เจาะกลยุทธ์ Transform องค์กร 130 ปี “โอสถสภา”

การ transform องค์กรเพื่อให้อยู่รอดและรุ่งโรจน์ในภาวะที่โลกไม่อาจคาดเดาได้ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง และจะท้าทายเป็นทวีคูณ หากองค์กรนั้นมีขนาดใหญ่ มีอายุมายืนยาวกว่า 130 ปี และมีพื้นฐานมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัว เรื่องราวจากคำบอกเล่าของคุณ คุณวรรณิภา  ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอสถสภาจำกัด (มหาชน ) ในหลักสูตร Mission The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation จึงมีความน่าสนใจ เปี่ยมไปด้วยแง่มุมที่เป็นประโยชน์


ประสบการณ์จากบริษัทข้ามชาติ สู่ Mission ผลักดัน Family Business ไทยเป็นมหาชน

ก่อนจะมาร่วมงานกับโอสถสภาในปี 2016 นั้น คุณวรรณิภาได้บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์จากบริษัทข้ามชาติมาราว 30 ปี ซึ่งพันธกิจหลักในการมาขับเคลื่อนโอสถสภาคือการนำพาบริษัทที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว สู่การเข้า IPO เป็นบริษัทมหาชน ซึ่ง ณ ขณะนั้น คุณวรรณิภาก็ไม่ได้แน่ใจนักถึงความสำเร็จ ด้วยความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กร ระหว่างบริษัทต่างชาติกับบริษัทไทย ซึ่งในช่วงแรกก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่าจะบริหารจัดการบริษัทลูกที่มีอยู่มากมายอย่างไร ต่อจากนั้น คือการทำอย่างไร ที่จะให้องค์กรพร้อมกับการเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งหมายถึงต้องมีกฎ กติกา compliance ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่อง Culture และ Talent ที่ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้


วิสัยทัศน์ในการจัดกระบวนทัพใหม่ ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความ Silo และมี Layer มาก จึงเป็นความท้าทายมาก ทั้งการสร้างให้มี Agility, การสร้าง  Mission และ Value รวมถึงกระบวนการต่างๆ ตามมา ซึ่งใช้เวลาระยะหนึ่ง และในที่สุด ก็สามารถนำพาให้โอสถสภา เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018

อานิสงส์ปรับทัพเพื่อ IPO สู่ภูมิคุ้มกัน ต้าน COVID

กระบวนการต่างๆ ที่ได้สร้างและบ่มเพาะเพื่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน กลายเป็นการเตรียมความพร้อมให้โอสถสภามีความคุ้นเคยกับ “ความเปลี่ยนแปลง” เพราะเมื่อวิกฤติการณ์ COVID ได้เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลให้กับทุกชีวิตและธุรกิจในโลก บริษัทที่ก็สามารถขยับรับสถานการณ์ได้อย่างค่อนข้างทันท่วงที มีการจัดสรรทัพเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มที่ต้องเข้าโรงงาน หรือแลป ให้ Work at Site, กลุ่มเซลล์ ออกไปขายของ และ กลุ่มออฟฟิศ Work from Home เริ่มการนำ MS Team เข้ามาใช้ เลิกการใช้กระดาษ ปรับกระบวนการการทำงาน นำ Digital เข้ามาใช้มากขึ้น ผ่านไป 2 ปี จนถึงทุกวันนี้ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นประสิทธิผลการทำงานเป็นหลัก


ในโครงสร้างองค์กรเอง ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น จาก 12 Layer เหลือเพียง 5 Layer ทำให้มีความคล่องตัว จำนวนพนักงาน จาก 5,000 คน เหลือ 3,000 คน  การเป็นผู้บริหารใหม่ ที่ไม่รู้จักแบคกราวน์ของพนักงานมาก่อน ทำให้การกระทำต่างๆ เป็นไปด้วยความยุติธรรม ตรงไปตรงมา ด้วยความตั้งใจดี และจริงใจ มีการ Take Mentality to the Maximum


หากเป็นบริษัทฝรั่ง จะมีเครื่องมือในการบริหารงาน คือ Strategy Paper พร้อมด้วย Organization Chart และ Key Process แต่บริษัทไทยแตกต่าง ยิ่งองค์กรมีหลายธุรกิจ ก็ต้องศึกษาหลายมิติ ดูวัฒนธรรมองค์กร สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เยี่ยมยุทธ์ เพื่อที่จะมองไปข้างหน้า หาคำตอบว่าจะไปต่อหรือไม่ อย่างไร

Transformation ตั้งต้นที่ “คน”

บุคลากรของโอสถสภา มีความรักองค์กรสูงมาก เพียงแต่ขาดโอกาสการอัปเดทตัวเอง ฉะนั้น การเติมความรู้ทักษะจึงเป็นสิ่งจำเป็น คุณวรรณิภามองเห็นจุดแข็งนี้ เพราะเชื่อว่าเรื่อง Talent และ Cultural  ที่หล่อหลอมมานี้มีค่ามาก เงินซื้อไม่ได้ ในขณะที่ Digital ยังซื้อได้


ในแง่ของรูปแบบ Key Office คุณวิรรฺณิภายกให้เป็นเครดิตของคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ที่ปรับเปลี่ยนออฟฟิศที่คล้ายเป็นกระทรวงของราชการ ให้สอดคล้องกับสไตล์การทำงานแบบใหม่มากขึ้น จากห้องหลายร้อยห้อง กลายเป็น Open Plan เป็นออฟฟิศที่สวย ทันสมัย ซึ่งโอสถสภาลงทุน และให้ความสำคัญมาก มีจุดเด่นคือ “ไม่มีถังขยะ” ประจำตัว เพื่อให้ลดการทิ้งขยะ และปรับตัวสู่การเป็น Digital Office แม้กระทั่งปริ๊นเตอร์ ก็มีน้อยและอยู่ไกล ความเป็นดิจิทัล ก็ตามมา

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง เช่น หากพนักงานกลับบ้าน ต้องเก็บของที่อยู่บนโต๊ะให้หมด ออฟฟิศก็สวย โล่ง สะอาด ดังนั้น เมื่อมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ทุกคนไม่มีโต๊ะ และทุกอย่างเป็น free space จึงกลายเป็นเรื่องไม่ยาก


ทำให้มองเห็น และ ทำด้วยกัน

นอกเหนือจาก การเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ความมีวินัย การฝึกอบรมต่างๆ ก็ “เล่นใหญ่” จริงจัง โดยเฉพาะใน 2 ปีแรก เช่น การจะ launch Vision ก็ให้คน 3-4 พันมาทำ  1 Day Workshop ด้วยกัน ปูพื้นให้ทุกคนอยู่บนฐานความเข้าใจเดียวกัน แล้วมีการเซ็นพันธสัญญาที่ตกลงร่วมกัน ทั้งยังต้องค้นหาสิ่งที่เป็น Value ขององค์กร จากตัวตนที่แท้จริงของโอสถสภาเองและหมุดหมายที่อยากให้เป็น อันได้แก่ Integrity การมีคุณธรรมและความรับผิดชอบ, Teamwork การทำงานเป็นทีม, Innovative Thinking ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, Passion to Win มุ่งมั่นคว้าชัยชนะ และ Sustainable Living ยึดมั่นและมีจิตสำนึกด้านความยั่งยืน

สร้างกองทัพผู้นำ เป็นกำลังที่แข็งแกร่ง

เมื่อสถานการณ์โควิดมาถึง ได้เกิดการเรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องการและจำเป็นมากคือ ความเป็นผู้นำ ซึ่งมีความเชี่ยวชำนาญต่างๆ กันในแต่ละด้าน ดูแลขุมกำลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะผู้นำสูงสุด ไม่ได้รู้รอบในทุกเรื่อง จำเป็นต้องสร้างความเป็น Leadership ในกลุ่ม Manager ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่พนักงานไม่ได้เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศตลอด จะมีการดูแลและจัดสรรอย่างไร ซึ่งสุดท้าย หัวใจคือ Productivity หรือประสิทธิผลในการทำงาน ซึ่ง Team Lead ที่มีความสามารถ ต้องรับรู้การทำงานของสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี บริหารจัดการได้ ซึ่งผู้นำเหล่านี้ จะได้รับการโค้ชและการพูดคุยอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นพัฒนาการ และมี engagement กันอย่างต่อเนื่อง


Transform องค์กร สไตล์โอสถสภา

Framework ที่คุณวรรณิภาใช้ในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนนองค์กร ตั้งต้นจากการวิเคราะห์ SWOT แล้วตั้งเป้าว่าอยากเป็นองค์กรแบบไหน จากนั้นจึง Set Ambition พร้อมด้วยการระบุระยะเวลาที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นให้ชัดเจน เช่น 5 ปี จากนั้นก็ทำ Road Map และ Just Do It!


สำหรับกระบวนการทำ ตลอดเส้นทางของ Business Strategy และ Execution อาจมีความผิดพลาด ก็เรียนรู้และปรับปรุงแก้ไข แต่ต้องไม่หลุดไปจากภาพที่วางไว้ ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างทางนั้น จะมีความเหน็ดเหนื่อย ต้องใช้พลังงานมาก เพราะเป็นการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นพลังชีวิตจริงๆ ให้กับผู้บริโภคในสังคมนี้


นอกเหนือจาก Value ต่างๆ ที่องค์กรให้ความสำคัญแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นจุดแข็ง ก็ผลักดันเต็มที่ให้ยิ่งแข็งแรง เพราะจะเป็นประโยชน์มาก ในการพาองค์กรก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ส่วนจุดอ่อน หากมีความพร้อม จึงค่อยกลับมาแก้ไข


ความเป็นดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการการทำงานต่างๆ อย่างสอดคล้องเหมาะสม เช่น ปรับเปลี่ยน Consumer Research แนว Focus Group เป็น Online Research และ มี In-house Social Listening, กิจกรรมแลกฝาของเครื่องดื่มชูกำลัง กลายเป็น M-Point , ฝ่ายขายเปลี่ยนจากกระดาษจดรายการ เป็น Sale Tool และยังมีความพยายามการนำ Data Analytic มาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทั้ง Power Bi ในปัจจุบัน และพัฒนาเป็น AI ในอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายมาก


นอกจานี้ ความเข้าใจเรื่องเทรนด์และพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หลังจากสถานการณ์โควิด ก็ต้องไม่มองข้าม เช่น คนสนใจเรื่องสุขภาพ, การลดบริโภคน้ำตาล, การบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน รวมถึงเทคโนโลยีการลดปริมาณคาร์บอน เป็นต้น เหนืออื่นใน ต้องรู้จักตัวตนของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคหลักของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทให้ถ่องแท้


ตามทรรศนะของคุณวรรณิภา เชื่อว่าเส้นทางแห่งการ Transformation ยังคงต้องทอดยอดต่อไป อย่างต่อเนื่อง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหนืออื่นใด องค์กรต้องแม่นยำใน  Agenda ของตัวเอง เพราะ Business Strategy ที่จะนำพาแต่ละบริษัทให้อยู่รอดและอยู่รุ่งในยุคที่โลกไม่อาจคาดเดาได้ ต้องเป็นสไตล์ของตัวเอง!

ที่มา : หลักสูตร Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 4 โดย คุณวรรณิภา  ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอสถสภาจำกัด (มหาชน )  วันที่  26 กรกฎาคม 2565  ณ  ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่