5 คำถามเกี่ยวกับ “สตาร์ทอัพ” ที่คนอยากรู้

“สตาร์ทอัพ” อีกคำยอดฮิตในยุคนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ใครๆ ก็อยากเป็นสตาร์ทอัพ เพราะฟังดูแล้วรู้สึกคูล สะท้อนถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่รักความท้าทาย มีความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถึงแม้จะเป็นคำที่คนจำนวนมากคุ้นหูแต่ก็ยังมีอีกหลากหลายคำถามเกี่ยวกับสตาร์ทอัพที่คนอยากรู้หรืออยากเข้าใจคำนี้ให้ชัดเจนขึ้น แค่เบื้องต้นหลายคนยังสับสนว่า Startup สะกดยังไงกันแน่ ติดกันหรือแยกกัน จริงๆ แล้วสามารถสะกดได้สองแบบคือติดกัน Startup และ Start-up (เขียนแยกต้องมีขีดกลาง) จะเลือกสะกดแบบไหนเลือกตามที่สะดวก เรามาเริ่มทำความเข้าใจกับสตาร์ทอัพกับ 5 คำถามที่คนอยากรู้กันเลย


1.สตาร์ทอัพคืออะไร

สตาร์ทอัพที่ได้ยินกันบ่อยๆ แล้วรู้หรือไม่ว่าสตาร์ทอัพคืออะไร? จริงๆ แล้วมีผู้ให้คำนิยามสตาร์ทอัพอยู่หลายเวอร์ชั่น แต่รวมๆ แล้วสตาร์ทอัพ คือผู้ประกอบธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหรือความต้องการของตลาดโดยนำเสนอผลิตใหม่ๆ หรือกระบวนการให้บริการแบบใหม่ ที่เรียกว่าเป็น Innovation สตาร์ทอัพเหมือนเป็นบริษัทเล็กๆ ที่อาจมีเจ้าของคนเดียวหรือทำธุรกิจในรูปแบบ partnership ที่ถูกออกแบบให้เติบโตเร็วและสามารถลดหรือขยายขนาดได้ง่าย เรามักคุ้นเคยกับสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้เทคโนโลยีเสียเป็นส่วนมาก นั่นเป็นเพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะใช้เทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น internet, e-commerce, telecommunications หรือ robotics เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคใหม่มากขึ้น โดยกระบวนการจะเน้นการวิจัย การออกแบบ การทดลอง และการตรวจสอบยืนยันว่า innovation หรือสมมติฐานนั้นๆ สามารถใช้งานได้จริง

2.สตาร์ทอัพเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใครคือสตาร์ทอัพรุ่นแรกๆ

จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพเกิดขึ้นนานแล้ว เช่น บริษัท British East India ซึ่งอาจสามารถเรียกได้ว่า The pre-startup แต่ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพในยุคปัจจุบันมักมีการโยงถึง Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของ Tech company ในปัจจุบัน ตัวอย่างของสตาร์ทอัพรุ่นแรกๆ เช่น International Business Machines หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ IBM ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1911

su1

แต่ถ้าจะพูดถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1990 ในยุคที่เรียกว่า dot.com boom ที่คนเชื่อว่าเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ บริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเช่น Amazon, Netscape หรือ Google เองซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ที่จุดเริ่มต้นเป็นเพียงการทดลองแต่สุดท้ายเติบโตกลายเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนมากที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่สตาร์ทอัพทุกคนฝันอยากไปให้ถึง

3. เมื่อไหร่จะหมดความเป็นสตาร์ทอัพ (เปลี่ยนเป็น Enterprise)

จริงๆ แล้งคำถามนี้ยากที่จะตอบเพราะไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว อย่างเช่นสตาร์ทอัพบางรายอาจใช้เวลา 4 ปีในการเปลี่ยนเป็นเอ็นเตอร์ไพรซ์ ในขณะที่บางแห่งใช้เวลา 7-10 ปี ซึ่งอาจวัดจากรายได้สุทธิ ผลกำไร จำนวนพนักงานที่แตะถึงจุดหนึ่ง ได้มีผู้ตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสตาร์ทอัพนั้นๆ โตเกินกว่าจะเรียกว่าสตาร์ทอัพหรือไม่โดยใช้กฎ The 50-100-500 rule โดยผู้กำหนดเกณฑ์นี้คือ Alex Wilhelm โดยถ้าสตาร์ทอัพรายใดมีตัวเลขถึงหรือเกินจำนวนที่กำหนดก็ถือโตเกินกว่าที่จะเรียกว่าสตาร์ทอัพได้แล้ว

  • มีรายได้สุทธิเท่ากับหรือมากกว่า $50 ล้าน (ในรอบ 12 เดือน)
  • มีจำนวนพนักงาน 100 คนขึ้นไป
  • มีมูลค่าบริษัทเท่ากับหรือมากกว่า $500 ล้าน

4. สตาร์ทอัพต่างจาก SME อย่างไร?

ทั้งสตาร์ทอัพและ SME มีความคล้ายคลึงกันในแง่ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กคือมีผลประการไม่มากและมีพนักงานน้อย แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยแบ่งความแตกต่างออกได้ใน 3 มุม ได้แก่

INTENT : สตาร์ทอัพมีจดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่จะโตไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจเดิม (disruptive) ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการบริการแบบใหม่ๆ จนไปถึงการสร้างตลาดใหม่  ในขณะที่ SME ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง มีรายได้ที่มั่นคงในตลาดของตัวเอง (Local market)

FUNCTION : โครงสร้างองค์กรของสตาร์ทอัพเน้นโครงสร้างที่เป็นโมเดลที่นำไปทำซ้ำได้ ขยายหรือลดขนาดได้ โดยใช้กระบวนวิจัย การตั้งสมมติฐาน การทดลอง และประเมินผล นั่นแปลว่าสตาร์ทอัพนั้นๆ อาจประสบความสำเร็จกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ถ้าสมมติฐานที่ตั้งไว้ถูก แต่ถ้าสมมติฐานและการทดลองผิดพลาดอาจต้องล้มเลิกและต้องเริ่มต้นหาโอกาสหรือสมมติฐานใหม่ๆ   ในขณะที่ SME มีโครงสร้างองค์กรที่เน้นในเรื่องการส่งมอบคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ดังนั้นโครงสร้างองค์กรของ SME จึงไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆหรือต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

FUNDING : สำหรับสตาร์ทอัพเพื่อที่จะสามารถเติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการได้ ต้องมีการระดมหรือหาเงินทุน หาผู้ร่วมลงทุนทั้งการแชร์ผลกำไร หรือการหานักลงทุนมาลงทุนในโครงการ  ในขณะที่ SME เจ้าของธุรกิจจะดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองหาเงินทุนเอง ซึ่งอาจเป็นเงินทุนส่วนตัวหรือการกู้ยืมจากธนาคาร


5. สตาร์ทอัพหาเงินทุนอย่างไร

สตาร์ทอัพมีวิธีการหาเงินทุนอยู่หลักๆ 4 แบบ ได้แก่

1. Bootstrapping หรือการใช้เงินทุนของตัวเอง เป็นวิธีที่เหมาะสมในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่ยังไม่มีผลงานหรือผลลัพธ์ที่จะโชว์กับนักลงทุน

2. Crowdfunding เป็นอีกวิธีการที่เป็นที่นิยม และเหมาะสำหรับสตาร์ทอัพที่เริ่มมีชื่อเสียงมีผลงานที่สามารถแสดงได้ชัดเจน เจ้าของสตาร์ทอัพจะต้องแสดงรายละเอียดของธุรกิจ เป้าหมายทางธุรกิจ แผนการในการสร้างกำไร และจำนวนเงินทุนที่ต้องการพร้อมทั้งเหตุผลเพื่อแสดงบน crowdfunding แพลตฟอร์ม เมื่อมีผู้สนใจในแนวคิดและแผนงานเขาก็สามารถให้เงินทุนซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของการจ่ายเงินเพื่อสินค้าหรือบริการล่วงหน้า หรืออาจให้เปล่าในรูปของการบริจาค ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจและมีความเชื่อในความคิดของสตาร์ทอัพนั้นๆ สามารถร่วมสนับสนุนเงินทุนได้


3. Angel Investment คือ การหานักลงทุนที่มีความสนใจและมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยปกติมักจะมีการขอ proposals และมีการตรวจสอบก่อนการลงทุน นอกจากนั้นนักลงทุนอาจร่วมให้คำปรึกษาหรือเป็นเมนเทอร์ให้กับสตาร์ทอัพด้วย นักลงทุนมีส่วนอย่างมากในการช่วยสตาร์ทอัพที่โดดเด่นและมีศักยภาพ อย่างเช่น Google หรือ Yahoo ในอดีต การลงทุนในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่สตาร์ทอัพอยู่ในช่วงแรกของการเติบโต (early stages of growth) โดยนักลงทุนหวังผลกำไรถึง 30% จากเงินลงทุน และมักนิยมในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน

4. Venture Capital (VC) Venture capitals เป็นผู้บริหารเงินทุนและลงทุนอย่างมืออาชีพที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง มีความโดดเด่น นักลงทุนกลุ่มนี้มักออกจากการลงทุนเมื่อสตาร์ทอัพรายนั้นเติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือถูกซื้อจากนักลงทุนรายอื่น นอกจากให้เงินทุน VC ยังช่วยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยประเมินผลทั้งในแง่ของ sustainability and scalability อีกด้วย


จากคำถามทั้ง 5 ข้อคงทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าสตาร์ทอัพคืออะไร มีจุดริ่มต้นอย่างไร รวมทั้งมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบไหน การเป็นสตาร์ทอัพอาจฟังดูแล้วทันสมัย โก้เก๋ เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และฝันใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าทุกรายจะประสบความสำเร็จ เพราะผลการศึกษาพบว่า 90% ของ สตาร์ทอัพไปไม่ถึงฝั่ง แต่ถ้าคุณกำลังตัดสินใจเป็นสตาร์ทอัพก็อย่าทำให้ตัวเลขนี้ทำให้คุณถอยหลัง เพราะคุณอาจเป็นหนึ่งใน 10% ที่ประสบความสำเร็จก็ได้ และเราก็หวังว่าจะมีสตาร์ทอัพไทยบินไปไกลถึงระดับยูนิคอร์นในอนาคตอันใกล้นี้


อ้างอิง

https://www.growly.io/what-is-a-startup-the-historical-background/

https://starting-up.org/en/starting-up/introduction/startup-history/

https://www.business.com/articles/at-what-point-are-you-no-longer-a-startup/