ความน่าสนใจในการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market)

Emerging Market หรือ EM คือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ ก่อนหน้าเรียกว่า ตลาดกำลังพัฒนา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ ตลาดพัฒนาแล้ว หรือ Developed Market (DM)


กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ นั้น ถูกนักวิเคราะห์และนักลงทุนแบ่งออกตามภูมิภาค 3 โซนด้วยกัน ได้แก่

  1. ประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ จีน อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และปากีสถาน
  2. ประเทศแถบละตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู และเวนาซูเอลา
  3. ประเทศแถบยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ได้แก่ สาธารณรัฐเชก ฮังการี โปแลนด์ รัสเซีย อิสราเอล จอร์แดน โมร็อคโค อียิปต์ แอฟริกาใต้ และตุรกี


ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา มีประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ และถูกจับตาว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอยู่ 4 ประเทศด้วยกัน นั้นคือ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) โดยใช้ชื่อย่อว่า BRIC นั้นเอง


ความแตกต่างระหว่างตลาดเกิดใหม่ และตลาดพัฒนาแล้ว
ได้แก่ รายได้ประชาชาติ (GNI – Gross National Income per capita) ถ้าเป็นประเทศในตลาดพัฒนาแล้วจะมีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรอยู่ที่ 10,066 USD หรือ ปีละ 312,000 บาท (เดือนละ 26,000 บาทโดยประมาณ) ถ้ารายได้เฉลี่ยต่ำกว่านั้น จะพิจารณาว่าเป็นประเทศเกิดใหม่ ซึ่งปัจจุบันรายได้เฉลี่ยต่อประชากรชองไทยอยู่ที่ 5,400 USD หรือ 167,400 บาท (เดือนละ 13,950 บาทโดยประมาณ)


จุดเด่นของการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่
คือ ประเทศเหล่านี้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ที่สูงกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกา (ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ) จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2% - 3% ต่อปี ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ในระดับต่ำมานานมาก แต่ในประเทศเกิดใหม่ จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3% เพราะในประเทศเกิดใหม่มีจำนวนประชากรที่มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีประชากรในวัยทำงานที่สูงกว่า มีความต้องการซื้อ ความต้องการสร้างฐานะ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า


นอกจากนี้ ตลาดเกิดใหม่ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาประเทศได้ดีกว่า นั่นคือ มีหนี้สาธารณะในระดับต่ำ ในขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว จะมีหนี้สาธารณะต่อ GDP (Debt to GDP) สูงกว่ามาก

em

โดยในอดีตนั้น เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ พึ่งพารายได้จากภาคการผลิตและการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ (การผลิตแบบเก่า, Old Economy) แต่ในปัจจุบันประเทศตลาดเกิดใหม่กลายเป็นที่ตั้งของบริษัทที่มากด้วยนวัตกรรมและเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเลือกที่จะเข้ามาลงทุนและเติบโตไปพร้อมกับตลาดนี้


เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ และเริ่มเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ประเทศตลาดเกิดใหม่จะได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นอย่างมาก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Supply Chain) กลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบ (Raw Material) ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบเหล่านั้น เช่น สินค้าเกษตร สินแร่ โลหะแปรรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์


อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ต่างมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จนกลายเป็นผู้นำของโลก ทำให้ไม่ว่าภาคการผลิตจะมีความต้องการวัตถุดิบประเภทใด ประเทศตลาดเกิดใหม่ย่อมได้รับผลดีอย่างแน่นอน


ข้อควรระวังในการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นโจ ไบเดนที่มีท่าทีที่ประนีประนอมกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ในรูปแบบการขึ้นภาษีนำเข้าอาจเริ่มบรรเทาลง แต่อาจจะมีสงครามการค้าในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น โดยนายไบเดนได้ให้ทรรศนะในเชิงไม่เห็นด้วยกับการที่จีนไม่เคารพกติกาการค้าโลก และเอาเปรียบชาติอื่นๆ (Abusive Practice) และเปรยว่า สหรัฐภายใต้การนำของเขาจะพุ่งเป้าไปที่จีนในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด การอุดหนุนผู้ประกอบการจากภาครัฐ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน


นอกจากนี้ Tech War ยังเป็นสมรภูมิเดือดระหว่างสหรัฐและจีน แม้นโยบายของนายไบเดน และประธานาธิบดีทรัมป์ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ประเด็นเรื่องของ “สงครามเทคโนโลยี” หรือ “Tech War” กลับมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน โดยนายไบเดนยังมีนโยบายที่จะกีดกันซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น รวมถึงเทคโนโลยี 5G ของบริษัทจีน ซึ่งคล้ายกับนโยบายเดิมของประธานาธิบดีทรัมป์


หากสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอลงได้ เพราะทั้งจีนและสหรัฐต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศตลาดเกิดใหม่นั่นเอง


การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลล่าร์สหรัฐและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว ได้ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “QE” เป็นหนึ่งในวิธีการของนโยบายการเงินแบบพิเศษที่มีเป้าหมายไม่ต่างกับนโยบายการเงินแบบปกติ คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่เสถียรภาพด้านการเงินและการกระตุ้นด้านอุปสงค์เพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้


มาตรการ QE นั้น เป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional Monetary Policy) กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจะใช้นโยบายทางการเงินต่างๆ เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงินที่ถูกใช้มากที่สุดคือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจให้อยู่ในระดับที่ต่ำลง โดยมาตรการ QE เป็นมาตรการที่ใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาคเอกชน นอกจากนั้นยังใช้เพื่อลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ให้อยู่ในระดับต่ำลงมา โดยที่ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการลดต้นทุนในการกู้ยืมของภาคธุรกิจลง ซึ่งเป็นการช่วยให้การผลิต และการจ้างงานสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆด้วยเช่นกัน อาทิ เกิดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากมีการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ และยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินที่อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน


เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ธนาคารกลางต่างๆ ก็จะลดปริมาณการทำ QE ลง (QE Tapering) ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์จะแข็งค่าขึ้น และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Fund Flow จะไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่กลับไปยังประเทศพัฒนาแล้ว


ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น การแข็งค่าของดอลลาร์มักก่อให้เกิดวิกฤตการเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เสมอๆ จากความประมาทที่ไปกู้ยืมเงินนอกประเทศจนเกินตัว (คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับไทยในปี 1997) ทั้งนี้ สิ่งที่นิยมใช้ในการระบุถึงวิกฤตของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็คือ ระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กับการขาดดุลงบประมาณ โดยปัจจัย 2 ตัวนี้จะบ่งบอกถึงความต้องการกู้ยืมเงินนอกประเทศ


กล่าวโดยสรุป แม้การลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีความน่าสนใจ แต่ก็มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องของตลาด ซึ่งนักลงทุนเองไม่ควรมองข้าม


บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร