ข้อควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

การลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ดังนั้น หากให้ภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนฝ่ายเดียวอาจไม่คล่องตัว ด้วยเหตุนี้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนสถาบัน


โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งคล้ายกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆ เพียงแต่เมื่อได้เงินจากการขายหน่วยลงทุน (เหมือนเปิดขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั่วไป) ก็นำไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน 10 ประเภท ได้แก่ ระบบขนส่งทางราง, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน, สนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ


สำหรับการจัดตั้งกองทุน เริ่มจากผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ต้องติดต่อไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แล้วร่วมกันวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุน จากนั้นก็ยื่นเอกสารเพื่อขออนุมัติจัดตั้งกองทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)


เมื่อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานถูกจัดตั้งแล้ว บลจ.จะทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน โดยเงินที่ระดมทุนได้จากนักลงทุนจะนำไปลงทุนทางตรง คือ ลงทุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่า สิทธิในการจัดหาประโยชน์ส่วนแบ่งรายได้ หรือลงทุนในหุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ของบริษัทที่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน 

ซื้อที่ไหน ซื้อแล้วได้อะไร

หากสนใจซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทำได้ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกถ้าซื้อช่วงที่ทำการเสนอขายครั้งแรก (IPO) สามารถซื้อได้กับ บลจ.ที่บริหารจัดการจัดการกองทุนนั้น, ธนาคารพาณิชย์หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย   


โดยเมื่อหมดช่วง IPO กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป ดังนั้น ช่องทางที่สองหากซื้อไม่ทันช่วง IPO ก็ต้องซื้อบนกระดานหุ้น หมายความว่าต้องมีบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการจัดตั้งจากสำนักงาน ก.ล.ต. รวม 7 กองทุน และทั้งหมดซื้อขายบนกระดานหุ้น


สำหรับผลตอบแทนที่นักลงทุนมีโอกาสจะได้รับเมื่อลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมี 2 รูปแบบ คือ กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) กับเงินปันผล (Dividend) อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนมักมองผลตอบแทนจากเงินปันผล เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าหากกองทุนมีรายได้หรือกำไร ต้องนำไปจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนขั้นต่ำ 90% ของกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio ไม่น้อยกว่า 90%) เช่น ปี 2561 กองทุนมีกำไรสุทธิ 100 บาท ต้องนำไปจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 90 บาท โดยกองทุนต้องจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละครั้ง หรืออาจกำหนดจ่ายปีละหลายครั้ง เช่น จ่ายทุกไตรมาส (ปีละ 4 ครั้ง) หรือจ่ายทุก 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง) ก็ได้


ขณะเดียวกัน ธรรมชาติของกองทุนรวมซึ่งเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว และกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนเข้าลงทุนจะมีผลประกอบการที่ชัดเจนและไม่ค่อยผันผวน นักลงทุนจึงคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอมากกว่ากำไรจากส่วนต่างราคา ส่งผลให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีความผันผวนไม่มากนัก จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงที่ควรพิจารณาก่อนลงทุน เช่น กองทุนอาจมีความไม่แน่นอนของรายได้เพราะขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน เนื่องจากอาจมีปัจจัยที่มากระทบต่อการดำเนินการของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หากกองทุนลงทุนในโครงการที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ (Greenfield Project) ในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมอาจมีผลให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของกองทุนตํ่าได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่เริ่มดำเนินการที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือนโยบายการลงทุนของกองทุน มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Diversification) ในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ หรือไม่ อย่างไร


อีกทั้ง นโยบายกับนักลงทุนแต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง เสนอขายให้รายใหญ่ รายย่อยอย่างไร ต้องทำความเข้าใจกับสิทธิและข้อจำกัดของหน่วยลงทุนแต่ละประเภท แม้กระทั่งหลังจากเข้ามาซื้อขายบนกระดานแล้วมีความสภาพคล่องหรือไม่ 

 

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

 

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้บริหารจัดการกองทุน

มาร์เก็ตแคป

(ล้านบาท)

โทรคมนาคม ดิจิทัล

(DIF)

บลจ.ไทยพาณิชย์

171,555.00

ระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF)

บลจ.บัวหลวง

64,825.60

บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน

(JASIF)

บลจ.บัวหลวง

63,800.00

เพื่ออนาคตประเทศไทย

(TFFIF)

บลจ.กรุงไทย

58,953.00

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF)

บลจ.กรุงไทย

27,737.15

โรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์

(ABPIF)

บลจ.กสิกรไทย

3,840.00

โรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์

(BRRGIF)

บลจ.บัวหลวง

3,430.00

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ข้อมูล ณ 7 สิงหาคม 2562)


ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องประเมินตัวเองว่าเหมาะสมกับการลงทุนที่ความเสี่ยงระดับใด และทำความเข้าใจลักษณะกองทุนที่สนใจก่อน โดยศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน รายละเอียดของกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนจะลงทุน ปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าผลตอบแทนของกองทุนขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร นโยบาย เงินปันผล ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น