การเดินทางของมาม่า ฝ่ากระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง

ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม รวมถึงวิกฤติแต่ละครั้ง ล้วนกระทบกับธุรกิจ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย ไม่เว้นแม้แต่ “มาม่า” ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผูกพันกับไทยมานาน เรื่องราวของมาม่าและบริษัทในเครือสหพัฒน์ ผ่านคำบอกเล่าของ คุณเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในงานสัมมนา Mission X: The Boot Camp of Advance Corporate  Transformation มีแง่มุมการเรียนรู้และปรับตัวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารรุ่น 3 ของเครือสหพัฒน์ บริษัทที่มีอายุ 80 ปีนั้น คุณเวทิตเคยทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมฟิล์มและเทปคาสเซ็ทมาก่อน จึงมีประสบการณ์ตรงที่เห็นการถูกกลืนกินของเทคโนโลยีในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน สถานการณ์แต่ละครั้ง แม้ว่าธุรกิจนั้นๆ จะมีความเพียรพยายามพัฒนผลิตภัณฑ์อย่างไร เมื่อถึงที่จุดธุรกิจจะตาย ก็ไม่อาจยื้อ อย่างไรก็ตาม ด้วยแบคกราวนด์การศึกษาที่จบสาขา Digital Electronics Engineer จาก Silicon Valley จึงมีความคุ้นเคยกับ วิถีของ Startup ที่ Fail Fast ไม่ยอมแพ้ และกล้าลอง พร้อมๆ กันนั้น ก็มีวิสัยทัศน์ในการเปิดหูเปิดตา เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ


เมื่อเข้ามาทำงานที่สหพัฒน์ ดูแลมาม่า ซึ่งเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดที่พัฒนาต่อได้ จึงได้เริ่มต้นที่โครงการมาม่าคู่ค้าพันธมิตร ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมความสร้างสรรค์ที่ผสมผสานความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ ระบบ Logistic และ Supply Chain ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน สร้างยอดการเติบโตเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ Production Innovation ที่ทำควบคู่กันกับ Process ก็เป็นอีกจุดเด่น จากเดิมที่มาม่ามีกฏกติกาว่า“ของกินต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อยอย่าออก เมื่อนำไปเทสต์แล้วต้องชนะคู่แข่งเกิน 80% ถึงจะออก” ซึ่งกฎกติกานี้ แม้จะดูดี ลดความเสี่ยง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะได้ทดลองสร้างสรรค์และเรียนรู้ของดีๆ ได้เช่นกัน


ในปีหนึ่ง ซึ่งทางสหพัฒน์ได้ออกมาม่าซีรีส์ Oriental Kitchenมีรสฮอตโคเรียน กับกุ้งผัดซ้อสต้มยำ มีความเป็นพรีเมียม สามารถขายได้ซองละ 15 บาท ประสบความสำเร็จ ขายดี ยอดขายถึงเป้า เมื่อคุณเวทิตได้เดินทางไปสิงคโปร์ และได้มีโอกาสไปกินขนมขบเคี้ยวรสไข่เค็มซึ่งทำรสชาติได้อร่อย จึงนำกลับมาให้ลูกชิม ลูกก็ชอบ จึงให้ทีม  R&D ทำมาม่ารสไข่เค็มมาให้ชิม ซึ่งในครั้งแรกๆ ก็ยังไม่อร่อย ก็พัฒนากันไปจนได้รสชาติที่อร่อยมากๆ  และครั้งนี้ ถือเป็นการทลายหลักการที่ว่าต้องให้ Market Test ก่อน ถ้าชนะ 80% แล้วจึงขาย เพราะคุณเวทิตมองว่า บริษัทคู่แข่งก็มี R & D เช่นกัน หากมัวแต่ทำตามขั้นตอนเดิม ก็อาจช้าเกินไป ความอร่อย จำเป็นต้องมีตัวแปรความไวในการพาเข้าสู่ตลาดด้วย

ขณะนั้น เป็นช่วงเดือนกันยายน คุณเวทิตบอกทีมงานว่าจะขอนำมาม่ารสไข่เค็มนี้ออกขายในเดือนธันวาคมเลย ซึ่งเร็วกว่าที่เคยทำมา เพราะปกติมาม่าจะออกสินค้ารสชาติใหม่ได้ ก็ใช้เวลาราว 6 เดือนเป็นอย่างน้อย นับเป็นการกล้าแหกกฎอย่างแท้จริง มีการจองสื่อ แรปรถไฟฟ้า BTS เป็นมาม่ารสไข่เค็มทั้งคัน  ใช้ร้าน Lawson เป็นหนึ่งในจุดจำหน่าย ปรากฏว่าขายดีมาก จนรายใหญ่ต้องขอนำไปขายบ้าง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการทอดลอง กล้าแหกกฎ รวมถึงความรวดเร็วในการชิงลงมือก่อนอย่างถูกที่ถูกเวลา ซึ่งสำคัญมาก


สถานการณ์โควิดเป็นโจทย์ใหม่ ที่ประสบการณ์การแก้เกมหลายๆ ครั้งที่เคยใช้มาในอดีต อาจไม่สามารถใช้ได้ สิ่งสำคัญมากๆ คือ Big Data ปรากฏการณ์คนซื้อมาม่าเพื่อกักตุนจำนวนมากในปี 2011 ซึ่งมีน้ำท่วมใหญ่ หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครกักตุนกันอีกเลย ในยุคโควิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนซื้อแต่มาม่าซอง มาม่าคัพขายไม่ได้เลย เพราะคนอยู่บ้าน หรือช่วงที่คนได้บัตรประชารัฐมา คนมักใช้เงินนั้นหมดในสัปดาห์แรกเลย ฉะนั้น การไปจัดกองโชว์ของในช่วงเวลาที่เงินออก ก็ขายได้ขายดี การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค จึงสำคัญมาก ซึ่งในมุมมองของคุณเวทิต เรื่องของข้อมูลมีที่มาจากหลายแหล่ง ไม่ใช่เพียงบริษัทสำรวจต่างๆ เท่านั้น แต่สายตาและการเปิดหูเปิดตาสำคัญมาก เช่นคุณเวทิตชอบฟังข่าวสารอินไซต์ต่างๆ จาก YouTube และเชื่อว่าลูกค้าก็อยู่บนสื่อออนไลน์เช่นกัน การเปิดโลกทัศน์เรื่อง NFT, Metaverse หรือเทรนด์ต่างๆ ก็เพื่อที่จะทำให้มาม่าไม่เชย การ launch NFT มาม่าในงานสหกรุ๊ปแฟร์ จึงเกิดขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจมาก


การครองใจลูกค้าจากรุ่นสู่รุ่น มีความหมายอย่างยิ่ง สำหรับลูกค้าที่เป็นคนรุ่นเก่า มาม่ายังคงให้คุณค่า แต่ทว่าคนรุ่นใหม่ที่ยินดีจะจ่ายเงินที่แพงขึ้น เพื่อสินค้าที่ชื่นชอบ มาม่าก็ให้ความสนใจ การเกิดขึ้นของซีรีส์ OK คือการจับตลาดคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น Sub-brand สำหรับภาพรวมของผลิภัณฑ์มาม่าตามหลักการ 80-20 ที่มีรสชาติพระเอก คือหมูสับ ต้มย้ำกุ้ง ต้มย้ำกุ้งน้ำข้น ที่ขายดีตลอดกาล แต่ถึงกระนั้น การทดลอง ค้นคว้า พิสูจน์ ก็ยังต้องมีต่อๆ ไป เพื่อเฟ้นหาของดีเด็ดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


แม้จะเป็นองค์กรที่มีอายุไม่น้อย แต่คุณเวทิตก็ยังคงสื่อสาร กระตุ้น และผลักดันให้คนในองค์กร ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดพัฒนา ลองคิด ลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ฝ่าย R & D ไม่หยุดพัฒนาสูตรหรือรสชาติใหม่ๆ ผู้บริหารไม่หยุดชิม นำไอเดียมาสู่การลองปฏิบัติจริง เพราะเชื่อว่า หากไม่มีการพัฒนา ก็จะไม่มีทั้ง Success และ Failure แต่ถ้าเรียนรู้ และทำไม่หยุด ก็ย่อมมีโอกาส Success