Thematic Investment คืออะไร และน่าลงทุนแค่ไหน?

เชื่อว่านักลงทุนหลายท่าน อาจจะเคยได้ยินคำว่า Thematic Investment กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นธีมการลงทุนที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน บทความนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า Thematic Investment คืออะไร และน่าลงทุนแค่ไหน?


Thematic Investment คือ การลงทุนโดยอาศัยการจับทิศทางกระแสหลักของโลก (Mega Trend) ที่กำลังเปลี่ยนไป และจะมีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เพื่อกำหนด “ธีม” ในการลงทุน เช่น การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของสังคมเมือง การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ หรือการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และถูกนำมาพัฒนาเป็นพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระยะยาวดังกล่าว


การลงทุนในลักษณะนี้จะมีความแตกต่างจากการลงทุนของกองทุนรวมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ของการลงทุน กรอบระยะเวลาในการลงทุน หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน รวมไปถึงการวัดผลการดำเนินงานของกองทุน


Thematic Investment จะมุ่งเน้นในการลงทุนระยะยาว ที่มุ่งหวังผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเข้าลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่จะมุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในระยะสั้น ทำให้กรอบระยะเวลาในการลงทุนแบบนี้จะยาวกว่าการลงทุนโดยทั่วไป (มากกว่า 3 – 5 ปีขึ้นไป)


นอกจากนี้การเลือกหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน ก็อาจจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่งที่ตรงกับธีมการลงทุน เช่น หุ้นในกลุ่ม Health Care ทำให้ความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้จะอยู่ที่ระดับ 7 (กองทุนรวมเฉพาะหมวดอุตสาหกรรม) ซึ่งจะแตกต่างจากกองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมหุ้นโดยทั่วไป ที่จะมีการกระจายหุ้นไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการลงทุนใน Thematic Investment จะมีความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงกว่านั่นเอง

ในแง่ของการวัดผลการดำเนินงาน กองทุนรวมโดยทั่วไป จะวัดผลเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) เช่น  กองทุนรวมหุ้นไทย ก็มักจะวัดผลการดำเนินงานเทียบกับดัชนี SET TRI (SET Total Return Index ซึ่งรวมผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงราคาของ SET Index และผลตอบแทนจากเงินปันผล) ซึ่งเวลาเราจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย เราอาจพิจารณาว่ากองทุนนั้นๆ สามารถทำผลตอบแทนชนะ Benchmark ได้หรือไม่ เป็นต้น


ในขณะที่การลงทุนแบบ Thematic Investment อาจจัดสรรนํ้าหนักการลงทุนตามการจัดลำดับความสำคัญของ    ธีมการลงทุนโดยไม่ได้สนใจสัดส่วนของหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับตลาดเลยก็เป็นได้ และส่งผลให้การวัดผลการดำเนินงานของ Thematic Investment เป็นแบบ Absolute Return คือ เน้นการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมากกว่าที่จะวัดเทียบเคียงกับผลตอบแทนของตลาด


ตัวอย่าง Thematic Investment ที่น่าสนใจ

1. ธุรกิจ Healthcare

เป็นหนึ่งใน Thematic Investment ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสอดคล้องไปกับกระแสสังคมสูงวัย และคนส่วนใหญ่ที่หันมาใส่ใจในสุขภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเกิดโรคระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา ก็ทำให้กลุ่มธุริกจ Healthcare เป็นที่นิยมอย่างสูง


เมื่อลองพิจารณากองทุนที่ลงทุนใน Healthcare ส่วนใหญ่ ก็จะลงทุนกระจายตัวในหลายๆ ธุรกิจ เช่น กลุ่มผู้ผลิตยา (Pharmaceutical), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), บริการทางการแพทย์ (Service Provider), และเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Devices)


นอกจากนี้จากการที่วิทยาการทางการแพทย์ และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น และเกิด Thematic Investment ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นไปอีก เช่น Digital Health และ Biotechnology


โดย Digital Heath เป็น Theme ที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่จะช่วยให้การบริการทางการแพทย์ หรือการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน Biotechnology ช่วยทำให้นวัตกรรมการพัฒนายาต่างๆ มีความก้าวหน้าและมีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น


2.E-Commerce

เป็นธุรกิจที่เติบโตอยู่แล้ว ด้วยความสะดวกสบาย และวิกฤตโรคระบาด COVID-19 เป็นปัจจัยเร่ง ส่งผลให้การค้าขายออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นมาก เพราะคนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านและไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้


Infrastructure ของ E-Commerce ก็มีความพร้อมมากขึ้น จากเทคโนโลยีการสื่อสาร 4G และ 5G การมี app ที่ user friendly มากขึ้นส่งผล ให้ Eco system มีความพร้อมมากขึ้น ตั้งแต่ต้นทางการรับ order สินค้า คลังสินค้า การกระจายสินค้า จนถึงค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ต้นทุนที่ต่ำกว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค สามารถเข้าถึงง่ายด้วยมือถือ ผู้ผลิตก็สามารถขายสินค้าได้ด้วยราคาที่ลดลง ไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือต้นทุนการเช่าพื้นที่ สามารถนำเสนอสินค้าที่ราคาถูกลงได้ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพากันเข้าสู่ระบบ online มากขึ้น


การลงทุนใน E-Commerce theme ก็คือการลงทุนในหุ้นของบริษัทค้าปลีกทั่วโลกที่มีรายได้หลักมาจากการค้าขายออนไลน์ รวมไปถึงการขนส่ง และ packaging ต่างๆ ก็ได้ประโยชน์จาก E-Commerce สามารถลงทุนทางตรงในหุ้นนั้นๆ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เป็น E-Commerce Theme ก็ได้

3. Green Energy หรือพลังงานสะอาด

ธีมการลงทุนนี้มาพร้อมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในนโยบายเด่นที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระยะยาว คือ นโยบายด้านพลังงานโดยเฉพาะพลังงานสะอาด


โดยนโยบายสำคัญด้าน Green Energy ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แก่ การพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า สำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรม และล่าสุดไบเดนได้ออกมาประกาศว่า เขามีแผนที่จะดำเนินการเปลี่ยนยานพาหนะทั้งหมดของหน่วยงานรัฐบาลให้เป็น ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ที่ถูกผลิตและจัดประกอบโดยพลเมืองสหรัฐฯ ในสหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และบริษัทที่ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจขึ้นมาทันที ไม่เฉพาะแค่ในสหรัฐฯ แต่หุ้นพลังงานสะอาดทั่วโลกก็พลอยได้รับอานิสงค์ไปด้วย


อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังของการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ ต้องติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างใกล้ชิด (เพื่อประกอบการตัดสินใจขาย หากได้ลงทุนในช่วงนี้ไปแล้ว) เพราะหากประธานาธิบดีเปลี่ยนคนไป นโยบายนี้ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย


กล่าวโดยสรุป การลงทุนแบบ Thematic Investment นั้นมีข้อดีในแง่ของการกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อคัดเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน อย่างไรก็ตามการลงทุนแบบนี้ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการลงทุนที่ยาวกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เนื่องจาก Thematic Investment เป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่าที่เราจะเห็นกลุ่มบริษัทที่เข้าลงทุนเติบโต จึงอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะสั้นๆ


นอกจากนี้การลงทุนในรูปแบบนี้จะค่อนข้างมีความกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป จึงอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่เหมาะกับการนำไปผสมกับการลงทุนอื่นๆ ให้พอร์ตโดยรวมมีความหลากหลาย กระจายตัวมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนควรพิจารณาถึงความเสี่ยงของการลงทุนเทียบกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ของตนเองก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร