อะไรคือ Dual-Use Item และทำไมธุรกิจเราอาจพัวพันกับการก่อการร้าย?

ใครที่ทำธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เคยสงสัยหรือไม่ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปต่างประเทศแต่ละครั้ง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เซนเซอร์และเลเซอร์ อุปกรณ์การบิน อุปกรณ์ทางทะเล ผู้ซื้อได้นำสินค้าไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของสินค้านั้นจริงหรือไม่ ผู้ส่งออกอาจเคยเจอลูกค้ารายใหม่ที่ขอซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นจำนวนมากแต่ขอชำระด้วยเงินสด หรืออาจซื้อสินค้าโดยให้ส่งไปที่ยังประเทศปลายทางที่ไม่คุ้นเคย รวมถึงการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้าโดย เปลี่ยนที่อยู่บริษัทบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ (Indicators/Red Flags) ที่ผู้ส่งออกต้องสงสัยแล้วว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปพัวพันกับการทำธุรกิจของกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยบริษัทที่เรากำลังทำธุรกิจอยู่ด้วยอาจเป็นบริษัทบังหน้า (Front Company) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) โดยกลุ่มก่อการร้ายยินดีจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) เพื่อนำไปผลิตหรือดัดแปลงเป็นอาวุธได้


สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสินค้าอุตสาหกรรมที่ทำการซื้อขายเป็นประจำว่าเป็น DUI หรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบลูกค้าและการใช้งานสินค้าที่ปลายทาง เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของตนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการฟอกเงินในอนาคต

1456619354

อะไรคือสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI)?


สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-use items: DUI) คือสินค้าที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งทางด้านพาณิชย์และทางทหาร ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าดังกล่าวไปแล้ว ปลายทางสามารถใช้สินค้านั้นเพื่อการค้าทั่วไป แต่อาจสามารถไปเกี่ยวข้องกับอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ได้ ซึ่ง DUI แทรกซึมอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การบิน อุปกรณ์ทางทะเล โทรคมนาคม เซ็นเซอร์และเลเซอร์ ตัวอย่างสินค้า DUI เช่น ตลับลูกปืน (Ball Bearings) ที่มักเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก หากอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายก็อาจใช้เป็นส่วนประกอบของอาวุธนิวเคลียร์ได้ เส้นใยคาร์บอน (Carbon Fiber) ที่โดยปกตินำไปผลิตเป็นอุปกรณ์กีฬาเช่น ไม้เทนนิส สามารถเป็นส่วนประกอบของเครื่องผลิตก๊าซหนีศูนย์ เชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ก็เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางเช่นเดียวกัน เพราะสามารถเป็นวัคซีนหรือสามารถผลิตเป็นอาวุธชีวภาพได้


สินค้าที่ใช้ได้สองทาง สำคัญกับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจอย่างไร?


แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะยังไม่กำหนดมาตรการขออนุญาตกรณีส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ DUI แต่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมควรทราบว่าสินค้าที่ผลิตหรือที่ได้ส่งออกไป เป็น DUI หรือไม่ เพราะสินค้าดังกล่าวถือเป็นสินค้าสุ่มเสี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และหากบริษัทไม่ได้ตรวจสอบลูกค้าปลายทางเกี่ยวกับการใช้และผู้ใช้สุดท้าย (End-Use and End-User Screening) อาจมีโทษตามพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ก่อการร้ายเช่น กลุ่มตาลีบัน (Taliban) กลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) มักมีความเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน (Money Laundering) ในการให้ได้มาซึ่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับ Weapons of Mass Destruction (WMD) ด้วย เพราะฉะนั้น บริษัทที่ไม่ได้มีการสร้างระบบภายในองค์กร (Internal Compliance Programme: ICP) เพื่อตรวจสอบลูกค้าก่อนทำธุรกรรมทางการค้า รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน อาจได้รับโทษด้านการฟอกเงินภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 ได้เช่นกัน

บริษัทจะมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการแพร่ขยาย Weapons of Mass Destruction (WMD) ได้อย่างไร?


บริษัทควรให้ความสำคัญกับการมีระบบควบคุมสินค้าภายในองค์กร (Internal Compliance Programme: ICP) ซึ่งเป็นระบบสากลในการป้องกันไม่ให้บริษัทเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD โดยในเบื้องต้น มีแนวทางในการป้องกันหลัก ๆ ดังนี้


·  ตรวจสอบว่าบริษัทมีการส่งออก DUI หรือไม่


ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าสินค้าที่มีอยู่เป็น DUI หรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถใส่ข้อมูลเป็นคำค้น พิกัดศุลกากร (HS Code) หรือหมายเลขสารเคมี (CAS Number) ได้ที่เว็บไซต์ http://tcwmd.dft.go.th/etcwmd_iii/classification/main


·  ตรวจสอบว่าลูกค้าและการใช้สินค้าของลูกค้าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่ (End-use and End-user Screening)

ก่อนทำการซื้อขายกับลูกค้าต่างประเทศรายใหม่ ทางบริษัทควรตรวจสอบรายชื่อลูกค้าว่าอยู่ในฐานข้อมูลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทางบัญชีรวมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council Consolidated List) ได้ที่เว็บไซต์  https://www.un.org/securitycouncil/content/un-sc-consolidated-list


·  ตรวจสอบว่าลูกค้าอยู่ในฐานข้อมูลเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือไม่ (Money Laundering)


ทางสำนักงาน ปปง. ได้มีเผยแพร่รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 ดังนั้นก่อนทำการซื้อขายกับลูกค้า บริษัทควรตรวจสอบรายชื่อลูกค้าว่าอยู่ในฐานข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยสามารถสืบค้นข้อมูลบุคคลที่ถูกกำหนดได้ที่ https://www.amlo.go.th/dpl/

สำหรับผู้ส่งออกสินค้า SCB มีบริการแพลตฟอร์ม SCB Trade Club ระบบที่ช่วยรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดการกับข้อมูลภายนอกได้ง่ายขึ้น เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศที่ครบจบในที่เดียว ที่สามารถเสริชหาคู่ค้าในแต่ละประเทศและในหมวดอุตสาหกรรมที่ต้องการ รวมทั้งศึกษาข้อมูลตัวเลขสถิติ เรื่องเอกสาร กฎระเบียบต่างๆ  ห้คู่ค้าทั้งสองฝ่ายจึงสามารถทราบภูมิหลังเบื้องต้นของกันและกันว่าเข้ากันหรือไม่ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและเจรจาพูดคุยกันได้ง่ายๆ เป็นแอพพลิเคชั่นมีฟังก์ชั่นครบและทันสมัยแบบนี้นักธุรกิจที่เห็นโอกาสไม่ควรพลาด


ลูกค้าธุรกิจที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจระดับโลก SCB Trade Club สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ SCB Business Call Center 0 2722 2222