บริหารความเสี่ยงเรื่องสุขภาพด้วยการลงทุนแทนการซื้อประกันสุขภาพดีหรือไม่

การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากเป็นการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เราก็น่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไหว แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยหนัก ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง เราก็อาจจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นไม่ไหว ถึงขั้นเงินเก็บอาจหายไปหมด จากการเจ็บป่วยหนักเพียงครั้งเดียว ดังนั้นการทำประกันสุขภาพ จึงเป็นตัวช่วยให้เราวางแผนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ดีขึ้น


อย่างไรก็ตาม ในวันที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆบางคนอาจคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมือน “เป็นภาระ” ที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันทิ้งไปเปล่าๆ หากไม่ได้เบิกเคลมค่าใช้จ่าย ก็ไม่ได้เงินคืน นอกจากนี้เบี้ยประกันไม่ได้คงที่ไปตลอดทุกปี แต่ยังปรับเพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย ทำให้บางคนเกิดความลังเลใจในการทำประกันสุขภาพ อีกทั้งบางคนก็มีโรคประจำตัวไปแล้ว อาจทำให้ซื้อประกันสุขภาพไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า เราควรบริหารความเสี่ยงด้วยการลงทุนแทนการซื้อประกันสุขภาพดีหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ

health1

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า ประกันสุขภาพเหมาะกับใครบ้าง

1.ผู้ที่มีสุขภาพดีแต่กังวลว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อาจเนื่องมาจากเคยมีประสบการณ์เจ็บป่วยหรือคนในครอบครัวเคยเจ็บป่วย แล้วรู้สึกกังวลกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ทำให้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเบี้ยที่ต้องจ่ายกับความคุ้มครองที่ได้ รู้สึกคุ้มค่า


2. เจ้าของกิจการ ที่อาจจะทำงานหนักมาก ส่งผลให้ละเลยสุขภาพของตนเอง เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลา นอนดึก และละเลยสัญญาเตือนของโรคภัย อีกทั้งไม่มีความคุ้มครองสุขภาพเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่บริษัททำให้ การซื้อประกันสุขภาพจึงเหมือนเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี


3. ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพนอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของคุณเเล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทอีกด้วย โดยประกันสุขภาพที่มีสิทธิลดหย่อนภาษีต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้

  • ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บปวดและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long-Term Care)

สำหรับใครที่คิดว่าประกันสุขภาพตอบโจทย์เรื่องการบริหารความเสี่ยง และคุ้มค่าที่จะทำ ก็ควรไปทำประกันสุขภาพ โดยศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองที่ต้องการ พิจารณาความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน และควรวางแผนการจ่ายเบี้ยประกันในระยะยาวให้ดี เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มตามอายุ และยิ่งที่อายุมากๆ เช่น 60 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันจะแพงมาก ซึ่งเราก็อาจจะต้องพิจารณาการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อนำมาจ่ายค่าเบี้ยประกันในอนาคตเพิ่มเติม


สำหรับใครที่อยากจะรับความเสี่ยงไว้เอง โดยไม่ทำประกันสุขภาพ ยิ่งต้องวางแผนการลงทุนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะกว่าเราจะได้ดอกผลที่ดีจากการลงทุนนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวพอสมควร นอกจากนี้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวจะช่วยลดความผันผวนของการลงทุนลงได้


โดยเราอาจจะเริ่มจาก นำเงินที่คิดว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน เอาไปลงทุนแทน ซึ่งจะลงทุนในอะไรก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง และระยะเวลาที่จะลงทุน ทำให้วางแผนการลงทุนค่อนข้างยากนิดนึง เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาตอนไหน หากเพิ่งเริ่มต้นสร้างพอร์ตการลงทุน แล้วโชคร้ายเกิดเจ็บป่วยถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล เงินที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่พอกับค่ารักษาพยาบาล ยิ่งถ้าเกิดโชคร้ายสุดๆ พอร์ตการลงทุนของเราเกิดขาดทุน หรือติดลบอยู่ เราก็อาจต้องขายพอร์ตการลงทุนแบบขาดทุน เพื่อนำเงินไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ก็จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเงินอื่นๆ และฐานะการเงินของเราได้


อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ เราสามารถไปใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิพื้นฐานที่เรามี เช่น บัตรทอง หรือประกันสังคม ซึ่งการใช้สิทธิพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับเราได้เช่นกัน แต่ก็ต้องแลกมากับความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษา เช่น ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้เท่านั้น และต้องรอคิวในการรักษา เป็นต้น

 

นอกจากรีบวางแผนการลงทุนให้เร็วที่สุดแล้ว การดูแลสุขภาพของเราเองให้ดีที่สุด ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเรามีสุขภาพที่แข็งแรง โอกาสที่จะเข้าโรงพยาบาลก็อาจจะน้อยลงได้ ดังนั้นในการที่เราจะรับความเสี่ยงไว้เอง ก็มีหลายเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการให้ดีเช่นกัน


กล่าวโดยสรุป  ในแง่ของการวางแผนการเงิน การทำประกันสุขภาพถือเป็นการโอนย้ายความเสี่ยงทางการเงิน และยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ และบรรเทาความเสียหายเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง หรือภาวะทุพพลภาพ เป็นต้น โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับประกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยด้านต่างๆ แทนเรา (ตามวงเงินคุ้มครอง) และเราก็มีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันที่ทราบจำนวนเงินที่แน่นอนตามสัญญา ทำให้เราบริหารจัดการเงินของเราได้ง่ายขึ้น


อย่างไรก็ตาม หากไม่ต้องการทำประกันสุขภาพ หรือประเมินแล้วว่าไม่สามารถชำระเบี้ยประกันสุขภาพได้เลย ก็อาจเลือกรับความเสี่ยงไว้เอง (ประกันตนเอง) ด้วยการสำรองเงินหรือจัดพอร์ตการลงทุนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ ด้วยตนเอง แทนการชำระเบี้ยประกันสุขภาพในแต่ละปี แต่เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการลงทุนเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าข้อจำกัดของวิธีนี้คืออะไร เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ ‘หาเงินมาทั้งชีวิต หากโรคภัยทำพิษ เงินเก็บทั้งชีวิตก็หายไป’

 

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร