญหาในอนาคตได้หากไม่เริ่มต้นวางเป้าหมาย Net Zero

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจที่เดินหน้าแผน Net Zero สามารถลงทุนได้หลายช่องทาง เช่น ลงทุนโดยตรงด้วยการซื้อหุ้นบริษัทนั้น โดยก่อนตัดสินใจต้องพิจารณาข้อมูลที่พิสูจน์ว่ามีแนวคิด Net Zero และลงมือทำตามแผนที่วางเอาไว้ เช่น ข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทางการเงินต่าง ๆ ในระหว่างการจัดทำงบการเงิน, สาระสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ, ข้อมูลกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง หรือมีการติดตามความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนและการรายงานทางการเงิน เป็นต้น


นอกจากนี้ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนธีมการลงทุนครอบคลุมหุ้นที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล (ESG) และเกี่ยวข้องกับ Net Zero โดยศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน


แม้ว่าการลงทุนในธุรกิจหรือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนธุรกิจที่มีแผนดำเนินการ Net Zero ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ที่สำคัญเป็นธีมการลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโต อาจเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาการลงทุนอย่างจริงจัง