Pan-Asia Railway Network เปิดประตูอาเซียนสู่เวทีเศรษฐกิจโลก

Pan-Asia Railway Network  เครือข่ายเส้นทางรถไฟ “แพนเอเชีย”  คือเครือข่ายที่เส้นทางรถไฟขนส่งระหว่างประเทศโดยมีจีนเป็นหัวรถจักรที่ขับเคลื่อนเชื่อมเอเชียกับยุโรปเข้าด้วยกัน แพนเอเชียเป็นการเชื่อมเส้นทางโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน เริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน และปลายทางคือสิงคโปร์ โดยจุดบรรจบกันคือกรุงเทพมหานครของไทย จะแบ่งเป็น 3 สายได้แก่

  1. สายตะวันตก เริ่มต้นที่คุนหมิง – ต้าหลี่ - รุ่ยลี่ - ย่างกุ้ง – กรุงเทพมหานคร - กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์

  2. สายกลาง เริ่มต้นที่คุนหมิง – ยวี่ซี - บ่อหาน - เวียงจันทน์ – กรุงเทพมหานคร - กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์

  3. สายตะวันออก เริ่มต้นที่คุนหมิง – ยวี่ซี – เหอโขว่ - ฮานอย - โฮจิมินห์ - พนมเปญ - กรุงเทพมหานคร - กัวลาลัมเปอร์ - สิงคโปร์

จะเห็นว่าทั้ง 3 เส้นทางนั้นมีนครคุนหมิงเป็นชุมทางใหญ่ แล้วค่อยแตกเป็น 3 สาย ผ่าน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา แล้วมาบรรจบกันที่กรุงเทพมหานครของไทย ก่อนลงใต้ผ่านมาเลเซีย และมีปลายทางอยู่ที่สิงคโปร์ เป้าหมายหลักคือผลักดันภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่มีทางออกสู่ทะเลก้าวสู่ตลาดโลกโดยอาศัยเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย โดยเฉพาะตลาดในแถบประเทศอาเซียน

4

นอกเหนือจากการเชื่อมทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลยูนนานแล้ว ยังเป็นการกระจายความเจริญสู่ชนบทในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างทาง อันมีข้อจำกัดเรื่องการคมนาคมขนส่ง การสร้างทางรถไฟแพนเอเชียจะปลดล็อคข้อจำกัดเหล่านี้ เมื่อสร้างแล้วเสร็จทรัพยากรธรรมชาติจะถูกนำไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมาก ราคาสินค้าจะลดลง การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย

เส้นทางสายกลางได้เปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ได้ปลดล็อค สปป.ลาวจากพื้นที่ที่ถูกล็อคด้วยแผ่นดิน กลายเป็นดินแดนแลนด์ลิงค์ รับบทบาทจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศจีนและยุโรปอย่างไร้รอยต่อ

โอกาสของไทยจากเส้นทางรถไฟแพนเอเชียโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจากการเป็นชุมทางของเส้นทางรถไฟทั้ง 3 สาย ก่อนที่จะลงใต้สู่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ สร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยที่สามารถเดินทางไปยังจีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วและประหยัด รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคม

อย่างไรก็ตามไทยควรเตรียมตัวรับมือเมื่อเส้นทางรถไฟแพนเอเชียเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบจะเกิดความคล่องตัวในการขนส่งมากขึ้น  การแข่งขันของสินค้าและแรงงานในตลาดจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนฝีมือแรงงานอย่างเสรี ไทยควรพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเหนือคู่แข่ง รวมถึงให้ความสำคัญทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา และแรงงานควรพัฒนาทักษะฝีมือให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อรองรับการการติดต่อประสานงานจากนานาชาติ ทำความเข้าใจกฎระเบียบเรื่องการขนส่งและการค้าการลงทุนอย่างถี่ถ้วน เมื่อต้องรับมือกับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อความพร้อมในการตั้งรับการแข่งขันในตลาด การเตรียมตัวเป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญแห่งภูมิภาค ในขณะเดียวกันเพิ่มกลยุทธ์การรุกเข้าไปตีตลาดอื่นได้อย่างคล่องตัว อีกทั้งควรพึงตระหนักไว้ว่าการสร้างทางรถไฟไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องที่ยากคือสถานการณ์โลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจต้องการทำการค้าและการลงทุนใน สปป.ลาว ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์ พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนทุกธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจให้แก่คุณ


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์ https://scbcw-preprod.scb.co.th/th/corporate-banking/international-network/laos.html



อ้างอิงข้อมูล

1. Manager Online. “ขบวนรถไฟความเร็วสูงพญามังกร มาถึงปากประตูสู่งอาเซียนแล้ว หวังเชื่อมต่อไปยังลาว ไทย มาเลย์ และสิงคโปร์” . https://mgronline.com/china/detail/9600000000128 (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

2. The States Time. “เบื้องลึก “รถไฟจีน-ลาว” โปรเจกต์ “เชื่อมมิตร-เศรษฐกิจ” ใต้ความล้ำคิดของจีนที่ชาติพันธมิตรถอดใจ เหตุมองจุดคุ้มทุนจากการลงทุน”. https://thestatestimes.com/post/2022020217 (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

3. สำนักงานเลขานุการความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง จีน. “ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรถไฟจีน-ลาว (2)”. http://www.lmcchina.org/tha/2022-03/04/content_41893394.html (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

4. Globthailand.com “โครงการทางรถไฟลาว-จีน กับ โอกาสของไทย”. https://globthailand.com/laos-030222/ (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

5. ณัฐดนัย สิทธุวพลชัย. “การพัฒนาโลจิสติกของสาธารณรัฐประชาชนจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กรณีรถไฟฟ้ากึ่งความเร็วสูง”. https://rsuir-library.rsu.ac.th/bitstream/123456789/1131/1/NUTDANAI%20SINTUVAPONCHAI.pdf (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

6.มูลนิธิโลกสีเขียว. “ถามรถไฟ” https://greenworld.or.th/green_issue/%e0%b8%96%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b9%84%e0%b8%9f/ (ค้นหาเมื่อ 26/9/65)

7. ชาติรส สัมมะวัฒนา. “ไทยกับรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เวียงจันทน์” https://www.dft.go.th/Portals/3/Users/017/17/17/2_Thailand_Chinese_high-Kun_Ming_-_walled_Mon.PDF (ค้นหาเมื่อ 27/9/65)