50-30-20 สูตรบริหารเงิน

“เงินเดือนออกแล้ว พรุ่งนี้หลังเลิกงานไปไหนดี ระหว่างดูหนังกับอาหารร้านโปรด”


“เหนื่อยมาทั้งเดือน สุดสัปดาห์นี้ขอจัดรองเท้าคู่ใหม่สักคู่ เสื้อผ้าอีกชุด”


ชีวิตหลายคนอาจเป็นแบบนี้ นั่นคือ ทำงานหาเงิน รอเงินเดือนออก แล้วก็กิน เที่ยว ช้อป หากใครเป็นแบบนี้จะสังเกตได้ว่ามักลืมเรื่องการออมเงิน เพราะเน้นความสุขในช่วงที่ยังมีเงินให้จับจ่าย และความสุขจะลดลงตามเงินที่ลดลง


เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สามของเดือน นอกจากเงินร่อยหรอ บางคนยังเหลือภาระค่าใช้จ่ายอีกพอสมควร ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ หนี้บัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ และเมื่อถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก็เริ่มนั่งนับวันว่าเมื่อไหร่จะถึงวันเงินเดือนออก


หากต้องการมีเงินใช้จ่ายได้ทั้งเดือน ที่สำคัญมีเงินเหลือเก็บทุกเดือน ลองใช้สูตร 50 - 30 - 20 แบ่งสัดส่วนรายได้ตามหมวดหมู่ที่วางแผนเอาไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน คือ เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีก็จัดการแบ่งออกเป็น 3 ก้อน สมมติว่าเงินเดือน 20,000 บาท ก็แบ่งเป็น 10,000 บาท : 6,000 บาท : 4,000 บาท


อย่างไรก็ตาม เงินเดือนที่นำมาคิดควรเป็นเงินหลังหักภาษี เงินที่สมทบเข้าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นเงินที่หลังหักเข้าสู่ กบข.) และหลังหักเข้ากองทุนประกันสังคม แล้วค่อยนำมาแบ่งเป็นเงิน 3 ก้อน

ตัวอย่าง สูตร 50 - 30 - 20  จากเงินเดือน  20,000 บาท


ก้อนแรก 50% คือ 10,000 บาท

เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่น กินอยู่ ค่ากิน ค่าผ่อนรถ ผ่อนคอนโดมิเนียม จ่ายหนี้บัตรเครดิต รวมถึงให้พ่อแม่ โดยเงินก้อนนี้จะใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น (Needs) ต่อการดำรงชีวิต ไม่ใช่เพื่อความต้องการ (Wants) ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องแน่ใจว่าใช้จ่ายเพื่อความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ก้อนถัดมา 30% คือ 6,000 บาท

เป็นเงินสำหรับใช้เพื่อสร้างความสุข เช่น ทานอาหารนอกบ้าน ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเงินจ่ายเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง แต่ควรคิดให้รอบคอบว่าเพื่อความจำเป็นจริงๆ เช่น เมื่อเดือนที่แล้วซื้อรองเท้า 1 คู่ ดังนั้น อีก 5 เดือนนับจากนี้ก็ควรงดซื้อ หรือตั้งเป้าหมายว่าจะทานอาหารนอกบ้านไม่เกินเดือนละ 2 ครั้ง เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้จะทำให้การใช้จ่ายเงินอยู่ในงบประมาณที่วางเอาไว้


ก้อนสุดท้าย 20% คือ 4,000 บาท

เป็นเงินเก็บออม วิธีการ คือ แบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น 1,000 บาท เก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน, 1,000 บาท เพื่อเตรียมซื้อบ้าน อีก 2,000 บาทเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ


หลังจากนั้นเงินก้อนสุดท้ายนี้ควรนำไปเก็บออมไว้ตามความเหมาะสมของแต่ละเป้าหมาย โดยเงินเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินควรมีสภาพคล่องสูงในการนำออกมาใช้ยามจำเป็น เช่น เงินฝากออมทรัพย์ อีซี่ ที่เปิดบัญชีผ่านแอป SCB EASY ได้เลย หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เงินเพื่อซื้อบ้านควรนำไปซื้อกองทุนรวมผสม ส่วนเงินเพื่อวัยเกษียณควรซื้อกองทุนรวม RMF กองทุนรวมหุ้น เป็นต้น

วิธีการแบ่งเงินก็ให้หยิบสมุดมาสักเล่มแล้วจดบันทึกบันทึกรายรับ รายจ่ายแบบที่ตัวเองเข้าใจ ซึ่งเมื่อทำไปสักระยะก็จะรู้โดยอัตโนมัติว่าในแต่ละเดือนมีรายรับ รายจ่ายเท่าไหร่ ที่สำคัญจะรู้ว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไร และเงินที่เก็บออม ออกดอกออกผลไปถึงไหนแล้ว


โดยส่วนใหญ่เมื่อการใช้เงินลงตัว จะพบว่าเงินก้อนแรกและก้อนใช้จ่ายเพื่อความสุขจะค่อยๆ ลดลง แสดงว่ามีวินัยในการใช้เงินและเมื่อเงินเหลือก็จะนำไปลงทุนโดยอัตโนมัติ


การแบ่งเงินในแต่ละเรื่องให้ชัดเจนจะช่วยให้วางแผนการเงินและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น แต่ก็ควรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนสูตรได้ตามความเหมาะสมของอายุ รายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน รวมถึงเป้าหมายทางการเงิน เช่น ช่วงอายุน้อยๆ ใช้สูตร 60 : 25 : 15, เมื่อหน้าที่การงานมั่นคง เงินเดือนสูงขึ้นก็ปรับสูตรเป็น 50 : 30 : 20 และเมื่ออายุ 50 ปี ปรับเป็นสูตร 45 : 25 : 30 เป็นต้น


เมื่อหาเงินมาได้ หากจัดสรรปันส่วนให้เหมาะสมกับชีวิตทั้งการใช้เพื่อความจำเป็น สร้างความสุขและเก็บออมเพื่อความมั่นคงในระยะยาว ย่อมทำให้มีเงินใช้ไปตลอดและเกิดความยั่งยืนกับคุณภาพชีวิต