ตลาด Logistics ที่ไม่ควรมองข้ามในสปป.ลาว

ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ถูกมองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตของผู้คน และเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ควรค่าแก่การลงทุน ทั้งในด้านอัตราการขยายตัวของ GDP จาก 4.7 % ในปี 2564 ซึ่งตอนนี้คาดว่าจะสูงถึง 5.6 % ในปี 2565 และมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงถูกเรียกว่าเป็น “ประตูการค้าหรือแลนด์ลิ้งค์ (Land link)” เพราะมีพื้นที่ที่ยาวและมีพรมแดนต่อกับประเทศจีน เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เอื้อต่อระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าลาวจะมีจำนวนประชากรเพียง 6.7 ล้านคน แต่ก็มีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าจากไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้บริโภคชาวลาวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง

เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย ที่กำลังสนใจในการทำธุรกิจ หรือกำลังทำธุรกิจในประเทศลาวได้เห็นช่องทาง ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ การพัฒนาด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ระหว่าง ไทย-ลาว เป็นที่สนใจอยู่ขณะนี้ เป็นเพราะการเปิดให้บริการ รถไฟ สปป.ลาว-จีน ที่เชื่อมโยงเส้นทางสินค้าทั้งระบบรางและทางถนน

เพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟขนาดทาง 1.435 เมตร และขนาดทาง 1 เมตรจากไทย ปัจจุบัน ทางรถไฟจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ของรถไฟลาว-จีน ถึงท่าเรือบกท่านาแล้ง เป็นระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ได้เสร็จสิ้นการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อย และได้เปิดใช้แล้วในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวแล้ว สิ่งที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากรถไฟนี้ นั่นคือ ภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด โดยจะมีการเชื่อมระบบขนส่งของ สปป.ลาวสู่อาเซียน ทำให้ง่ายต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างชายแดน ซึ่ง Land Link หรือ การใช้บริการเชื่อมโยง คือ เส้นทางที่ขนส่งสินค้า หากสินค้าจากจีนขนส่งมาทีไทยและอาเซียน รวมทั้งสินค้าจากไทยที่จะส่งไปจีนและยุโรป บริการ Land Link จะเหลือเงินสดในธุรกิจมากกว่าเดิม ซึ่งพบว่า ในปี 2564 มูลค่าการค้า ของ 20 จังหวัดภาคอีสานของไทยกับประเทศจีน เท่ากับ 2.58 ล้านล้านบาทส่วนการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าราว 1.12 ล้านล้านบาท

ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงของ สปป.ลาว เปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงใหม่และโอกาสทองสำหรับนักลงทุนไทย เพราะมีการเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เช่น การขนส่งทางทะเลไปฝั่งตะวันออกที่ท่าเรือหวุ่งอ่าง โดยหวังว่าจะดึงลูกค้าจากอีสานไปใช้บริการ เพราะเป็นทางลัด ระยะทางจากชายแดนไทย ที่นครพนมไปท่าเรือ เพียง 240 กิโลเมมตรเท่านั้น เส้นทางรถไฟเส้นนี้ จะเริ่มสร้างในเดือน พ.ย.ปี 2565 นี้ คาดว่าอีกราว 5 ปี จะเสร็จสมบูรณ์ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางนี้อาจดึงลูกค้าบางส่วนออกจากท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับสินค้าที่จะไป ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ไต้หวัน เพราะทำราคาได้ถูกกว่า เส้นทางเดิมผ่านแหลมฉบัง

laos1

แหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่น่าจับตามองในตลาดสปป.ลาว ปี 2565

ปัจจุบันลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ นี้ 1) เขตสะหวัน เซโน ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต 2) เขตบ่อเต็น แดนคำ ตั้งอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา 3) เขตสามเหลี่ยมทองคำ ตั้งอยู่ในเมืองต้นผึ้งแขวงบ่อแก้ว 4) เขตเฉพาะภูเขียวตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน 5) เขตเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าโนนทอง ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 6) เขตพัฒนาไซยะเสดถารวม ตั้งอยู่ที่นครหลวงวียงจันทน์ 7) เขตเฉพาะดงโพสี ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ 8) เขตเฉพาะบึงธาตุหลวง ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 9) เขตเฉพาะลองแทงห์ ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 10) เขตเฉพาะท่าแขก 11) เขตพิเศษแขวงจำปาสัก 12) เขตพิเศษแขวงหลวงพระบาง โดยมี 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุน ณ ขณะ นี้ นั่นคือ


อุดมไซ

แขวงอุดมไซ 1 ในตลาดใหม่ทางตอนเหนือ ตั้งอยู่ในวงล้อมของแขวงพงสาลี หลวงพระบาง ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ ทำให้มีการสร้างสมาร์ทซิตี้ (Smart city) โดยธุรกิจที่เหมาะสมแก่การลงทุน คือสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ยางพารา ผักปลอดสารพิษ และพืชที่ใช้เป็นพลังงานทางเลือก ด้านทรัพยากรเหมืองแร่ ได้แก่ สังกะสีกับเหล็ก เป็นต้น


นอกจากนี้แขวงอุดมไซเป็นเมืองที่รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาววิ่งผ่าน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เปิดบริการให้ใช้แล้วในปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้นแขวงนี้จึงเหมาะสมและควรค่าแก่การทำธุรกิจในด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างยิ่ง นักธุรกิจไทยที่สนใจจะลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การขาย-การบริหารจัดการหรือลงทุนด้านการตั้งศูนย์กระจายสินค้า สถานที่พักรถ ศูนย์การค้าเมืองใหม่ และศูนย์ไอที ควรรีบเข้าไปศึกษาและลงทุนเพื่อโอกาสในการทำธุรกิจ


หลวงน้ำทา

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีจุดเด่นด้านพื้นที่ทางเหนือติดกับจีนบริเวณมณฑลยูนนาน และด้านทิศตะวันตกติดกับเมียนมา ด้วยเขตที่ง่ายต่อการติดต่อการค้ากับหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่รถไฟไทยจีน-ลาวตัดผ่าน ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งจะมีความรวดเร็ว อีกทั้งในอนาคตแขวงหลวงน้ำทาจะกลายเป็นด่านพรมแดนที่สำคัญที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้เหมาะกับธุรกิจในด้านการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจการนำเที่ยว โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม ของที่ระลึก และคมนาคมขนส่ง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่มีความช้านาญในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว


นอกจากนี้ แขวงหลวงน้ำทายังตั้งอยู่บนเส้นทาง R3 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อม ไทย (เชียงราย) – ลาว – จีน (คุนหมิง) โดยบริเวณด่านสากลบ่อเต็น ทำให้กลายเป็นจุดขนส่งสินค้าเข้าสู่จีนทั้งทางบก และทางแม่น้ำโขงที่สำคัญ

โอกาสและเคล็ดลับสำหรับนักลงทุนไทย

1. วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของชาวลาว

  • เทคนิคการตั้งชื่อสินค้า

โดยทั่วไป ชาวลาวนั้นส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้นชินกับการใช้สินค้ายี่ห้อเดิม ทำให้เชื่อว่าสินค้าที่ออกสูตรใหม่ต้องดีกว่าสูตรเดิมเสมอ ดังนั้นหากมีการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ จะต้องระบุชัดเจนว่าเป็น “สูตรใหม่” และคุณภาพของสินค้าจะต้องดีกว่าสูตรเดิม เพราะชาวลาวส่วนมากมักจะเชื่อมั่นคนใกล้ชิดมากกว่าโฆษณาในลักษณะการพูดกันแบบปากต่อปาก ดังนั้นหากสินค้าไม่ดีจริงย่อมมีผลกระทบต่อยอดขายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ชาวลาวยังเชื่อเรื่องความหมายของคำ ดังนั้น ชื่อสินค้าจะต้องเป็นคำที่มีความหมายมงคล เช่น “มีทรัพย์” “มีโชค” และควรเป็นชื่อที่ง่ายต่อการจดจำด้วย

  • การทำการตลาดออนไลน์

สำหรับผู้ประกอบการไม่ควรเน้นการขายสินค้าผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก เพียงช่องทางเดียว เพราะอัตราการใช้เฟซบุ๊กของชาวลาวมีเพียง 2 % เท่านั้น หากต้องการทำโฆษณาควรเลือกใช้ข้อความจูงใจ หรือเลือกติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เช่น ติดตามรถรับจ้าง หรือตามข้างทาง แต่ต้องระวังและศึกษาให้ดีเรื่องการใช้ภาษาแม้ว่าภาษาอีสานของไทยจะคล้ายกับภาษาลาวแต่ความหมายของคำบางคำต่างกัน


2. การถือหุ้น

สามารถถือหุ้นในธุรกิจตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าใน สปป.ลาว โดยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ยกเว้นกรณีเข้าไปจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือสำนักงานผู้แทน สามารถถือหุ้นข้างมากได้ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการลงทุนต่างชาติของลาว และในกรณีว่าจ้างพนักงานลาว ผู้ลงทุนต่างชาติจะต้องให้การฝึกอบรมลูกจ้างคนลาวเพื่อยกระดับทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น หรือส่งลูกจ้างลาวไปฝึกอบรมในต่างประเทศ

3. แหล่งขนส่งสำคัญใน สปป.ลาว

ธุรกิจรับจัดการขนส่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ เนื่องจากเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ ยังมีด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ ด่านสะพานมิตรภาพ (เวียงจันทน์) ด่านบ่อเต็น (แขวงหลวงน้ำทา) ด่านแดนสะหวัน และด่านสะหวันนะเขต (แขวงสะหวันนะเขต) ด่านห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว) ด่านหนองนกเคี่ยน (แชวงอัตตะปือ) ด่านท่าแขก และด่านนาพา (แขวงคำม่วน) ด่านวังเตา (แขวงจำปาสัก) ด่านแก่นท้าว (แขวงไชยบุรี) และ ด่านปากซัน (แขวงบอลิคำไซ)


4. การติดต่อค้าขาย

เน้นการจับมือกับผู้ประกอบการในสมาคม Lao Freight Forwarders Association (LIFFA) และจับกลุ่มลูกค้าไทยที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับลาว โดยสินค้าที่สำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อาหาร สินค้า อุปโภคบริโภค เครื่องจักร ปูนซิเมนต์และอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น


5. รถไฟฟ้าทางที่เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุน

เส้นทางคมนาคมสายใหม่ รถไฟฟ้าจีน-ลาว โดยผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ ในรูปแบบการร่วมทุนกับผู้ประกอบการลาว เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ในการเดินรถข้ามไปยังประเทศข้างเคียง และธุรกิจบริการที่ไทยมีความถนัด เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขาย ของที่ระลึก และนวดสปา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยควรศึกษา กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนให้ดีก่อนเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ การทำธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ สามารถอาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกไปจีนได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลจีนและลาว อีกทั้งยังสามารถทำอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีและซัพพลายเชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีสิทธิประโยชน์และเอื้อต่อการลงทุน หากนับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รถไฟจีน-สปป.ลาว ขนส่งผู้โดยสารมาแล้วทั้งหมด 3.36 ล้านคน โดยทางรถไฟภายใน สปป.ลาว ให้บริการขนส่งผู้โดยสารมาแล้ว 4.8 แสนคน ขนส่งขบวนรถไฟบรรทุกสินค้ามาแล้ว 4.69 ล้านตัน และขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจีน-สปป.ลาว มาแล้ว 7.7 แสนตัน


ปัจจุบัน สปป.ลาว นับว่าเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในลาวได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การทำการค้ากับชาวลาวไม่ใช่สิ่งที่ท้าทายเกินความสามารถของผู้ประกอบการไทย เพราะชาวลาวเชื่อมั่นในสินค้าไทยเป็นทุนเดิม จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สินค้าไทยจะมีโอกาสส่งออกและเจาะตลาดลาวได้ เหตุนี้ ข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยได้รับจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จไม่มากก็ดี


สำหรับลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://scbcw-preprod.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทน์ https://scbcw-preprod.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network/laos.html

แหล่งอ้างอิง

1. SALIKA. “บทพิสูจน์ มิตรภาพ ไทย-ลาว ที่ ‘ขาดกันบ่ได้’ จะนำสู่การตั้ง ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าอาเซียน ได้จริงหรือ?” . https://www.salika.co/2022/06/13/thailand-lao-friendship-establish-logistics-center-of-asean/ (สืบค้นเมื่อ 22/6/2565)

2. Post Family. “ขุมทรัพย์แห่งใหม่ 2 ทำเลทองตลาด สปป.ลาว โลจิสติกส์เยี่ยม กำลังซื้อยอด” . https://postfamily.thailandpost.com/ecommerce-insights/%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-2-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A5/ (สืบค้นเมื่อ 22/6/2565)

3. DITP. “เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสปป.ลาว” . https://ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/730673/730673.pdf&title=730673&cate=994&d=0 (สืบค้นเมื่อ 23/6/2565)

4. SALIKA. “ไฮสปีดเทรน ดัน ‘อุดมไซ-หลวงน้ำทา’ สู่ ‘สมาร์ทซิตี้’ กับโอกาสสินค้าไทยใน สปป.ลาว” . https://www.salika.co/2019/09/17/hi-speed-train-laos-china-opportunities-for-thai-products-in-laos/ (สืบค้นเมื่อ 27/6/2565)

5. MGR Online. “แนะนักลงทุนไทยเข้าชายแดนลาว-จีนแขวงอุดมไซ” . https://mgronline.com/indochina/detail/9490000145870 (สืบค้นเมื่อ 28/6/2565)

6. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. “ส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ” . https://www.boi.go.th/upload/content/BOI_November57_30162.pdf (สืบค้นเมื่อ 28/6/2565)

7. DITP. “แขวงหลวงน้ำทามองโอกาสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” . http://www.ditp.go.th/contents_attach/191157/191157.pdf (สืบค้นเมื่อ 28/6/2565)

8. กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีซีทีเอเชียประกันภัย จำกัด สปป.ลาว. “โอกาสและความท้าทายโลจิสติกส์ไทยลาว” . http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF/8560st/8560%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87%20%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B9%8C.pdf (สืบค้นเมื่อ 28/6/2565)

9. สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย. “เปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว: นัยต่อเศรษฐกิจไทย” . https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/DocLib14/RL_china-laos%20railway.pdf (สืบค้นเมื่อ 29/6/2565)

10. CHOPHAYOM JOURNAL. “รูปแบบการพัฒนาการส่งเสริมการค้าการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษวังเต่า – โพนทอง, แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” . file:///C:/Users/thr181/Downloads/chophayom,+%23%23default.groups.name.manager%23%23,+21+%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%87+%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf (สืบค้นเมื่อ 29/6/2565)

11.   The Standard. “สปป.ลาว เปิดใช้จุดถ่ายสินค้า ‘รถไฟจีน-สปป.ลาว’ พร้อมส่งตู้รถไฟสินค้าสู่แหลมฉบัง” . THE STANDARD - UPDATE: สปป.ลาว เปิดใช้จุดถ่ายสินค้า... | Facebook (สืบค้นเมื่อ 4/7/2565)