‘ญี่ปุ่น’ ได้เวลาก้าวสู่จุดเปลี่ยนของนโยบายทางการเงินหรือยัง?

หลายคนอาจคุ้นเคยกับอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน กับโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนผู้สูงอายุในระดับสูง ที่มีส่วนให้ผลของอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยในปี 2016 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้หันมาเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เรียกว่า Yield Curve Control หรือ YCC ซึ่งเป็นนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย


ซึ่งการทำ YCC คือมาตรการของธนาคารกลางจะควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้ นั่นก็คือการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมไม่ให้สูงเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจต้องพบกับภาวะฝืดเคืองผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งโดยทั่วไปก็คือดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพื่อเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถเติบโตได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง

1421871911

แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มก้าวสู่ช่วงที่ถูกมองว่า หลายประเทศกำลังจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด และเริ่มกลับมาเปิดประเทศในปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ต่างมีการเร่งตัวขึ้นอย่างมาก


ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานยังไม่สามารถรองรับได้ ทำให้เริ่มเกิดภาวะปัญหาอุปทานคอขวด (Supply Chain Disruption) รวมถึงภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย จนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว


‘ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน’


จากที่มีอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำมาโดยตลอด ก็เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 จนในเดือนธันวาคม 2022 เงินเฟ้อของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 4% ซึ่งจะเห็นว่าเกินกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ตั้งไว้อยู่ที่ 2% แม้กระนั้นความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบาง ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาโดยตลอด จนทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก


นโยบาย YCC คือจุดเปลี่ยน?


วันที่ 20 ธันวาคม 2022 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกมาแจ้งผลการประชุมว่า จะมีการขยายกรอบการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (YCC) จากเดิมเคลื่อนไหวในกรอบ +/-25bp เป็น +/-50bp เพื่อลดแรงกดดันในตลาดการเงินและเงินเยนที่อ่อนค่า


ซึ่งการปรับนโยบาย YCC ในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดทุนโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดเคยคาดไว้ว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินน่าจะเกิดขึ้นหลังเดือนมีนาคม 2023 จากการที่ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ฮารุฮิโกะ คุโรดะ หมดวาระ ทำให้พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.18% จากระดับ 0.26% ไปแตะที่ระดับสูงสุดของวันที่ 0.44% ก่อนที่จะปิดลงที่ 0.41% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 และค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น 3.7% มาอยู่ที่ระดับ 131.76 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ


อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ป้องกันไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรมากขึ้นเป็น 9 ล้านล้านเยนต่อเดือน จากเดิม 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน


ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงติดลบที่ -0.1% จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ยังเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับสูง ความกังวลในเรื่องภาระหนี้ของภาคธุรกิจ และต้นทุนของภาคธุรกิจที่สูงขึ้น

เส้นทางการเงินญี่ปุ่นจากวันนี้


สำหรับการปรับนโยบาย YCC ของญี่ปุ่นในครั้งนี้มองว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับนโยบายทางการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาด และมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งตลาดก็มองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีโอกาสจะดำเนินนโยบายแบบตึงตัวมากขึ้นในอนาคต แต่คาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาดการเงินและค่าเงินเยน


ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองยังต้องใช้ความระมัดระวังต่อการดำเนินนโยบายแบบตึงตัว เพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และก้าวถัดไปที่จะดูว่านโยบายการเงินในประเทศญี่ปุ่นจะดำเนินต่อไปอย่างไร ก็คงต้องรอดูความเห็นของผู้ว่าธนาคารกลางคนถัดไปที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นสิ่งที่ตลาดจับตามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นหรือไม่


นอกจากนี้ตลาดเองยังมีแนวคิดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนโยบาย YCC ให้เหมาะสมมากขึ้น มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจยกเลิกนโยบาย YCC ได้ในระยะถัดไป ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายการเงินของญี่ปุ่นจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป


ในส่วนของผลกระทบต่อการลงทุนในตราสารหนี้ไทยนั้นเรามองว่า โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบเป็นวงกว้าง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงมาตรการ YCC เช่น การขยายกรอบ YCC เพิ่มเติม หรือการยุติมาตรการ YCC แม้จะมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่ก็ยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นเร็ว


ดังนั้นผลกระทบต่อการลงทุนในตราสารหนี้จึงยังมีอยู่อย่างจำกัด และแม้ว่าความผันผวนในตลาดการเงินญี่ปุ่นจะยังไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินต่างๆ โดยตรง แต่นับว่าเป็นหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตาต่อแนวโน้มตลาดการเงินโลกที่ยังคงมีเปราะบางมากในปีนี้


บทความโดย คุณณรงค์ศํกดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566


ที่มา : The Standard