ส่องความเคลื่อนไหวค่าเงินปี 2022 จับจังหวะบริหารอัตราแลกเปลี่ยน

ในการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อกำไรของธุรกิจคุณธนกร วิเศษประทับ, CFA, FRM ผู้จัดการขายผลิตภัณฑ์ตลาดการเงินกลุ่มธุรกิจ SME กล่าวถึงภาพรวมความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่ต้นปี 2022 แนวโน้มค่าเงินจนถึงช่วงสิ้นปี รวมทั้งแนวทางบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ดังนี้


สถานการณ์ดอลลาร์-บาท ปี 2022

ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กรอบการเลื่อนไหวของค่าเงินบาท อยู่ระดับต่ำสุดที่ 32.50 บาท/ดอลล่าร์ และสูงสุดที่ 34.60 บาท/ดอลล่าร์ ซึ่งคุณธนกร มองว่าการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทิศทางได้อย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อกำไร-ขาดทุนของบริษัทได้ ทั้งนี้ในประเทศไทยช่วง 1 ปีที่ผ่านมามียอดการทำธุรกรรมโอนเงินสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสเดียวกันนี้ลูกค้าที่มาทำธุรกรรมกับ SCB มีมูลค่าการทำธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 8-12 ลบ. จำนวนรายการมากกว่า 130,000 คิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันถึง 2,000 รายการ


รูปแบบการทำธุรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยลูกค้าโทรศัพท์มาที่ห้องค้าเงิน หรือโทรศัพท์ไปที่ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศ เปลี่ยนมาเป็นการทำรายการผ่านช่องทางออนโลน์ด้วยตนเองมากขึ้น ที่ผ่านมา ลูกค้ามีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตถึง 72% จากพฤติกรรมนี้สะท้อนว่าโลกปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัลมากขึ้น การจองอัตราแลกเปลี่ยนสามารถทำผ่านมือถือได้ และการที่ลูกค้า SCB ได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น จะเห็นว่า การป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเองก็มีการปรับและเพิ่มเครื่องมือมากขึ้น จากที่เคยทำ FX Forward อย่างเดียว ก็มีการเพิ่มเครื่องมือมาทำ FX Options มากขึ้นโดยมี volume เติบโตถึง 290% ตั้งแต่ต้นปี 2022 สำหรับ Range อัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าฝั่ง Export ทำธุรกรรมอยู่ที่ 33.40-33.60 บาท และอัตราแลกเปลี่ยนธุรกรรมฝั่ง Import อยู่ที่ 33.20-33.40 บาท ซึ่งเป็นกรอบที่ใกล้เคียงกัน

overview-fx-2022-02

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีต่อค่าเงิน

ในรอบปีที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเอเชียทุกสกุล โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับที่ 4 (เงินเยนอ่อนค่ามากที่สุด) จากการที่นโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และหลายประเทศทั่วโลก มีทิศทางชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยลดมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED มีผลทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่ลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งยังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์มากที่สุดในเอเชีย ทางด้านสกุลเงินฮ่องกงดอลลาร์ (HKD) ใช้วิธีบริหารค่าเงินที่เหมือนกับประเทศไทยตอนเกิดวิกฤตปี 40 ที่ตรึงค่าเงิน HKD กับ USD ให้คงที่ตลอด (peg) ซึ่งต้องใช้เงินทุนสำรองจำนวนมาก ดังนั้น หากธนาคารกลางของฮ่องกง ไม่มีการออกนโยบายอะไรเพิ่มเติม ค่าเงิน HKD ก็จะยังเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับ USD


ในส่วนของค่าเงินบาท หลังวิกฤตโควิด ประเทศไทยเริ่มมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไหลกลับเข้ามาและธุรกิจประเภทท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินค้าเกษตรเป็นที่ต้องการของโลกมากขึ้นและราคามีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินค้าเกษตรก็เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย ทั้งหมดนี้ทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่ามากนักเมื่อเทียบค่าเงินในภูมิภาคเดียวกัน


คุณธนกรกล่าวถึงการที่ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เพื่อแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.75% และมีการคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 3 นี้ ที่จะมีการประชุม FED อีก 2 ครั้ง ทางธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.75% และ 0.50% ตามลำดับ ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ณ สิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 3% ส่งผลให้เงินดอลลาร์ไหลออกจากประเทศไทย ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้นำเข้าอย่างมาก สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ในการประชุมคราวหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของโลก ทั้งนี้ ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐยังคงเป็นขาขึ้น จนถึงไตรมาส 1 ของปี 2023 และอาจจะเริ่มคงที่และปรับลดลงในช่วงถัดไป


กรอบค่าเงินบาทในปี 2022ที่ ฝ่ายห้องค้า สายงานตลาดการเงิน (SCB Financial Market) คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ USDTHB 34.20 - 36.20, EURTHB 35.50 - 38.50, GBPTHB 41.50 - 45.50, JPYTHB 0.2510 - 0.2810 และ CNYTHB 5.10 - 5.40 ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCBEIC) คาดการณ์ตัวเลข GDP ของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.75%

เทคนิครับมือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ย่อมส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีจัดการบริหารต้นทุนทางการเงินในส่วนนี้ และป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินไปด้วย ซึ่งแนวคิดการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน คุณธนกรมองว่าผู้ประกอบการจะยอมรับอัตราแลกเปลี่ยนได้ที่ตรงไหน ซึ่งทาง SCB FX ได้แนะนำวิธีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน 3 วิธี ได้แก่


1) การป้องกันความเสี่ยงด้วย FX Forward ทางธนาคารยินดีเสนอวงเงิน FX Forward ให้กับลูกค้า แม้ลูกค้าจะไม่ได้ใช้วงเงินสินเชื่อด้านต่างประเทศกับธนาคาร ดังนั้น หากลูกค้ามีวงเงิน FX Forward ก็ควรปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับราคาต้นทุนเป้าหมาย


2) การซื้อประกันความเสี่ยง (FX Insurance) เป็นเครื่องมือบริหารอัตราแลกเปลี่ยนอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ประกอบการยอมจ่ายค่า Premium ที่เปรียบเทียบเสมือนค่าเบี้ยประกัน เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผู้ประกอบการซื้อ FX Insurance ไว้ที่ระดับราคาหนึ่ง ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันส่งมอบ ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ Insurance ที่ซื้อไว้ แต่ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนวันส่งมอบ ส่งผลลบต่อผู้ประกอบการ ก็สามารถใช้สิทธิ์ FX Insurance ป้องกันความเสียหายได้


3) ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผู้ประกอบการกลุ่มนำเข้าซื้อค่าเงินในราคาที่ดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (Spot Plus) โดยส่วนแรกลูกค้าซื้อ USD/THB ที่ราคาพิเศษต่ำกว่าราคาปัจจุบัน และส่วนที่สองลูกค้าจะซื้อเพิ่มที่ราคาพิเศษเดิมอีกถ้าอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันครบกำหนดของสัญญาไม่เกินราคานั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่มีต้นทุนในการทำธุรกรรม


นับตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา ปริมาณการทำธุรกรรม SCB FX Online เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางธนาคารได้มีการพัฒนาระบบให้ใช้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือไอแพดได้ ลูกค้าสามารถซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Real Time ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษเหมือนกับการโทรศัพท์มาที่ห้องค้า โดยระยะเวลาในการให้บริการ SCB FX Online วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.00-17.00 น. นอกจากนี้ ทางห้องค้ายังมีบริการอื่น ๆ ได้แก่ Daily News Update ข่าวสารเศรษฐกิจตลาดการเงินทุกวันตอนเช้าและสัมมนาออนไลน์ผ่านช่องทาง LINE Official Account : @SCBFX และ Facebook : SCB FX ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าอย่างมากในการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดในภาวะปัจจุบัน



ที่มา : สัมมนาโครงการ ITP Digital Exporter 4 เปิดตลาดส่งออก ดึงลูกค้าไกลจากต่างแดน : เปิดเคล็ดลับบริหารอัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 21 มิถุนายน 2565