ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Active Investment vs. Index Investment
เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงสไตล์การลงทุนก็มักจะหยิบยกสไตล์การลงทุนแบบเชิงรุกกับแบบเชิงรับขึ้นมา เนื่องจากนักลงทุนจะมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีคำถามเสมอว่าสไตล์การลงทุนแบบไหนสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน
การเลือกสไตล์การลงทุนเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการลงทุน เพราะถึงแม้ว่านักลงทุนจะมีรูปแบบการลงทุนที่เหมือนกัน แต่การเลือกสไตล์ที่แตกต่างกันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในระดับที่ต่างกัน
ลงทุนแบบเชิงรุก (
Active Investment)
นักลงทุนจะพยายามเลือกสินทรัพย์เฉพาะที่ดีที่สุดในการลงทุน ด้วยการเน้นสร้างผลตอบแทนมากกว่าความปลอดภัย ดังนั้น พอร์ตลงทุนจึงมักเต็มไปด้วยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงเช่นเดียวกัน จึงสังเกตเห็นว่าราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะมีความเคลื่อนไหวที่ผันผวนมาก เพื่อทำให้พอร์ตโดยรวมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด
หากต้องการจัดพอร์ตลงทุนสไตล์นี้ นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลหนักมากในการค้นหาสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ตลอดจนติดตามตลาดอย่างสม่ำเสมอและซื้อหรือขายตามสถานการณ์นั้น ๆ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมาก เพราะความเสี่ยงที่สูงของการลงทุนทำให้มีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญในการลงทุนแบบเชิงรุก คือ เวลาขาดทุน ต้องขาดทุนน้อยที่สุด แต่เวลากำไรต้องใช้โอกาสสร้างกำไรให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด
โดยกลยุทธ์การลงทุนจะใช้หลากหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อค้นหาสินทรัพย์ที่มีราคาถูกแล้วซื้อ จากนั้นจะทำการขายเมื่อราคาสินทรัพย์นั้นปรับเพิ่มสูงขึ้น หมายความว่า จะเน้นการจับจังหวะการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด
การลงทุนดัชนี ( Index Investment) หรือแบบเชิงรับ
นักลงทุนจะพยายามลงทุนโดยมีเป้าหมายให้พอร์ตลงทุนสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหลักทรัพย์ที่อ้างอิง โดยมีความเสี่ยงอยู่ในระดับเดียวกันกับดัชนีหลักทรัพย์ที่อ้างอิงนั้น ๆ จึงเป็นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายการจัดสรรทรัพย์สินลงทุน ตั้งเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน สภาพคล่องที่ต้องการในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น
ความแตกต่าง Active Investment กับ Index Investment
|
Active Investment |
Index Investment |
เป้าหมาย |
พยายามหาผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย นั่นคือ เอาชนะตลาด |
พยายามสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย |
ประสบความสำเร็จได้อย่างไร |
รับความเสี่ยงสูง มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์การลงทุนเพื่อรู้ว่าสินทรัพย์ไหนมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนดีที่สุด |
รับความเสี่ยงระดับค่อนข้างต่ำ และให้ความสำคัญกับการกระจายการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของดัชนีอ้างอิง |
คุณสมบัติอื่น ๆ |
มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก |
ได้รับผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกับตลาดโดยรวม |
สินทรัพย์เหมาะกับการลงทุน |
ได้ทุกประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ |
ได้บางประเภท เช่น หุ้นกลุ่มดัชนี SET50 กองทุนรวมดัชนี |
ที่มา : www.investopedia.com , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเลือกลงทุน
นักลงทุนที่เชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกว่าจะสามารถทำกำไรเหนือตลาดได้นั้น อาจใช้แนวทางในการจับจังหวะการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนการจัดสรรเงินทุนในการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) หรืออาจใช้แนวทางในการจับจังหวะการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (Sector Rotation)
ยกตัวอย่าง นักลงทุนอาจทำการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเมื่อคาดการณ์ว่าภาวะตลาดหุ้นกำลังเข้าสู่ภาวะขาลง รวมทั้งอาจทำการลดค่าเบต้า (ค่าเบต้า หรือ Beta เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่นักลงทุนนำมาพิจารณาในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง โดยหุ้นที่มีความปลอดภัยและมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดโดยรวม คือ หุ้นเบต้า ต่ำกว่า 1 เท่า) ของหุ้นที่ลงทุนลง ในทางตรงกันข้ามอาจทำการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเมื่อคาดการณ์ว่าภาวะตลาดหุ้นกำลังเข้าสู่ภาวะขาขึ้น
สำหรับการลงทุนดัชนีจะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบกลุ่มสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มหุ้นให้มีจำนวนและสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวใกล้เคียงกับกลุ่มหุ้นที่อยู่ภายใต้ดัชนีหุ้นที่ถูกมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิง เช่น ต้องการได้รับอัตราผลตอบแทนและยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับเดียวกันกับดัชนี SET50 ก็อาจตัดสินใจลงทุนในหุ้นทุกตัวที่อยู่ภายใต้การคำนวณดัชนี SET50 โดยกำหนดให้สัดส่วนของเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเท่ากับสัดส่วนของมูลค่าตลาดของ SET50 (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นทุกตัวในดัชนี SET50 ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงจึงอาจไม่เพียงพอต่อการกระจายการลงทุนในหุ้นทุกตัว นักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เลียนแบบดัชนี SET50 ได้ เพราะผู้จัดการกองทุนจะคอย Track กับดัชนีอ้างอิง นั่นคือ ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมีความใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง ซึ่งแล้วแต่ว่านโยบายว่าจะไป Track กับดัชนีอ้างอิงอะไร
ข้อดี ข้อด้อย
|
Active Investment |
Index Investment |
ข้อดี |
-มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ -ลงทุนได้กับสินทรัพย์ทุกประเภท -ปรับพอร์ตได้ตลอดเวลา |
-ต้นทุน ค่าใช้จ่ายการลงทุนต่ำ -ง่ายต่อการลงทุน -กระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ |
ข้อด้อย |
-ต้นทุน ค่าใช้จ่ายการลงทุนสูง -มีโอกาสขาดทุนได้ตลอดเวลาและเยอะมาก ๆ |
-ขาดโอกาสการทำกำไรสูง ๆ -ไม่มีความคล่องตัวในการจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ -ไม่สามารถลงทุนกับสินทรัพย์ได้ทุกประเภท -ถ้าผลตอบแทนตลาดโดยรวมปรับลดลง ผลตอบแทนพอร์ตก็ปรับลดลงด้วย |
ที่มา : www.sofi.com
การลงทุนเชิงรุกและการลงทุนดัชนี เป็นสองแนวทางหลักในการเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งแต่ละแบบจะมีข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนเงินเพื่อสร้างพอร์ตลงทุน สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นหาว่าเป้าหมายการลงทุนของตัวเองคืออะไรไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภท และอย่าลืมว่าไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเชิงรุกหรือการลงทุนดัชนีก็สามารถสร้างพอร์ตลงทุนที่แข็งแกร่งได้ หรือสามารถเลือกกลยุทธ์ลงทุนผสมผสานทั้งสองแบบไปพร้อม ๆ กันได้