Buffett Index Investing: 3 เหตุผลที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังแนะนำ Index Fund

“หลีกเลี่ยงการเลือกหุ้นรายตัว (ถ้าไม่มีความชำนาญ) และเลือกกองทุนดัชนี S&P 500 สำหรับการลงทุนในระยะยาว” วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานและซีอีโอของ Berkshire Hathaway กล่าวในขณะที่พูดกับนักลงทุนทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2021 ของ Berkshire Hathaway ซึ่งทั้ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของ Berkshire Hathaway ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้มากมายเกี่ยวกับแอปฯ Robinhood ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ GameStop ราคาบิตคอยน์ที่มีแนวโน้มเหมือนฟองสบู่ การเพิ่มอัตราภาษีของประธานาธิบดีไบเดน กระแส SPAC และมุมมองหุ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ของสหรัฐฯ


แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่บัฟเฟตต์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ยังคงแนะนำการลงทุนผ่านกองทุนดัชนีอย่าง S&P 500 เนื่องจากมองว่าบุคคลทั่วไปอาจไม่มีความสามารถหรือเวลาเพียงพอในการคัดเลือกหุ้นที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาดได้ตลอดเวลา ทั้งยังกล่าวว่า เมื่อเขาจากโลกนี้ไป เงินลงทุนกว่า 90% จะไปลงในกองทุนหุ้นดัชนีที่มีการบริหารที่ดีและมีต้นทุนต่ำ และอีก 10% ไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีความมั่นคง (90/10 Strategy)


เหตุใด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เป็นต้นแบบของนักลงทุนทั่วโลกถึงยังแนะนำให้ลงทุนในกองทุนดัชนี
 บทความนี้จะพานักลงทุนมาดูคำตอบและสถิติที่น่าสนใจกัน


จุดเด่นของกองทุนดัชนีมีหลายประการ
 แต่จุดที่ชัดเจนที่สุดของการลงทุนในกองทุนดัชนีที่บัฟเฟตต์กล่าวไว้ (บัฟเฟตต์ไม่ได้ให้ข้อคิดเห็นเชิงลึก แต่มาจากการประมวลจากสารถึงผู้ถือหุ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของบัฟเฟตต์) ได้แก่


1. พอร์ตการลงทุนมีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ
 และลดโอกาสที่จะสูญเสียเงินจำนวนมากในช่วงตลาดปรับฐานแรง เนื่องจากมีการกระจายอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่ามูลค่าของพอร์ตการลงทุนจะไม่สัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทใดหรืออุตสาหกรรมใดมากเกินไป


2. ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ
 รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมในการจัดการมักต่ำกว่ากองทุนเพื่อการลงทุนประเภทอื่นๆ กองทุนรวมที่มีการจัดการและบริหารเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง (Active) มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายที่มักจะอยู่ระหว่าง 1-2% และค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่จ่ายให้ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอในการตัดสินใจซื้อและขายเพื่อพยายามที่จะทำผลงานให้ดีกว่าตลาดโดยรวม ในทางตรงกันข้าม กองทุนดัชนีจะมีการจัดการอย่างเรียบง่าย (Passive) เนื่องจากผู้จัดการกองทุนเพียงแค่ติดตามดัชนีโดยการซื้อและถือหุ้นให้เท่ากับสัดส่วนในดัชนีอ้างอิง การถือครองของกองทุนดัชนีจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่ต้องใช้เวลาในการติดตามมากสำหรับผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ ต้นทุนด้านภาษีและต้นทุนการซื้อขายหุ้นสำหรับกองทุนดัชนียังต่ำกว่ากองทุน Active ด้วย


3. ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอโดยไม่ต้องเหนื่อยมาก
 ตามงานวิจัยของ S&P Global Research บ่งชี้ว่าบริษัทแต่ละบริษัทในดัชนีหนึ่งๆ มีทั้งบริษัทที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและต่ำกว่าตลาด ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและลดลงตลอดเวลา แต่ตลาดหุ้นโดยรวมจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เป็นผลให้กองทุนดัชนีมักให้ผลตอบแทนที่ดีและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมักส่งอานิสงส์ชัดเจนและเห็นได้ง่ายจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักทั่วโลก ซึ่งทำให้คุ้มค่าสำหรับนักลงทุนระยะยาวทุกคน โดยที่นักลงทุนไม่ต้องใช้ความพยายามมากในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและบริษัทในเชิงลึก


เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างกองทุน Active มาหนึ่งกอง เช่น กองทุน Morgan Stanley Institutional Growth Portfolio มูลค่า 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ชื่อย่อ MSEQX) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 34% ต่อปีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มากกว่าผลตอบแทนต่อปีของ S&P 500 กว่าสองเท่า แต่หากดูในรายละเอียดจะเห็นความผันผวนอย่างมากของผลการดำเนินงานของกองทุนรายปี โดยในปี 2017 และ 2018 กองทุนนี้เป็นหนึ่งในกองทุนชั้นนำที่ให้ผลตอบแทน 43.8% และ 7.7% ตามลำดับ ในขณะที่ S&P 500 เพิ่มขึ้น 21.7% ในปี 2017 และลดลง 4.6% ในปี 2018

buffet-index-Investing-01

อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 อันดับกองทุนลดลงอย่างมากแม้ยังคงสร้างผลตอบแทนได้ 23.2% ในปีนั้น เนื่องจากผลการดำเนินงานยังดีไม่เพียงพอที่จะโดดเด่นเมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ในปี 2019 ที่เพิ่มขึ้นถึง 31.3% แต่หากนับตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2020 กองทุนนี้ก็เป็นหนึ่งในกองทุนผลงานอันดับต้นๆ ในบรรดากองทุนหุ้น Growth ขนาดใหญ่ทั้งหมด และนักลงทุนที่ลงทุนอย่างต่อเนื่องควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่านักลงทุนที่ถือดัชนี S&P 500 อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานของกอง Active ส่วนใหญ่ยังมีความผันผวนในบางปี และขึ้นกับความสามารถของผู้จัดการกองทุน อีกทั้งจากรายงานของ S&P Global Research บรรดากองทุนที่ติดอันดับ Top Rank ในช่วงห้าปีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2010 ถึงมิถุนายน 2015 มีเพียงราว 39% ของกองทุนทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถรักษาตำแหน่งระดับ Top Rank ไว้ได้ในห้าปีถัดไป


ด้วยเหตุนี้ บัฟเฟตต์ได้ย้ำเสมอว่า หากเขาจะลงทุน เขาจะลงทุนเสมือนซื้อธุรกิจแบบนักธุรกิจและจะซื้อในสิ่งที่เขารู้จริงเท่านั้น และเน้นว่าการเลือกหุ้น (รวมถึงกองทุน) รายตัวมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาเยอะกว่าที่เห็นมาก เมื่อเทียบกับการมองว่าประเทศไหนและอุตสาหกรรมไหนจะยอดเยี่ยมในอนาคต ดังนั้น หากไม่รู้หรือรู้ไม่เพียงพอ การซื้อดัชนีจะเป็นคำตอบที่ง่ายที่สุด


หากเราพิจารณาจากสิ่งที่บัฟเฟตต์พูดล่าสุด นักลงทุนหลายท่านที่มีการลงทุนหุ้นรายตัวหรือมีการลงทุนในกองทุน Active อาจจะรู้สึกว่าสไตล์การลงทุนแบบบัฟเฟตต์อาจเหมาะกับการลงทุนในโลกยุคเก่าและล้าสมัย แต่หากมองเทียบกับสถิติที่เกิดขึ้นจริงย้อนไป 20 ปี จนถึงในสิ้นปีก่อนที่โลกเผชิญวิกฤตโควิค-19 จะเริ่มเห็นมุมมองที่ต่างออกไป จากรูปจะเห็นได้ว่าหากนักลงทุนมีการลงทุนในดัชนี S&P 500 ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา


โดยสมมติมีเงินตั้งต้น 100 บาท ในปีแรกในดัชนี S&P 500 ผ่านไป 20 ปี การลงทุนในดัชนีจะสามารถสร้างให้เม็ดเงินลงทุนเติบโตด้วยอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate) ได้ถึงราว 7.47% ต่อปี จาก 100 บาทจะกลายเป็น 430 บาท โดยที่นักลงทุนไม่ต้องใส่เงินเพิ่มและไม่ต้องจับจังหวะตลาดให้วุ่นวาย ในทางตรงกันขาม หากนักลงทุนเลือกกองทุนหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนผิด ผลตอบแทนก็อาจเปลี่ยนไปมาก ในปัจจุบันกองทุนยอดนิยมที่นักลงทุนเลือกลงทุนมักจะเป็นกอง Active หรือ Thematic ที่เกาะกระแสธีมต่างๆ เช่น เทคโนโลยี หุ่นยนต์ การแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ แม้จะเป็นการลงทุนในแนวเมกะเทรนด์ แต่หากผู้จัดการกองทุนบริหารพลาดเพียงแค่พลาดวันที่ดีที่สุดของปีนั้นในช่วงที่หุ้นขึ้นแรง จะทำให้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่แย่ลง (ยังไม่รวมความเสี่ยงเรื่องการเลือกหุ้นผิด ซื้อและขายหุ้นเร็วและช้าเกินไปหรือ Market Timing ที่ผิดพลาด) ซึ่งหากผู้จัดการกองทุนพลาดเกิน 30 วันต่อปีขึ้นไป สถิติก็บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มสูงที่ผลการดำเนินงานของกองทุน Active (ที่บริหารโดยพลาดวันที่ตลาดขึ้นดีเพียงไม่กี่วัน) จะแพ้ผลการดำเนินงานจากการลงทุนในกองทุนดัชนีในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้กล่าวว่าคนส่วนใหญ่จะมีฐานะดีขึ้นด้วยการเป็นเจ้าของกองทุนดัชนี (Index Fund) แทนที่จะเดิมพันหุ้นรายบริษัทซึ่งเสี่ยงสูง เขาย้ำว่าโลกและตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเกินกว่าที่เราจะคาดถึง ทั้งได้ตั้งคำถามว่า บรรดาบริษัทที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือบริษัทเหล่านี้อีกกี่บริษัท ดังนั้นการเลือกบริษัทที่ยอดเยี่ยมจะมีความซับซ้อนมากกว่าการเลือกอุตสาหกรรมที่มีอนาคตอย่างแน่นอน

 

สุดท้ายนี้ ถ้าเทียบกับประสบการณ์การลงทุนตามคำแนะนำของบัฟเฟตต์เอง หากนับระยะ 30 ปีหลังของบัฟเฟตต์จากอายุช่วง 60-90 ปี ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นของพอร์ตบัฟเฟตต์ (Active Investing) จะตกอยู่ที่ประมาณแค่ราว 5% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ (Passive or Index Investing) ให้ผลตอบแทนต่อปีราว 8.5% ซึ่งดูเหมือนแพ้ตลาดในช่วงปีหลังๆ และทำให้คำแนะนำการลงทุนในกองดัชนีของบัฟเฟตต์มีน้ำหนักมาก อย่างไรก็ดี หากนับตลอดระยะเวลาการลงทุน 60 ปีของบัฟเฟตต์ เขาสามารถสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยราว 21% ต่อปี ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ทำได้เพียง 7% ก็ต้องนับว่าบัฟเฟตต์นั้นยังเป็นตำนาน บุคคลต้นแบบ และหนึ่งในสุดยอดของนักลงทุนชั้นนำที่โลกต้องจารึกไว้ และผมคิดว่าคำแนะนำเรื่องการลงทุนในกองดัชนีของบัฟเฟตต์ยังคงใช้ได้ดีในหลายสถานการณ์ในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดและผลการดำเนินงานของหุ้นรายตัวและรายกองทุนครับ

หากนักลงทุนท่านใดสนใจที่จะลงทุนในกองทุนหุ้นดัชนีตามคำแนะนำของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปัจจุบันก็สามารถเลือกซื้อกองทุนกับ บลจ. ต่างๆ ในประเทศไทยที่มีการลงทุนในดัชนี เช่น DJI(A) หรือ S&P 500 ของสหรัฐฯ ได้เช่นกันครับ ดูรายละเอียดได้ที่นี่


บทความโดย ดร.ธนพล ศรีํธัญพงศ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Investment Strategy, Research and Asset Allocation, Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth