ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Soft Loan เติมกระสุนสภาพคล่อง ให้ SME ไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย
จากเด็กชาวบ้านที่การศึกษาน้อยจบแค่ ม.3 ที่มีเพียงแม่เป็นเสาหลักของครอบครัว ผู้ไม่มีต้นทุนชีวิตมากมายเหมือนหลายคนๆ แต่สามารถผลักดันตัวเองมาไกลจนกลายเป็นเจ้าของบริษัทและโรงงานผลิตขนมปังและเบเกอรรี่ที่มียอดขายหลักหลายล้านบาทต่อเดือน รวมทั้งสามารถขยายโรงงานใหม่ที่ได้มาตรฐาน ทันสมัยและมีกำลังการผลิตสูง เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร มาฟังวิธีคิดในการทำงานและวิธีการในการฝ่าวิกฤต จากคุณไพโรจน์ ชุดสว่าง กรรมการผู้จัดการ บจ.สยาม โก อินเตอร์ ฟูดส์ ผู้ผลิตขนมปังและเบเกอรี่มากว่า 15 ปี ภายใต้แบรนด์ปังฮอทที่ขายส่งทั่วประเทศ รวมทั้งรับจ้างผลิต OEM ขนมปังให้กับแบรนด์ชื่อดังหลายเจ้าที่ขายใน Modern Trade และยังมีเป้าหมายในการขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
จากพ่อค้าขายขนมปังตามตลาดนัด สู่เจ้าของแบรนด์ขนมปังขายส่งทั่วประเทศ
คุณไพโรจน์เล่าว่าเขาเป็นคนชอบขายของและชอบเก็บออมตั้งแต่เล็ก ด้วยการที่ต้องเสียคุณพ่อไปตั้งแต่อายุยังน้อย เหลือเพียงคุณแม่ที่เป็นเสาหลัก คุณแม่ทำข้าวต้มมัดขายโดยมีเขาเป็นคนนำไปเดินขายตามบ้าน วันหยุดก็รับจ้างทำงานอื่นๆ เพราะเป็นคนชอบขายของและชอบเก็บออม และนั่นเป็นพื้นฐานให้เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
เริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จากการรับขนมปังของคนอื่นมาขายตามตลาดนัด แต่ทุนน้อยจึงต้องใช้เงินหมดไปกับการซื้อของ ถึงจะขายดีแต่ส่วนต่างกำไรเหลือน้อย จึงเกิดความคิดที่จะทำขนมปังของตัวเองขาย โดยศึกษาจากตำราแล้วมาหัดทำ แรกๆ ทำไปก็ใช้ไม่ได้ต้องทิ้งเป็นร้อยครั้งเพราะไม่มีประสบการณ์ แต่ก็พยายามทำทุกวันๆ จนดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะอยากให้ขนมออกมาดีที่สุด จากการไม่ย่อท้อจนในที่สุดขนมปังไส้แรกคือไส้สังขยาก็ประสบความสำเร็จ แล้วตามมาด้วยไส้เผือก จึงนำไปขายรวมกับของเดิมที่รับมาขายประมาณ 30 ชนิด ลูกค้าติดใจในรสชาติจนลูกค้ามาถามว่าทำไมไส้สังขยาและไส้เผือกอร่อยกว่าไส้อื่นๆ พอทำเองได้มากขึ้นจึงหยุดรับและทำขายเองทั้งหมดโดยได้รับผลตอบรับดีมาก แบรนด์แรกที่ทำชื่อแบรนด์ฮ่องเต้ ขายใน 7 จังหวัด ทำเองขายเองที่ตลาดนัดและขับรถซาเล้งขาย ขายตลาดนัดแค่หยิบใส่ถุงให้ลูกค้าก็ทำไม่ทันแล้ว จึงพยายามหาไอเดียลดขั้นตอนทำให้เร็วขึ้น โดยมีที่คีบวางไว้ให้ลูกค้าเลือกตามชอบใจ ทำให้สินค้าขายดีขึ้นอีก ตอนนั้นยอดขายก็ใช้ได้ในระดับนึงแต่ก็คิดว่าอยากให้เติบโตมากกว่านี้ โดยการขยายตลาด จากเดิมวันละ 1 ตลาดนัด เพิ่มเป็น 13-15 ตลาดนัดต่อวัน โดยการจ้างลูกจ้างมาขาย แต่มีปัญหาเรื่องการควบคุมและบริหารการขายไม่ได้มาตรฐาน ลูกน้องไม่ตั้งใจขายเหมือนขายเอง ทำให้สินค้าเหลือเยอะ กลายเป็นว่าขายไปเหมือนจะขาดทุน จึงหาช่องทางใหม่โดยขายตามร้านโชห่วย ซึ่งใหม่ๆ ก็ขายดีมาก ดีกว่าขายตลาดนัดหลายเท่า เริ่มจากรถ 1 คันเป็นรถ 7 คัน เพราะอยากขายให้เยอะขึ้นแต่ก็เจอปัญหาเรื่องพนักงานเหมือนเดิมเพราะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารลูกน้อง ขายไปก็เหมือนยอดขายจะตกลงเพราะไม่มีการจัดการที่ดี ต่อมายกเลิกแบรนด์ฮ่องเต้แล้วเปลี่ยนเป็นแบรนด์ปังฮอท ที่เน้นขายส่งทั่วประเทศแทน โดยปังฮอทมีประมาณ 30 ไส้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเพราะคัดสรรวัตถุดิบที่ดี ผลิตขนมปังที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
จากโรงงานใต้ถุนบ้าน สู่โรงงานทันสมัยที่สามารถผลิตได้เป็นแสนชิ้นต่อวัน
โรงงานที่เก่าแรกเริ่มเป็นบ้านเล็กๆ ทำกันใต้ถุนบ้านและโรงรถแล้วก็ขยายมาเป็นโรงงานที่หน้าบ้านขนาด 100 กว่าตารางเมตร ต่อมาธุรกิจโตขึ้นเรื่อยๆ โรงงานเก่าก็ดูคับแคบ จึงมีเป้าหมายว่าอยากมีโรงงานที่ใหญ่ทันสมัย ได้มาตรฐานและสามารถสู้กับคู่แข่งได้ สามารถเข้า Modern Trade เป็น OEM รับจ้างผลิตให้แบรนด์ใหญ่ๆ ได้ ซึ่งผลจากนิสัยตั้งแต่เด็กที่ชอบเก็บออมทำให้มีเงินทุนในการสร้างโรงงานใหม่ คุณไพโรจน์เล่าว่าเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ลงทุน อีกส่วนหนึ่งไว้ใช้ ด้วยการที่เป็นคนมีการศึกษาน้อยจึงดูแบบอย่างจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ บวกกับการอ่านหนังสือ
มีวิกฤตมาหลายครั้งก็รอดมาได้เพราะเงินออม ได้มีโรงงานใหม่อย่างปัจจุบันก็เพราะเงินออม และยังมีแผนที่จะก้าวไปทำผลิตภัณฑ์อื่นภายใต้แบรนด์ปังฮอทเพิ่มเติม ซึ่งปังฮอทเป็น แบรนด์ที่โตได้เร็วเพราะตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี สามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ โดยเน้นขายส่งให้ลูกค้าไปทำกำไรเพิ่มมีต้นทุนที่ไม่เยอะมากทำให้ลูกค้าโตไปด้วยกันและที่สำคัญรวยไปด้วยกัน “ลูกค้าเติบโต โรงงานก็เติบโต โรงงานไม่ทิ้งลูกค้าเดินเคียงคู่กันไปเรื่อยๆ” คุณไพโรจน์กล่าว
ทำธุรกิจต้องมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
แนวคิดหลักของคุณไพโรจน์คือ ต้องการขายของให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าขายของที่เดียวก็ได้ร้านเดียว เช่นกันกับการวางเบ็ดตกปลา ถ้าวางเบ็ดคันเดียวก็ได้ปลาแค่ตัวเดียว แต่ถ้าวางเบ็ด 50 คัน ยังไงก็ได้ปลามากกว่า 1 ตัวแน่นอน การทำธุรกิจก็เช่นกัน โดยในการทำธุรกิจจะตั้งเป้าไว้ตลอดและเป้าต้องโตขึ้นเรื่อยๆ “เราทำธุรกิจเราต้องมีเป้าหมาย ที่ผ่านมาพุ่งชนเป้าหมายสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง เป้าที่เราตั้งไว้ต้องพยายามขึ้นไปให้ได้ พอถึงเป้าหมายก็จะมีเป้าหมายลำดับต่อไปเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ เป้าไม่มีคำว่านิ่ง” คุณไพโรจน์เล่าถึงวิธีคิดและกลยุทธ์ในการทำให้ธุรกิจเติบโต โดยเป้าจะตั้งจากยอดขาย เช่น วันนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 1 ล้านบาทต่อวัน อีกสองปีอาจจะเป็น 3 ล้านบาทต่อวัน ถ้าเป้าเป็นหลักล้าน ก็ต้องขยับเป็นหลักสิบล้าน เป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน โดยอาจหาช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่ม มีสินค้าให้มากขึ้น เริ่มแรกจากตัวเองทำคนเดียวใช้แป้ง 1 กิโลกรัมต่อวัน จนวันนี้ใช้แป้งประมาณตันกว่าต่อวัน และมีมาตรฐานมากขึ้น ที่เติบโตมาได้ทุกวันนี้จากคนที่จบเพียงแค่ ม.3 เพราะมีเป้าหมาย กระตือรือร้นตลอดเวลา และที่สำคัญเรียนรู้ตลอดเวลา “คำว่าเรียนรู้ไม่มีคำว่าสิ้นสุดเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ” คุณไพโรจน์กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการตั้งเป้าหมาย
เป้าหมายระยะยาวคืออยากให้แบรนด์อยู่ในใจของคนไทย ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยากทำแฟรนไชน์และอยากส่งออก เป็นแบรนด์ที่ขายได้ในหลายๆ ประเทศ อยากทำของที่เป็นเอกลักษณ์โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ให้เป็นของฝากที่คนรู้ว่ามีชื่อเสียง กำลังคิดจะนำสินค้าที่มีในสมทุรสงครามมาแปรรูปเป็นขนมปัง โดยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเพื่อเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงของจังหวัดต่อไป
โควิดมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร
พอมีวิกฤตโควิดเข้ามาก็พยายามทำทุกรูปแบบ ตั้งแต่ขายออนไลน์ ขายส่ง เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากช่วงโควิด ซึ่งในภาพรวมโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบมาก โรงงานทำงานปกติทุกอย่าง พนักงานไม่หยุดงาน แต่ยอดขายตกลงไปประมาณ 20% สาเหตุที่ยอดตกคือพวกห้าง Modern Trade ปิด OEM ก็สั่งงดการผลิตเพราะว่าห้างปิดไม่สามารถขายสินค้าได้ แต่ปังฮอทยังขายได้ ถึงแม้ยอดจะมีตกบ้างนิดหน่อย ตอนตลาดปิดผลกระทบไม่มาก เพราะพยายามตื่นตัวตลอดเวลาอะไรที่พอสร้างรายได้ ทำให้ลูกน้องมีรายได้ก็ทำ รัดเข็มขัดเรื่องอื่นๆ เช่น ตัวไหนกำไรน้อยก็หยุดทำ ตลาดไหนทำแล้วได้น้อยก็ลดลง อะไรไม่จำเป็นก็ลด พนักงานก็ยังทำงานปกติทุกวัน รวมทั้งวางแผนจะนำสินค้าไปขายถึงหน้าบ้านและมีสินค้าอื่นที่เข้ากันขายด้วย เช่น กาแฟสดสำหรับขายตามออฟฟิศและตามบ้าน
Cash Flow กระสุนในการทำธุรกิจ
ธุรกิจต้องการเงินหมุนเวียน การได้ Soft loan จาก SCB และธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้อุ่นใจขึ้นในการทำธุรกิจว่าจะไม่ขาดสภาพคล่อง เพราะในการทำธุรกิจทุกอย่างต้องพร้อม ถ้าเราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจทำให้ไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนพร้อมโดยการสนับสนุนจากธนาคารธุรกิจก็สามารถเติบโตได้
Soft loan ที่ได้มาทาง SCB เป็นผู้จัดการให้อย่างรวดเร็วทันใจ โดย RM มาติดต่อว่าบริษัทเป็นผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์และเป็นลูกค้าที่ดีมาตลอด RM ของ SCB เข้ามาจัดการให้โดยใช้เวลา 3 วันก็ทำให้เรียบร้อย โดย Soft loan เป็นเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก หลังจากนั้นดอกเบี้ย 2 % สองปี โดยได้รับวงเงินกู้ 20% ของยอดหนี้คงค้างเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดเพราะไม่มีต้นทุนในการกู้ “การหาแหล่งเงินทุนแบบนี้หายากมากเพราะส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่าย ค่าดำเนินการทั้งนั้น Soft loan ช่วยให้ SME ประหยัดขึ้น ลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้เยอะ” คุณไพโรจน์กล่าว
“ทำธุรกิจก็เหมือนการทำสงคราม การมีสภาพคล่องเหมือนมีลูกกระสุนเพราะเราอุ่นใจว่าเรามีกระสุนในการต่อสู้ ทำธุรกิจมีเงินทุนก็ทำให้เรากล้าเดินกล้าลุยเพราะเรามีแบคอัพ มีกระสุนอยู่ในตัว” คุณไพโรจน์เปรียบเทียบให้ฟัง พร้อมทั้งขอบคุณ SCB และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ Soft loan เพื่อให้ SME สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ต้องสู้กับปัญหาจนชนะ ข้อคิดถึงผู้ประกอบการ
มีปัญหาต้องสู้กับมันจนชนะ คำว่าแพ้ต้องไม่มี ไม่มีคำว่าถอย “บางคนบอกว่ามืดแปดด้านผมว่ามันไม่จริง ความจริงมันมืดสิบด้าน การทำธุรกิจถ้ามันมืดบ้างเราก็ต้องหาทางแก้ไข รวมทั้งต้องมีความกระตือรือร้นในตัวเอง ตั้งเป้าหมายชีวิต คิดบวก จะทำให้เราก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ อุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา ทำอะไรก็ต้องมีอุปสรรคทุกอย่าง ต้องพร้อมจะก้าวขึ้นไปและมั่นใจว่าตัวเองทำได้ อะไรที่ว่าไม่ดี เราคิดว่ามันดี เพราะปัญหามีทั้งสองแง่ทั้งบวกทั้งลบ แต่ถ้าเรามองเป็นบวกเราก็จะโตขึ้นได้ เมื่อวิกฤตผ่านไปมันต้องเป็นฟ้าหลังฝนที่สดใสแน่นอน” คุณไพโรจน์ปิดท้ายเพื่อให้กำลังใจและให้ข้อคิดกับผู้ประกอบการ
การคิดบวก การมีเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน จะทำให้เรามีกำลังใจและอดทนต่อสู้กับปัญหาหรือวิกฤตที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกปัญหามีทางออก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเงิน หรือการขาดสภาพคล่องยังมีสถาบันการเงินที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพื่อเติมกระสุนให้ธุรกิจของคุณฝ่าวิกฤตไปได้ SCB SME พร้อมสนับสนุนธุรกิจไทยให้เติบโตและก้าวผ่านวิกฤตไปได้ เพราะเราเชื่อในศักยภาพของ SME ไทย SME ที่สนใจสมัคร Soft Loan สามารถติดต่อ Relationship Manager ที่ดูแลท่านหรือติดต่อ Call Center ที่หมายเลข 02-7222222