หุ้นกับทอง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

การกระจายความเสี่ยง หรือ Diversification เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ ที่นักลงทุนต้องเอาใจใส่เพื่อให้การลงทุนของเราประสบความสำเร็จ เนื่องจากสินทรัพย์ทางการเงินทุกอย่างมีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนของผลตอบแทนเกิดขึ้นเสมอ การกระจายความเสี่ยงอาจลดอัตราผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนได้ก็จริง แต่สิ่งที่ลดลงด้วยก็คือ ความเสี่ยง ซึ่งกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงที่เป็นที่นิยมก็คือ การทำ Asset Allocation หรือ การกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่ต่างประเภทกัน เช่น เงินสด ตราสารหนี้ ตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและทองคำ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุน


รูป เปรียบเทียบผลตอบแทนรายปีระหว่างหุ้นและทองคำ

จากรูปข้างต้นสามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและทองคำได้ดังนี้
 

  • ปี 2001 ถึงปลายปี 2003 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมา ตลาดหุ้นอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2003 สำหรับทองคำนั้นก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางของตลาดหุ้น แต่ในอัตราที่น้อยกว่า

  • ประมาณต้นปี 2004 ถึงกลางปี 2008 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นค่อยๆ ปรับตัวขึ้น โดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจยังดีอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น รัฐประหาร และการชุมนุมต่างๆ สำหรับทองคำในช่วงนี้ก็มีทิศทางขาขึ้น แต่ไม่เหมือนกับช่วงปี 2001 – 2003 เพราะคราวนี้ทองคำขึ้นในอัตราที่มากกว่าหุ้น ทำให้เริ่มเห็นว่าทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย

  • ประมาณกลางปี 2008 ถึงสิ้นปี 2008 ช่วงนี้ตลาดหุ้นลงหนักมาก จากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่เรียกกันติดปากว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ทองคำนั้นได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่า เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เพราะราคาลงไปในอัตราที่น้อยกว่าหุ้นมากพอสมควร

  • นอกจากนี้หากสังเกตในปี 2000, 2004, 2008 และ 2011 ที่หุ้นตกค่อนข้างแรง (และทำให้ผลตอบแทนติดลบ) แต่ทองคำกลับสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ ซึ่งทองคำได้แสดงคุณลักษณะของ Safe Haven หรือสินทรัพย์หลบภัยออกมา

  • สินทรัพย์หลบภัย คือ สินทรัพย์อะไรก็ได้ที่ปลอดภัยกว่า ผันผวนน้อยกว่า ที่นักลงทุนมองหาเพื่อที่จะย้ายเงินทุนเข้าไปเพื่อความปลอดภัยของเงินทุน ซึ่งทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์หลบภัย เพราะนักลงทุนเชื่อว่าไม่ว่าตอนไหน ทองคำ ก็เป็นสินทรัพย์ที่มีค่า เป็นโลหะมีค่าที่มีความต้องการอยู่เสมอ

  • อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีมาตลอดตั้งแต่ปี 2009 – 2011 ฝันร้ายก็เริ่มมาเยือนนักลงทุนที่ลงทุนในทองคำ เพราะในปี 2012 เป็นช่วงที่เริ่มเห็นสัญญาณว่าทองคำอาจไม่ใช่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกแล้ว ซึ่งสืบเนื่องมาจากราคาที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2009 - 2011 ทำให้เกิดจากการเก็งกำไรมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2011 ที่ราคาทองปรับตัวเร็วมาก ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการเก็งกำไร ทำให้หลังจากนั้นราคาทองเริ่มแผ่วเบาลง และในช่วงปี 2012 ก็เริ่มเห็นผลตอบแทนของทองคำ ตรงกันข้ามกับหุ้น เนื่องจากทองคำได้กลายสภาพเป็นสินทรัพย์เก็งกำไรไปเสียแล้ว เมื่อหุ้นน่าสนใจมากกว่า นักลงทุนจึงเทขายทองเพื่อไปลงทุนในหุ้นแทน

  • อย่างไรก็ตามในปี 2013 – 2017 ทองคำก็กลับมามีทิศทางไปในทางเดียวกับหุ้น หุ้นขึ้น ทองคำก็ขึ้น แต่ขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า พอหุ้นตก ทองคำก็ตกตามไปด้วย ทำให้ทองคำสูญเสียคุณสมบัติของสินทรัพย์หลบภัยไป ดังนั้นความสัมพันธ์ของหุ้นและทองคำในอดีต อาจไม่สามารถคาดเดารูปแบบความสัมพันธ์ของหุ้นและทองคำในอนาคตได้ นักลงทุนจึงต้องหมั่นติดตามและทำความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้



กล่าวโดยสรุป ‘ผลตอบแทนในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันผลตอบแทนในอนาคต’ ยังเป็นคำกล่าวที่เราสามารถนำมาใช้เตือนใจตัวเองได้เสมอก่อนตัดสินใจลงทุน และแม้ว่าเราอาจจะคาดเดารูปแบบความสัมพันธ์ของหุ้นและทองคำได้ยากขึ้น แต่การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ก็ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์การลงทุนของเรา ที่สำคัญนักลงทุนต้องหมั่นติดตามและทบทวนการลงทุนของตนเองอยู่เสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของเราได้


บทความโดย   นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร