เปิดโลกการลงทุนในต่างประเทศ

ในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละวัฏจักรของเศรษฐกิจ จะไม่มีสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นที่สุดหรือชนะตลาดได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดพอร์ตการลงทุน คือ การทำ Asset Allocation หรือการกระจายการลงทุน ไปยังหลากหลายสินทรัพย์และหลากหลายภูมิภาคตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุน


นอกจากนี้จากข้อมูลสถิติตลาดโลก ณ เดือนธันวาคม 2563 จาก Bloomberg และ Business Insider พบว่า ตลาดทุนทั่วโลกมีขนาดประมาณ $80 ล้านล้านเหรียญใน 60 ดัชนีทั่วโลก กว่า 40% อยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน ซึ่งมีขนาดประมาณ 7.6% และ 7.5% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กมากเพียงประมาณ 1% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกเท่านั้น 


ดังนั้นการลงทุนในต่างประเทศมีจึงมีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลายกว่าและมีโอกาสการลงทุนในหลากหลายธุรกิจมากกว่าด้วย ทำให้นักลงทุนสามารถบริหารผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอและความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุดได้ดีขึ้น 


ทางเลือกการลงทุนในต่างประเทศ

  1. ลงทุนโดยตรง ด้วยการไปเปิดธุรกิจที่ต่างประเทศ หรือส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ทางเลือกนี้อาจจะเหมาะกับเจ้าของธุรกิจมีความเชี่ยวชาญ หรือมีลู่ทางในการทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งต้องมีเงินลงทุนที่สูง ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินลงทุนจำกัด

  2. ลงทุนผ่านตลาดหุ้นในต่างประเทศโดยตรง ในปัจจุบันนี้การลงทุนสินทรัพย์การเงินต่างๆ ในตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไป เนื่องจากโบรกเกอร์ส่วนใหญ่เริ่มมีบริการเปิดพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้การลงทุนในต่างประเทศเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งนักลงทุนสามารถติดตามข่าวสารหรือวิเคราะห์การลงทุนด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น โดยสามารถหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ รวมถึงบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ที่ให้บริการ

  3. ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Foreign Investment Fund หรือ FIF เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนมือใหม่ นักลงทุนที่ไม่มีเวลา หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศ และต้องการให้ผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารการลงทุนให้


รู้จักรูปแบบและนโยบายการลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ

ในปัจจุบันกองทุนรวมต่างประเทศ ของไทยมีรูปแบบการบริหารแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ

  1. แบบที่บลจ. ไทยบริหารกองทุนด้วยตนเอง โดยนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ในต่างประเทศโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่างๆ เช่น กองทุนรวมต่างประเทศที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ กองทุนรวมต่างประเทศที่ไปลงทุนในหุ้นเวียดนาม เป็นต้น

  2. แบบที่ บลจ. ไทยไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง หรือการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศนั่นเอง โดยสามารถลงทุนได้ 2 วิธี คือ

    • กองทุนรวมประเภท Fund of Funds เป็นการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง ซึ่งอาจจะมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกันหรือมีนโยบายต่างกันก็ได้ โดยบลจ. ไทยจะเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศกองใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด และจะมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความเหมาะสมภายใต้เกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

    • กองทุนรวมประเภท Feeder Fund เป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งเรียกว่า Master Fund เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ X ไปลงทุนในกองทุนรวม Y ที่จัดตั้งในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งกองทุนรวม Y จะมีผู้จัดการกองทุนที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้ดูแลและบริหารเงิน ตัวอย่างกองทุนรวมแบบ Feeder Fund เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ ที่ไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เป็นต้น

 

foreign

กองทุนรวมต่างประเทศน่าสนใจอย่างไร?

เป็นช่องทางให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก มีมืออาชีพมาช่วยบริหารจัดการลงทุนแทนซึ่งทำให้สามารถกระจายการลงทุนไปในสินค้าทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมมากกว่าสินค้าที่มีเสนอขายอยู่ในประเทศ และช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้


มีทางเลือกการลงทุนหลากหลาย เนื่องจากปัจจุบันนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศมีความหลากหลายมาก มีทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ และกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น กองทุนรวมทองคำ 


บางกองทุนก็เลือกเน้นลงทุนเฉพาะบางภูมิภาคของโลกโดยเน้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตสูง (Emerging Markets) เช่น กลุ่มประเทศ BRIC (Brazil, Russia, India, China) หรือบางกองก็เลือกลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ หรืออาจเลือกลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในประเทศไทย 


ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศมีอะไรบ้าง?

สำหรับความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน โดยความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ มีดังนี้

  • ความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลงทุน เช่น กรณีของหุ้น จะมีความเสี่ยงจากภาวะราคาหุ้นในตลาดผันผวน หากเป็นตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร หรือความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง หากลงทุนผ่านกองทุนรวม นักลงทุนควรดูว่ากองทุนรวมนั้นไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือเอกชน อันดับเครดิตของตราสารและหลักทรัพย์เป็นอย่างไรด้วย
     

  • ความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุน (Country Risk)  ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย การเมือง หรือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ 
     

  • ความเสี่ยงในเรื่องข้อจำกัดในการนำเงินลงทุนกลับประเทศ (Repatriation Risk) ที่อาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถนำเงินลงทุนและผลตอบแทนกลับประเทศได้ครบถ้วนตามที่คาดไว้ได้ 
     

  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate Risk) การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบต่อมูลค่าของการลงทุน ซึ่งนักลงทุนอาจสูญเสียเงินต้นเมื่อมีการแปลงสกุลเงินกลับมาเป็นสกุลเงินในประเทศตามอัตราค่าเงินในวันที่ทำรายการ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวตามตลาด นักลงทุนควรพิจารณาว่าการลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศนั้นเหมาะสมกับตนหรือไม่ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน สถานภาพทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้

มองทางการลงทุนในต่างประเทศ

ปัจจุบันนี้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งสามารถแบ่งทางเลือกออกเป็นสองรูปแบบหลักๆ คือ การลงทุนทางอ้อม และการลงทุนทางตรงด้วยตนเอง 


การลงทุนทางอ้อม คือ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ บลจ.ต่างๆ ไปคัดสรรการลงทุนในต่างประเทศที่น่าสนใจมาให้ลงทุน หรือการใช้บริการกองทุนรวมส่วนบุคคลที่เราสามารถกำหนดนโยบายให้ไปลงทุนในต่างประเทศได้ สำหรับนักลงทุนรายย่อยอาจลงทุนผ่านโปรแกรม Robo-Advisor ซึ่งจัดทำในรูปแบบพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยใช้เงินลงทุนขั้นต่ำที่น้อยกว่ากองทุนส่วนบุคคล หรือบางแห่งก็ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ทำให้เริ่มต้นการลงทุนได้ง่ายขึ้น


การลงทุนทางตรง ปัจจุบันสามารถทำได้สะดวกขึ้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นหรือกองทุนต่างประเทศโดยตรง นักลงทุนสามารถแลกเงินเป็นสกุลที่ตนเองต้องการและสั่งลงทุนโดยตรงเองผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบต่างๆ ที่ผู้ให้บริการมีให้ นอกจากนี้การเปิดบัญชีลงทุนก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยมีการพัฒนาบริการให้นักลงทุนสามารถเปิดบัญชี สมัครใช้บริการ โอนเงินเริ่มต้นและลงทุนได้ทันทีผ่าน smartphone ในมือ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญให้การลงทุนใหม่ๆ แพร่หลายมากขึ้น


กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่าการลงทุนในต่างประเทศมีสินทรัพย์ลงทุนให้เลือกหลากหลาย ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลงได้ อย่างไรก็ตามการลงทุนนี้ก็มาพร้อมกับปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งเรื่องค่าเงิน ค่าธรรมเนียม ความเสี่ยงที่มากขึ้นกว่าการลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลการลงทุน ผลิตภัณฑ์และความเสี่ยงให้รอบคอบ เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม


โดยทางหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ก็มีบริการการลงทุนในต่างประเทศที่หลากหลาย หากนักลงทุนสนใจการลงทุนในต่างประเทศ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน EASY INVEST แล้วเริ่มลงทุนได้เลย!

 

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร