SME ปรับตัวอย่างไร ในยุค New Normal

จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบในวงกว้าง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากความต้องการของสินค้าและบริการลดลง ส่งผลให้รายได้ลดลงในขณะที่รายจ่ายเท่าเดิม เกิดภาระหนี้สิน และขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า 1 ใน 3 ของ SME ทั้งหมดประสบภาวะขาดทุน โดย 1 ใน 5 ของ SME ที่ประสบภาวะขาดทุนนั้นได้ปิดกิจการลง
 

แม้ว่าทางภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการตาม พ.ร.ก. การช่วยเหลือทางการเงินแก่ SME ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 แล้วก็ตาม แต่การเยียวยาธุรกิจ SME ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายทิศทาง ทั้งนี้เพื่อให้ SME สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

1.นำเสนอสินค้าหรือบริการทางออนไลน์

เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น เพราะต้องการเข้าถึงสินค้าหรือบริการได้อย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าออนไลน์นอกจากจะเป็นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไว้แล้ว การโปรโมทสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ยังช่วยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การส่งข้อความถึงลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อแจ้งกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือข่าวสารจากร้านค้า จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าไว้ และยังช่วยสร้างโอกาสให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือใช้บริการเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย
 

2.พัฒนาธุรกิจให้เป็นอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ

เริ่มจากการปรับปรุงเนื้อหาบนเว็บไซต์โดยให้รายละเอียดสินค้าอย่างชัดเจนและครบถ้วน จนลูกค้ารู้สึกเหมือนได้มาดูสินค้าด้วยตนเอง การตรวจสอบสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบและการแสดงจำนวนคงเหลืออย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่ามีสินค้าพร้อมส่งในทันที การวิเคราะห์ตลาดและผู้บริโภคโดยใช้ข้อมูลทางสถิติเพื่อให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที การขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบติดตามการจัดส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้ในสภาพสมบูรณ์ หรือแม้แต่ช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือการใช้บริการในรูปแบบใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้บริโภค

3.สร้างพันธมิตรกับธุรกิจ SME รายอื่น

เป็นการช่วยเหลือกันและกันให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ เช่น ร้านอาหารเจรจาขอใช้บริการส่งสินค้าจาก SME ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ร้านอาหารมีรายได้มากขึ้นเพราะสามารถส่งอาหารได้รวดเร็ว ในขณะเดียวกันธุรกิจบริการส่งสินค้าก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากรอบส่งที่มากขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้การแบ่งปันความรู้ หรือทรัพยากรในกลุ่ม SME ก็นับว่าเป็นการช่วยกันพัฒนาธุรกิจ SME แบบองค์รวม เช่น ผู้ประกอบการแบ่งปันความรู้ในการสร้างเนื้อหาออนไลน์เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือการออกแบบเพื่อให้ภาพถ่ายแสดงจุดเด่นของสินค้าได้อย่างชัดเจน หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการมีพื้นที่ว่าง อาจเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาแสดงสินค้าโดยไม่คิดค่าเช่า


4.ปรับเปลี่ยนและเพิ่มรูปแบบธุรกิจ

ช่วยให้ธุรกิจ SME ผ่านวิกฤตไปได้ เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งของร้านอาหารให้เป็นตลาดขายสินค้า การนำสินค้าอุปโภคบริโภคแบบขายส่งมาขายปลีกเพื่อให้ราคาเหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภค การผลิตสื่อการสอนออนไลน์นอกเหนือจากชั้นเรียนปกติของโรงเรียนกวดวิชา การขยายเวลาเปิดให้บริการหรือการให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ตลอด 24 ชั่วโมง การทำงานที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเช่าออฟฟิศ

5.ศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสม่ำเมอ

ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ปรับกลยุทธ์ได้ทันท่วงที โดยอาจเก็บสถิติหรือข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ หรือการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าหลังจากซื้อสินค้าหรือใช้บริการ และคอยติดตามแนวโน้มตลาดว่าไปในทิศทางใดเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมสินค้าหรือบริการให้ตรงตามความต้องการ รวมทั้งสำรวจตัวเองด้วย 3 คำถาม เพื่อคิดริเริ่มสินค้าหรือบริการใหม่ๆ

  • ผู้บริโภคกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่หรือไม่
  • ผู้บริโภคมีความต้องการใหม่ๆ หรือจำเป็นต้องใช้สิ่งใดเพิ่มเติมหรือไม่
  • ธุรกิจ SME สามารถตอบสนองความต้องการ หรือช่วยแก้ปัญหาของผู้บริโภคได้อย่างไร


ไม่ว่าผู้ประกอบการ SME จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ควรตระหนักอยู่เสมอ คือ การเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และความสามารถในการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และด้วยความพร้อมดังกล่าวของผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก ก็ไม่ยากเกินจะรับมือ