ก่อนฝันเป็น Startup ต้องสตาร์ทให้ถูกจุด

สตาร์ทอัพน้องใหม่ในไทยแตกหน่อเพิ่มทุกวัน ตรงกับทัศนคติคนยุคนี้ที่ชอบเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าเป็น ลูกจ้าง เพราะเชื่อว่าไอเดียที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจะช่วยแก้จุดอ่อนธุรกิจเดิมได้ ยิ่งถ้าถูกจังหวะก็พร้อมเหยียบคันเร่ง ไม่ยั้ง ทว่ายังมีไม่น้อยที่สะดุดตั้งแต่เริ่ม หรือบางรายอาจระดมทุนไปแล้วไม่นานต้องพับฐานไปเสียแล้ว ดังนั้นใครที่เตรียม ออกสตาร์ท ลองมาเช็คความมั่นใจและฝันให้ถูกจุดกันอีกรอบดีกว่า


1. วัตถุประสงค์ต้องชัด - ตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่ทำคืออะไร เพื่ออะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร โดยมีสารตั้งต้นมาช่วยแก้ไขปัญหาหรือ pain point ที่ธุรกิจเดิมทำไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นเจ้าแรกที่เปิดม่านความคิดนี้ได้ยิ่งดี เพราะผู้บริโภคจะปลาบปลื้มกับแสงสว่างที่ธุรกิจนี้ส่องมาให้


2. เงินทุนไหลมาตามแผนงานแจ่ม - สตาร์ทอัพจะยืนระยะเป็นนักวิ่งมาราธอนได้ ก็ต่อเมื่อมีการระดมทุนหรือ Funding จากผู้ร่วมลงทุนที่เห็นแวว ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ง่ายๆ คือ ถ้าแผนงานแจ่มว้าวจนสร้างความแตกต่างกับธุรกิจเดิม ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีใครสนใจ


3. เป็นทั้งเด็กดีและเด็กแก่น - ปกติธุรกิจสตาร์ทอัพจะถือกำเนิดมาจากการสร้างสรรค์ที่ต่างจากระบบนิเวศเดิม จึงมักยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล แต่เพื่อให้การเนรมิตฝันผ่านไปได้ด้วยดี ควรเป็นเด็กดีไปปรึกษากฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้แผนงานต้องสะดุดในอนาคต แต่ต้องฮึดสู้บุกป่าฝ่าดงหน่อย เพราะจะกลายเป็นกรณีศึกษาแรกของทางการที่อาจต้องผ่านหลายขั้นตอน

shutterstock_307471286

4. ต่อจุดเพื่อลากเส้นอนาคต - สไตล์การทำงานสตาร์ทอัพจะคิดบวกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เมื่อเจออะไรที่เป็น pain point ก็พร้อมลงสนามแก้ปมสร้างโอกาส เพื่อเป็นผู้เปิดตลาดเจ้าแรก บ่อยครั้งที่ผลงานอาจไม่สำเร็จและต้องชะลอไว้ แล้วต้องลุกมาเดินเกมใหม่เรื่อยๆ แต่ในวันหนึ่งพอจังหวะที่ใช้ได้เกิดขึ้นจริง สามารถนำโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่เคยคิดและทำแล้วมาลากเส้นต่อจุด จนกลายเป็นโครงการใหญ่สร้างเซอร์ไพร์สให้สังคมได้เหมือนกัน


5.  ดันให้เกิดแรงบันดาลใจมากกว่าแรงจูงใจ - ปกติมีทีมงานขนาดเล็กแต่เป็นทีมเวิร์กที่รู้สึกถึงแรงขับเคลื่อน จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) อยากทำงานที่แห่งนี้เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตั้งสตาร์ทอัพขึ้นมา มากกว่าเลือกสร้างแรงจูงใจ (Motivation) ที่คาดว่าจะได้จากการทำงานมากกว่า เช่น เรื่องของผลตอบแทนหรือสวัสดิการที่จะได้


6. ยืดหยุ่นบนความมีระบบ - ข้อจำกัดที่มีบุคลากรจำนวนน้อย ไม่ซอยแบ่งแผนกเหมือนองค์กรธุรกิจทั่วไป จึงทำให้ทุกคนทำงานด้วยทักษะหลากหลาย หรือ Multi Skill ซึ่งกลายเป็นความยืดหยุ่นเพราะช่วยกันทำงานแบบต่างหน้าที่ แต่ก็ไม่ควรละเลยความเป็นระบบที่ชัดเจน เพราะถ้าทำไม่ดีจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายได้ง่ายมาก จากความคาดหวังเคลื่อนพลเร็ว จะกลายเป็นเชื่องช้าเหมือนเต่าคลานแทน

7. ยิ่งให้ยิ่งได้ - ด้วยขนาดที่เล็กของสตาร์ทอัพ เป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตได้เร็วอยู่คนเดียว ส่วนใหญ่จึงต้องการเครือข่ายเป็นแรงผลักดันจากธุรกิจอื่นๆ ให้ก้าวไปด้วยกัน เพราะทุกคนต่างมีฝันเดียวกันคือ อยากเห็นสตาร์ทอัพไทยเป็นยูนิคอร์น (มูลค่าบริษัท 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท) เหมือนประเทศอื่นบ้าง


ถ้าลองตรวจดูแล้วพบว่าสิ่งที่กำลังเตรียมอยู่คล้ายกับเช็คลิสต์นี้ จะรอช้าอยู่ทำไม เริ่มสตาร์ทและเหยียบคันเร่ง ลุยสุดแรงเกิดกันไปเลย