บริหารเงินอย่างไร ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น?

การขึ้นดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยพยุงสถานการณ์เงินเฟ้อ จากในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแตะที่ระดับ 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี* ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น และคาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อ  และปกติ เมื่อ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตาม เมื่อ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามเช่นกัน  ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลกับทุกคนอย่างถ้วนหน้า มาดูกันว่าส่งผลบวกลบกับใครกันบ้าง

money-management-while-interest-rate-rising-01

ฝ่ายได้ประโยชน์


·  คนที่ฝากเงินกินดอกเบี้ย – แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธปท.จากระดับ 0.5% ตั้งแต่ 20 พ.ค. 2563 เป็นข่าวดีของผู้ที่มีเงินฝากไว้ในธนาคารที่จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

· ผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน เช่น กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ กองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น เมื่อดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ย่อมมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


ฝ่ายที่เสียประโยชน์


- คนมีภาระเงินกู้ต่างๆ
– การปรับดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อคนที่มีภาระเงินกู้ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ในส่วนคนที่ผ่อนจ่ายสินเชื่อบ้าน แม้เงินที่จ่ายแต่ละงวดจะเท่าเดิม แต่จำนวนเงินก็จะไปจ่ายส่วนดอกเบี้ยมากขึ้น หักส่วนที่เป็นเงินต้นน้อยลง

- ผู้ประกอบการธุรกิจ – ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อธุรกิจ การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้เอกชน ที่จำเป็นต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น


บริหารเงินอย่างไรในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น


1)  ปิดหนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสดดอกเบี้ยสูงให้เร็วที่สุด หรือพยายามโอนหนี้ไปยังวงเงินสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุดเท่าที่จะหาได้

2)  สำหรับคนที่กำลังจะกู้ซื้อบ้าน แนะนำให้หาโปรโมชั่นล็อคดอกเบี้ยคงที่ให้ได้นานที่สุด คนที่มีกู้ซื้อบ้านอยู่แล้ว ก็ให้หาทางรีไฟแนนซ์หาข้อเสนอดอกเบี้ยคงที่หรือเงื่อนไขที่ดีที่สุด

3)  คนที่มีเงินเย็น เป็นโอกาสดีที่จะหาผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝากที่จะให้ดอกเบี้ยเราดีที่สุด หรือถ้าจะลงทุนในหุ้นกู้ก็ให้เน้นที่หุ้นกู้ระยะสั้น เพราะจะได้มีเงินครบกำหนดหมุนเวียนมาซื้อหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าที่เงินจะติดอยู่ในหุ้นกู้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนเท่าเดิม

4)  สายลงทุนหุ้น ต้องพิจารณาลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร ประกันชีวิต ลดการลงทุนในธุรกิจที่เสียประโยชน์ อย่าง กลุ่ม Non-Bank ลีสซิ่ง เช่าซื้อ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


ในภาวะที่สถานการณ์การเงินเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อสภาพการใช้จ่ายและความเป็นอยู่ของทุกคน เราจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ซึ่งแอป SCB EASY ก็มีฟังก์ชั่น Just4You ช่วยให้เรารับความเคลื่อนไหวเงินในบัญชีเข้าออก สรุปหมวดหมู่การใช้จ่ายทุกเดือนให้เราวางแผนบริหารการเงินควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูรายละเอียดได้ที่นี่ 


*ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565


ที่มา :
https://www.govesite.com/accounting/information.php?iid=20200210192005zxpaEqR
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewPolicyRate.aspx
https://edition.cnn.com/2022/05/05/success/rising-rates-how-to-benefit-feseries/index.html
https://www.blockdit.com/posts/61ce7b40f596e5faf4b792b6