เมื่ออนาคตกำลังไล่ล่า จะเอาชนะด้วย Digital Transformation ได้อย่างไร? แชร์ประสบการณ์อันทรงคุณค่าจาก WHA

ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง อยู่บนพื้นฐานแห่งความไม่แน่นอน การที่ภาคธุรกิจสามารถมีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกจากความท้าทาย ได้อย่างมั่นคงนับเป็นสิ่งสำคัญ การทำ Digital Transformation จึงเป็นอาวุธลับที่ช่วยรักษาเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจได้ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แชร์ประสบการณ์ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตร Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 4  ดังนี้


The Future is Faster Than You Think: อนาคตไล่ล่าเร็วกว่าที่คุณคิด

ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการคาดการณ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ คุณจรีพร กล่าวว่า ถ้าใครเห็นเทรนด์ถือว่าเห็นโอกาส ในการวางแผนและสร้าง Business Model ใหม่ให้ธุรกิจ คนทำธุรกิจต้องมองอนาคตให้ออก ต้องคิดล่วงหน้า จากประสบการณ์การทำธุรกิจของคุณจรีพรมา 30 กว่าปี ไม่เคยสบาย แต่ละปีจะมีบททดสอบอยู่ตลอดเวลา จะชนะได้อย่างไรในเวทีแห่งการเปลี่ยนแปลง?


ตั้งแต่ปี 2020 เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา นอกจากจะตามเทคโนโลยีไม่ทันแล้ว เรื่อง Regulator ยังค่อนข้างล้าหลัง ถ้าเป็นต่างประเทศจะปล่อยให้ทำไปก่อน แล้ว Regulator จะคอยดูอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ใช่ก็จะแตะเบรก ถ้าใช่ก็ปล่อยให้ไปต่อ แต่ประเทศไทยเรามีข้อห้ามให้ติดขัดเยอะ จึงไม่เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา


เมกะเทรนด์โลกที่คนทำธุรกิจต้องจับตา  1.Technological Change การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว 2.Geopolitical Tensions ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ 3.Supply Chain Resilience การเปลี่ยนฐานการผลิตและการลงทุน 4. Rapid Urbanization การจัดการเมืองและการปรับโครงสร้างพื้นฐาน 5. Climate Change & Resource Stress การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตึงเครียดจากการใช้ทรัพยากร 6. Demographic Shift การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ชนชั้นกลาง แรงงานยุคใหม่ 7. Health Awareness การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคล


สำหรับ Technologies Trend  เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบ Exponential เล็กลง เร็วขึ้น ถูกลง ตัวอย่างเทคโนโลยีที่กำลังมา เช่น  5G , Internet of Things,  Blockchain, Quantum Computing, Process Automation & Visualization, Cloud & Edge Computing และ Metaverse   ขณะที่  Web 3.0 จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี ทั้ง Metaverse, NFTs , Blockchain, Crypto , Smart Contract , DeFi , DAO (Decentralized Autonomous Organizations องค์กรที่ถูกเขียนขึ้นมาในรูปแบบคำสั่งคอมพิวเตอร์บน Smart Contract ใน Blockchain)

The New World Order: จัดระเบียบโลกใหม่

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกภายหลังสถานการณ์โควิด - 19 นอกจากการกลับมาของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว เทคโนโลยี 5G และ Quantum Computing กำลังจะมาปฎิวัติโฉมหน้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และปัญหาความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก คือ สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องจับตามองเป็นพิเศษ คุณจรีพร กล่าวว่า

  • Re-Opening Around the World: การเปิดเมืองหลังโควิด ทำให้เกิดการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
  • Rising Geopolitical Tensions: ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ แล้วสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นอย่างไร คุณจรีพร มองว่า เรื่องความขัดแย้งมีมานานแล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แน่นอนว่ากระทบทั่วโลก แต่สำหรับไทยจะไม่มากเพราะไทยเป็นกลาง และไทยจะมีโอกาสจากธุรกิจส่งออก เช่น อาหาร เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
  • Redefining the Supply Chain: จากวิกฤติโควิดทำให้เกิดการหาแหล่งห่วงโซ่อุปทานใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงหากเกิดมีวิกฤติขึ้นมา จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในอนาคต
  • A Pivot to Indo-Pacific: Thailand’s Advantages: สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ส่งผลดีต่อไทยเพราะไทยตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็น Strategic Location ในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกในภูมิภาคนี้
  • Inflation and a Global Debt Crisis: เกิดอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น ด้วยการเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมทั้งในระยะสั้นและยาว
  • Green Planet: การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ ESG (Environment, Social, Governance) เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ เพราะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่ธุรกิจในอนาคต
  • Driving the Future with Electric Vehicles: รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยภายในปี 2573 รถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในไทย 30% จะเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งคุณจรีพร มองว่าไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในอนาคต
  • Oil Shortage and Food Insecurity ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน และความไม่มั่นคงด้านอาหารกำลังเกิดขึ้น


จาก New Normal สู่ New Future

  • โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในแบบ New Normal แล้วอนาคตที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด -19 จะเป็นเช่นไร คุณจรีพรกล่าวว่า
  • The Rise of E- Commerce: ในปี 2021 E- Commerce ทั่วโลกเติบโตขึ้น 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2025 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 50% คิดเป็นมูลค่า 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
  • Changes in Healthcare Industry: เปลี่ยนการดูแลสุขภาพที่ไม่ใช่แค่การรักษา แต่เป็นการวางแผนสุขภาพด้วยเทคโนโลยีเพื่อป้องกัน ทำนาย ก่อนเกิดการเจ็บป่วย
  • Demographic Trends Reshaping Health & Wellness: ประชากรสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2035 ทั่วโลกจะมีประชากรสูงอายุที่ 1.2 พันล้านคน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง คาดว่าในปี 2030 ทั่วโลกจะมีถึง 65% และ Gen Z ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  • Seize the Opportunities from Digitization Trend: การทำ Digital Transformation จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ, ผลผลิต, บริหารจัดการทรัพยากร, ช่วยธุรกิจปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จากผลสำรวจของ Gartner 93% พบว่าองค์กรที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19

Digital Innovation & Transformation

คุณจรีพร ได้แชร์ประสบการณ์การทำ Digital Transformation ของ WHA Group ว่าเมื่อปี 2017 ได้เริ่มทำ แม้ว่าในตอนนั้นบริษัทยังไม่พร้อม แต่จะรอให้ทุกอย่างพร้อมก็อาจสายเกินไป จึงเริ่มทำ Digital Innovation ก่อน วิธีการคือ นำคนรุ่นใหม่เข้ามาในบริษัท ขณะที่คนรุ่นเก่าจะจัดอบรมให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าต้องมีการ Transform องค์กร ปี 2021 จึงได้เริ่มทำ Digital Transformation ซึ่งจากการสำรวจผู้บริหารองค์กรในไทย 98% คิดว่าต้องทำ แต่ส่วนมากมักจ้างที่ปรึกษามาทำ แต่ในมุมมองของคุณจรีพร เห็นว่าคนที่เป็น CEO ต้องรู้ว่าบริษัทควรจะ Transform เรื่องอะไร Business Model ควรเป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้ที่ปรึกษาเป็นคนบอก สำหรับที่ปรึกษา ควรมาช่วยในสิ่งที่เราไม่รู้ เช่น เรื่อง AI


ตอนที่ WHA เริ่มทำนั้น ไม่มีทีมเทคโนโลยีเลย วิธีการ คือ การจับมือกับบริษัท Tech Company ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งคุณจรีพรมองว่าดีกว่าการจ้างคนใหม่เข้ามาทำงาน เพราะว่าอาจจะไม่เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital Transformation คือ คิดว่ากลยุทธ์คือสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถในการลงมือปฏิบัติต่างหาก

คุณจรีพร กล่าวอีกว่า การทำ Digitalization เป็นภารกิจอันต้นๆ ขององค์กรที่ต้องทำแต่มีเพียง 2 – 3 องค์กรเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการผลสำรวจของ Deloitte ปี 2020 เรื่อง Digital Transformation พบว่า 13% ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงผลการดำเนินงานของธุรกิจและรักษาผลการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว, 21% ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงผลการดำเนินงานของธุรกิจ แต่ไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ , 59% ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปรับปรุงผลการดำเนินงาน และ 7% ไม่ประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงผลการดำเนินงาน

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Digital Transformation ประสบความสำเร็จ? 1) Digital Strategy and targets มีแผนงานที่ชัดเจนและมี KPIs ที่วัดผลได้ 2) Organizational Structure for Digital Transformation ปรับโครงสร้างให้เหมาะสม ไม่ทำแบบ Silo 3) Pilot Projects That Use a Test and Learn Approach ทำเป็น Project ทดลอง ล้มแล้วลุกให้ไว เรียนรู้จากความผิดพลาด 4) Talent and Capabilities ดึงดูดคนใหม่ที่มีความสามารถและสร้างคนเก่าขึ้นมา 5) Ecosystem สร้างความร่วมมือระหว่างกัน เช่น โครงการร่วม , การลงทุน, การร่วมทุน 6) Culture Change เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมความเข้าใจ ให้รางวัลหรือสร้าง Role Model คุณจรีพร ยังเสริมอีกว่า “Top Management ต้องลงมาเล่นเอง ไม่ใช้คำว่า[PK1] Top Down แต่เรียกว่า “ทุบดาว” ถ้าใครไม่ทำจะเรียกคุยเลย ต้องทุบให้คนเข้าใจว่าต้องทำ” ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital Transformation อีกข้อก็คือไม่ใช่ Project ที่แยกออกมา แต่เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานในองค์กรต้องทำ ร่วมกัน อีกข้อคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังรวมไปถึงคน วัฒนธรรมองค์กรและ Ecosystem อีกด้วย นอกจากนี้ การทำ Digital Transformation ให้เลือกทำเฉพาะบางส่วนที่ Critical ก่อนไม่ต้องทำทั้งหมด

 

เส้นทาง WHA Group กับกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถด้วยเทคโนโลยี

WHA Group ก่อตั้งในปี 2546 ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 4 ประเภท 1. โลจิสติกส์: บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.การพัฒนาอุตสาหกรรม: บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.สาธารณูปโภคและพลังงาน: ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ 4.แพลตฟอร์มดิจิทัล: ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด ทั้งนี้ WHA Group ได้วางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมดังนี้ ปี 2021 - Digital Transformation ใช้เทคโนโลยียกระดับธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ปี 2022 -Innovative Workplace องค์กรนวัตกรรม สร้างรายได้จากสินค้าและบริการใหม่ด้วยนวัตกรรมตามความต้องการของลูกค้า ปี 2023 - Data Driven Organization ใช้ Data ขับเคลื่อนองค์กร เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างสรรค์นวัตกรรมจากข้อมูล ปี 2024 – Turning to Digital Company ก้าวสู่การเป็นบริษัทดิจิทัลเต็มรูปแบบ


สำหรับแนวคิดในการทำ Digital Innovation และ Digital Transformation ของ WHA Group คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาหยั่งรากลึกภายในธุรกิจของ WHA Group ส่วนการทำ Digital Innovation เริ่มจากการริเริ่มสินค้าและบริการใหม่ด้วยนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจ ขณะที่การทำ Digital Transformation เริ่มตั้งแต่ระบบหลังบ้าน ด้วยการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ป้องกันและลดผลกระทบจากการหยุดชะงัก เพิ่มผลผลิต ลดความซ้ำซ้อน และขจัดกระบวนการ Silo ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจคือ 1.สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2.สร้าง New S- Curve ให้ธุรกิจ 3.เป็นผู้นำตลาดและอยู่แนวหน้าในอุตสาหกรรม


นอกจากนี้ยังมีการจัด WHA Innovation Bootcamp ภายในองค์กรเพื่อ 1.เพิ่มศักยภาพของคนในองค์กร 2.พัฒนาInnovation Project ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้คำแนะนำ 3.หาความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาในองค์กร ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้


แม้ว่าคลื่นพายุเทคโนโลยีจะโหมกระหน่ำอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ถ้าหากองค์กรได้เตรียมอาวุธ Digital Transformation ไว้พร้อมแล้ว ก็จะทำให้สามารถอยู่รอด ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง มีศักยภาพทางการแข่งขัน ในยุคที่ไม่อะไรเที่ยงแท้และแน่นอนอีกต่อไป ก่อนจากกันคุณจรีพร ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่ากลัวเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะคนเราต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวเรื่องการไม่รู้ เพราะเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา”

 

ที่มา : หลักสูตร Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 4 โดยคุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิงเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่