SKOOTAR ผู้พลิกโฉมแมสเซนเจอร์ไทยเพื่อคนไทย

“SKOOTAR” สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ผู้ให้บริการเรียกแมสเซนเจอร์ออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยการหาโซลูชั่นจากความต้องการของลูกค้าและเครือข่ายแมสเซนเจอร์ให้มาเจอกันพร้อมยกระดับมาตรฐานการบริการแบบมืออาชีพ รวดเร็ว ทันใจ ไร้ข้อผิดพลาด จึงทำให้ SKOOTAR สามารถเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวจริงของสนามผู้ให้บริการแอปแมสเซนเจอร์ในไทยท่ามกลางผู้เล่นจากต่างประเทศได้สำเร็จ ม.ล. กมลพฤทธิ์ ชุมพล (คุณโก้) CEO จาก SKOOTAR จะมาแชร์วิธีคิดในการบุกเบิกธุรกิจ ตลอดจนการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

รู้จัก SKOOTAR ยกระดับแมสเซนเจอร์ไทยให้เป็นมือโปร

SKOOTAR บริการเรียกแมสเซนเจอร์ออนไลน์ เป็นสตาร์ทอัพของไทย ก่อตั้งโดย บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด เริ่มพัฒนาตั้งแต่กลางปี 2014 โดยพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนมือถือที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายแมสเซนเจอร์ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้บริการในการ รับ-ส่งเอกสาร เก็บเช็ค วางบิลหรือส่งของอื่นๆ ภายในหนึ่งวัน สามารถเรียกใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ด้วยราคาที่เป็นมาตรฐาน คำนวณตามระยะทางจริง พร้อมมีระบบติดตามความคืบหน้าและประเมินผลงานของพนักงาน เพื่อผู้ใช้บริการได้คนขับที่ดีที่สุดเท่านั้น รวมถึงมีการประกันอุบัติเหตุและประกันของเสียหาย ชำระเงินสะดวกผ่านหลายช่องทาง รวมถึงมีระบบวางบิลสำหรับลูกค้าบริษัทและมีการออกใบเสร็จให้ทุกครั้งที่ใช้บริการ สนใจบริการดูที่นี่ SKOOTAR

เริ่มต้นจาก Pain Point สู่ธุรกิจแมสเซนเจอร์ไทย

จุดกำเนิดของสตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่าง SKOOTAR  คุณโก้เล่าว่า เริ่มต้นจากคุณโก้และหุ้นส่วนอีกสองคน มองเห็นปัญหาว่า SMEs จำนวนมากมักมีงานด้านเอกสาร  ทั้งรับ-ส่งเอกสาร วาง-รับบิล  รับเช็ค  การส่งรายงาน  ซึ่งหากมองดูผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กแต่สำหรับ SMEs นั้นเป็นเรื่องใหญ่  เพราะถ้าหากวางบิลไม่ทันกำหนดก็ส่งผลให้ได้รับเงินช้าหรืออาจต้องรอกำหนดรอบวางบิลเดือนถัดไป  ซึ่งการรักษากระแสเงินสดสำหรับธุรกิจ SMEs เป็นสิ่งที่สำคัญ


SMEs ส่วนใหญ่จึงต้องหาทางออกด้วยการมีแมสเซนเจอร์เจ้าประจำ เพื่อเรียกใช้งานจะได้ลดข้อผิดพลาดและเข้าใจในระบบไม่ต้องคอยสอนงานใหม่อยู่เรื่อย รวมถึงต้องไว้ใจได้ สามารถติดตามคนขับว่าทำงานไปถึงไหน สำเร็จหรือไม่ แต่ก็ยุ่งยากที่จะหาแมสเซ็นเจอร์เก่งๆ ได้สักคน และคนเก่งงานมักชุกทำให้เวลามีเรื่องส่งเอกสารด่วนคิวอาจไม่ได้ตามที่ต้องการทำให้ต้องปวดหัวอยู่บ่อยๆ  ขณะที่อาชีพแมสเซนเจอร์ก็มีปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอของงาน  บางวันลูกค้าเยอะ บางวันลูกค้าน้อยหรือไม่มี ทำให้รายรับไม่แน่นอนหรือบางทีต้องไปส่งเอกสารไกลแต่ขากลับต้องวิ่งตีรถเปล่าทำให้ไม่คุ้มกับการรับงาน  จากปัญหาของทั้งฝั่งลูกค้าและแมสเซนเจอร์จึงเป็นที่มาของ SKOOTAR 

การเริ่มธุรกิจนอกจากจะต้องหาโซลูชั่นเพื่อแก้ไข Pain Point แล้ว ยังต้องโฟกัสกลุ่มค้าให้ตรงจุดอีกด้วย  สำหรับ SKOOTAR พยายามหาช่องทางเจาะตลาดแมสเซนเจอร์ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้เล่นหลัก คือ บริษัทแมสเซนเจอร์แบบดั้งเดิม และสองคือกลุ่มแฟลตฟอร์มจากต่างชาติ แต่สำหรับ  SKOOTAR  ไม่ได้เกรงกลัวต่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เลย เพราะมองเห็นว่าลูกค้าหลักโฟกัสไปที่ธุรกิจ SMEs  ซึ่งเป็นงานรับ-ส่งเอกสาร ที่ต้องการความชำนาญโดยเฉพาะ และ SKOOTAR สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาให้ลูกค้า SMEs ได้ตรงจุด 


เมื่อธุรกิจตั้งไข่ได้ SKOOTAR จึงเริ่มขยายฐานลูกค้าออกไปจนตอนนี้มีกลุ่มลูกค้าหลักทั้งสิ้น  4  กลุ่มได้แก่  กลุ่มแรก คือ ลูกค้า SMEs ที่เน้นงานเอกสาร   กลุ่มสอง คือ ลูกค้า e-Commerce  เน้นส่งสินค้าด่วน  กลุ่มสามคือ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่และกลุ่มสี่ คือ ลูกค้าทั่วไป   โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้บริการรับ-ส่งเอกสารมีประมาณ 40%  ส่งพัสดุ  40% และส่งอาหาร  20%  เพราะการวางรากฐานและก้าวไปทีละก้าวจนมั่นใจจึงทำให้ SKOOTAR ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง

เส้นทาง SKOOTAR ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แน่นอนว่าถนนสายสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักเจอกับเรื่องราวที่ต้องฝ่าฟัน ผ่านขวากหนามทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้จดจำ  SKOOTAR ก็เช่นเดียวกัน  คุณโก้เล่าว่า  ตอนเปิดตัวใหม่ๆ 1 – 2 เดือนแรกไม่มีลูกค้าเลย  ตอนนั้นเป็นเพียงแค่เว็บไซต์ยังไม่มีแอปพลิเคชัน  เมื่อไม่มีลูกค้าจึงสู้ด้วยการทดลองทำโฆษณาและการตลาด  ปรากฏว่าได้ผล  เริ่มมีลูกค้าทดลองใช้ ในตอนนั้นจึงรีบสอบถามลูกค้าเพื่อดูฟีดแบคการให้บริการว่าเป็นอย่างไร แล้วนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเริ่มต้นอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็ปรับไปเรื่อยๆ ค่อยเติบโตทีละนิดจนตอนนี้  SKOOTAR ให้บริการมากว่า  5  ปีแล้ว


เมื่อถามว่ามีเคล็ดลับในการทำให้เติบโตอย่างไร  คุณโก้แนะนำว่า  ต้องคิดอยู่เสมอว่าเงินทุนไม่เยอะ  ดังนั้นต้องโฟกัสไปที่ปัญหาของลูกค้าว่าแก้ตรงจุดหรือไม่  ฟังเสียงของลูกค้าให้มาก  ปรับเปลี่ยนให้เร็ว ฟีดแบคของลูกค้าหรือแมสเซนเจอร์ เหมือนไฟฉายที่คอยส่องให้เห็นว่าเดินมาถูกทางหรือเปล่า  ควรไปต่อหรือปรับเปลี่ยนอย่างไร  ตรงไหนต้องพัฒนา  อย่าง SKOOTAR มีการเก็บ Data ทำให้เห็นข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างเช่น  จากเดิมที่มีแต่มอเตอร์ไซค์ก็เพิ่มบริการรถสี่ล้อ ด้วยการจับมือกับสหกรณ์แท็กซี่เพื่อรับสมัครคนขับรถยนต์ เนื่องจากเห็นสัญญาณบางอย่างว่ามีความต้องการ หรือน่าจะขยายบริการไปยังหัวเมืองใหญ่ตามต่างจังหวัด  ส่วนทีมแมสเซนเจอร์ก็ดูแลพวกเค้าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งการให้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่  การทำประกันชีวิต  เป็นต้น

จุดเด่น SKOOTAR

การเติบโตของ SKOOTAR อาจไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจอื่นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อถามว่าอะไรคือจุดเด่นทำให้สามารถยืนอยู่ท่ามกลางสนามแมสเซนเจอร์ที่มียักษ์ใหญ่ต่างชาติเข้ามายึดหัวหาด คุณโก้ตอบว่าเพราะคุณภาพบริการที่มีมาตรฐาน แมสเซนเจอร์ของเราจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเพราะก่อนจะออกไปปฏิบัติงานจริงต้องผ่านการฝึกอบรม และต้องสอบให้ได้ 100% จึงจะปฏิบัติงานได้ ส่วนตัวแอปพลิเคชันยังออกแบบให้ใช้งานง่ายทั้งผู้ใช้และแมสเซนเจอร์ มีฟีเจอร์ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม SMEs ที่ต้องการติดตามสถานะ ส่งงานหลายจุด หรืองานเอกสารที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ทำให้ลดข้อผิดพลาดในการจัดส่งเอกสารหรือแทบไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์คนขับคนโปรดเพื่อกระตุ้นให้แมสเซนเจอร์ตั้งใจทำงานรับผิดชอบต่องาน เพราะถ้าหากมีลูกค้าประจำแล้วย่อมมีรายได้สม่ำเสมอ ส่วนลูกค้าก็สบายใจเรียกใช้งานได้สะดวกไม่ต้องกังวลใจเพราะเข้าใจกันหรือไม่ต้องสื่อสารกันใหม่ มีระบบให้คะแนนการบริการเพื่อควบคุมคุณภาพบริการโดยหากคนขับที่ได้รับคะแนนสูงโอกาสที่ระบบจะโชว์ให้ลูกค้าเห็นก่อนมีมากกว่า ทำให้คนขับต้องปรับปรุงบริการของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันคะแนนเฉลี่ยการให้บริการทีมแมสเซนเจอร์ของ SKOOTAR อยู่ที่ 4.9 จากคะแนนเต็ม 5 ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีที่สุดจากมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีบริการครอบคลุมทั้งงานเอกสาร รับส่งพัสดุ ส่งอาหาร และมีทีมแมสเซนเจอร์มืออาชีพกว่า 10,000 คนที่พร้อมให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ท็อปฟอร์มแมสเซนเจอร์ สร้างรายได้เดือนละ 40,000 บาท 

อาชีพแมสเซนเจอร์หลายคนอาจคิดว่ารายได้ไม่มากไม่น่าเกิน 25,000 บาทต่อเดือน  แต่คุณโก้ให้ข้อมูลว่ารายได้ของแมสเซนเจอร์ที่เป็นระดับท็อปฟอร์ม สามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละ 40,000 บาท เมื่อถามว่ามีเทคนิคอะไรที่ทำให้มีรายรับสูงขนาดนั้น คุณโก้เล่าว่าจาก Data จะพบว่าแมสเซนเจอร์ที่ได้รับเงินมากมาจากปัจจัยหลายอย่างได้แก่  ขี่รถทุกวันไม่มีวันหยุด ขยันรับงานมากกว่า 8 ชั่วโมง/วัน  บริการดีมีคุณภาพผูกใจลูกค้าจนมีขาประจำเป็นจำนวนมาก    มีทักษะส่งของที่หลากหลายทั้งงานเอกสาร  ส่งพัสดุ  ส่งอาหาร  เพราะงานแต่อย่างใช้ทักษะไม่เหมือนกัน  สุดท้ายแล้วคือ ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน  ขอให้ขยันทำงานก็สามารถมีรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน  


รายได้ดีขนาดนี้หากสนใจสมัครเป็นแมสเซนเจอร์ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร  คุณโก้บอกว่า  SKOOTAR เปิดรับทุกคนจะมีประสบการณ์หรือไม่ก็ได้  ขอแค่มีมอเตอร์ไซด์สำหรับวิ่งงาน  มีโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์   ไม่มีประวัติคดีร้ายแรง มารยาทดี มีใจรักบริการก็สามารถมาร่วมเป็นทีมของ SKOOTAR  ดูรายละเอียดเพิ่มเติม -ที่นี่-  https://driver.skootar.com/

แนวโน้มการเติบโตธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่

ในช่วงโควิดธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่เฟื่องฟู  ผู้บริโภคหันมาใช้บริการสั่งอาหารเป็นจำนวนมาก SKOOTAR ในฐานะผู้ให้บริการแมสเซนเจอร์ของไทยย่อมได้รับอานิสงค์จากเหตุการณ์นี้เช่นกัน  คุณโก้เล่าว่า เรียกได้ว่ามีทั้งวิกฤตและโอกาส  อย่างกลุ่มลูกค้าหลัก SMEs  ที่ใช้บริการรับ-ส่งเอกสาร แน่นอนว่าลดลงอย่างมากเพราะบางบริษัทก็ปิดตัวลง  บางบริษัทไม่มีงานทำอย่างบริษัททัวร์ที่เมื่อก่อนต้องออกไปรับเอกสารของลูกทัวร์  เมื่อถูกล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด   ส่วนกลุ่มลูกค้า e-Commerce ยอดการใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบเพราะคนส่วนใหญ่ยังช้อปออนไลน์อยู่   สำหรับฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทาง SKOOTAR  ได้เปิดบริการมาประมาณ 2 ปีช่วงโควิดทำให้เห็นสัญญาณว่ามีคนใช้บริการเพิ่มมากขึ้น  ทำให้ธุรกิจสามารถบาลานซ์พอร์ตลูกค้าได้ แม้กระทั้งแมสเซนเจอร์ที่เมื่อก่อนรับส่งแต่งานเอกสารก็ยังต้องปรับตัวหันมาส่งฟู้ดเดลิเวอร์รี่แทน    


 เมื่อให้มองแนวโน้มการเติบโตของฟู้ดเดลิเวอร์รี่   คุณโก้มองว่า มีโอกาสเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเคยชินกับการสั่งอาหารมากินที่บ้าน  ธุรกิจเริ่มมีช่องว่างทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ที่มองเห็นปัญหาจากจุดนี้  อย่าง SCB ที่ได้เปิดตัว  Robinhood แอปสั่งฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ไม่มีค่าสมัคร  ไม่คิดค่า GP (Gross Profit)  ร้านอาหารจะได้รับเงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ทำให้สามารถขายอาหารที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม ส่วนลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารและค่าส่งตามจริงไม่มีบวกเพิ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  และทาง  SKOOTAR ได้รับโอกาสให้มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ SCB ในการส่งฟู้ดเดลิเวอร์รี่กับ Robinhood  นับได้ว่าเป็นการจับมือที่ถูกคู่ของสตาร์ทอัพสัญชาติไทย อย่าง SKOOTAR  และ Robinhood  แอปไทยเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง   ดู Robinhood ได้ -ที่นี่-  

How to สร้าง Startup อย่างไรให้สำเร็จ

ประสบการณ์ที่เริ่มต้นนับหนึ่งจากการเป็นสตาร์ทอัพไทยทำธุรกิจมากว่า 5 ปี  คุณโก้ได้แชร์ว่า การทำสตาร์ทอัพแบ่งออกเป็น  3 ส่วนคือ   Start : เริ่มด้วยการฟังเสียงกระซิบจากลูกค้าว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร จากนั้นจึงคิดสินค้าหรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหา หากสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตมีมาก  และใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาแบ่งเบาภาระให้ลูกค้า  จากนั้นควรเลือกทีมงานให้เหมาะกับประเภทธุรกิจ  และต้องโฟกัสกลุ่มลูกค้าเพราะเงินทุนไม่หนาดังนั้นต้องจับลูกค้าให้ถูกจุด หาลูกค้าให้เจอ    Stop : ลดความกลัวยักษ์ใหญ่ที่เงินทุนหนา แต่ให้มองหาโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจ   Continue : อย่ายึดติดกับดักความสำเร็จเดิม  พอเริ่มอยู่ตัวแล้วก็ต้องปรับปรุงสินค้าและพัฒนาบริการตลอดเวลา และสุดท้ายต้องบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ ก็จะทำให้สตาร์ทอัพไปต่อได้  


ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานการบริการของแมสเซนเจอร์ผ่านแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นมาเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง “SKOOTAR” สตาร์ทอัพสัญชาติไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมาก ขอแค่มีไอเดียสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาให้ถูกจุด วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้เจอ  โอกาสที่สตาร์ทอัพไทยจะกลายเป็นยูนิคอนได้ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน.  ดูย้อนหลังทาง Facebook SCB Thailand  ได้  -ที่นี่-  
 

ขอบคุณรูปภาพ  www.skootar.com

 

ที่มา :  SCB TV ซีรีส์  START NEVER GIVE UP: SKOOTAR ผู้พลิกโฉมแมสเซนเจอร์ไทยเพื่อคนไทย โดย ม.ล. กมลพฤทธิ์ ชุมพล