ถอดรหัสตลาดส่งออก จากมุมมอง TROPICANA ผู้ต่อยอดภูมิปัญญาไทยไปสู่โลก

จากสินค้าที่วางขายในตลาด OTOP ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Tropicana ที่เริ่มต้นจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ได้พัฒนาต่อยอดสินค้ามากกว่า 100 รายการ และกลายเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก คุณณัฐณัย นิลเอก ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด มาแบ่งปันประสบการณ์ปลุกปั้นและส่งออกแบรนด์ Tropicana สินค้าจากรากเหง้าภูมิปัญญาไทยไปโด่งดังไกลในตลาดโลก

tropicana-from-local-to-global-01

รู้จักแบรนด์ TROPICANA


ครอบครัวคุณณัฐณัย ทำสวนมะพร้าวลุ่มน้ำตาปี จ.สุราษฏร์ธานี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่  พอมารุ่นคุณพ่อ คุณสุรเดช นิลเอก หลังจากสั่งสมประสบการณ์ทำงานในบริษัทเอกชน ก็มาเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว ตั้งโรงงานประกอบพื้นรองเท้าส่งขายให้แบรนด์ดังในสหรัฐ เมื่อเกิดวิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย ธุรกิจไปต่อไม่ได้ กลับไปค้นหาภูมิปัญญาที่บ้านเกิด ในปี 2003 นำเอามะพร้าวในลุ่มแม่น้ำตาปีที่เป็นวัตถุดิบพื้นบ้านในวิถีชีวิตท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีคุณภาพในชื่อแบรนด์ TROPICANA โดยในช่วงแรกกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุ ขายในตลาด OTOP ต่อมาก็ได้ขยายตลาดมาที่คนทั่วไป ดัดแปลงสินค้าเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ออกแบบแพคเกจจิ้งทันสมัย ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่


จุดเด่นของแบรนด์ TROPICANA ได้แก่ กระบวนการผลิตไม่เหมือนใคร ตัวน้ำมันมะพร้าวเป็นสีประกายทอง ลดกลิ่นหืนได้โดยไม่ต้องใช้สารแต่งกลิ่น ใส่ใจคุณภาพสินค้าด้วยการสกัดเอาน้ำมันผิวกะลาที่มีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ Tropicana มีคุณประโยชน์สูงกว่าน้ำมันมะพร้าวทั่วไป รวมถึงการใส่ใจเลือกวัตถุดิบคุณภาพดี เป็นมะพร้าวแก่ที่ปลูกมานาน 12 เดือนขึ้นไป


ด้านการพัฒนานวัตกรรมสินค้า ได้ขยายไลน์สินค้าเครื่องสำอางบำรุงผิว เส้นผม ช่องปาก มากกว่าร้อยรายการ มีทั้งหมด 3 แบรนด์ ได้แก่ Tropicana, Kalapa เจาะตลาดกลุ่มพรีเมียม และ Rain Shine เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร (น้ำมันมะพร้าว/แป้งมะพร้าว) มีผลวิจัยรับรองคุณภาพ  มีมาตรฐานระดับสากลรับรอง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เช่นมาตรฐาน ISO 14001 และ USDA organic รวมถึงการสร้างแบรนด์ที่ชัดเจน ให้ผู้บริโภคจดจำง่าย โดยหัวใจของแบรนด์ TROPICANA คือผลิตภัณฑ์ทำมาจากมะพร้าวออร์แกนนิค โดยทำ Certified ออร์แกนนิค สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า


และสิ่งที่แบรนด์ TROPICANA ทำมาตลอดคือการคืนกำไรสู่สังคม ด้วยการดูแลเอาใจใส่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการผลิตมุ่งเน้นการเป็น Zero Waste และ Bio-Circular- Green Economy  โดยนำส่วนต่างๆ ของมะพร้าวที่เป็นสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น  นำกาบมะพร้าวไปทำวัสดุปลูกผักออร์แกนนิค ปลอดสารพิษ ขายในราคาที่เป็นธรรมให้กับพนักงานและคนในชุมชนได้มีสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี   ส่วนจาวมะพร้าวมาเป็นอาหารให้ปลาแทนอาหารเม็ด นำกะลามะพร้าวไปขายทำถ่านกัมมันต์ที่เป็นยา น้ำมะพร้าวก็นำไปส่งโรงงานผลิตบรรจุน้ำมะพร้าวได้ด้วย กระบวนการทั้งหมดนี้ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมดี ผู้บริโภคมีสินค้าที่ทำให้สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนก็มีเศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยมูลค่าผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้  อีกทั้งยังรักษารากเหง้าภูมิปัญญา วิถีชีวิตชุมชน ต่อยอดให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ส่งต่อเรื่องราวดีๆ ไปให้ลูกหลานต่อไป

จาก Local สู่ Global


ช่องทางการจำหน่ายในตอนเริ่มต้น ขายตลาด OTOP ก่อน แล้วขยายเข้าตลาดในแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต สมุย ทำให้นักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน รัสเซีย เกาหลี ฯลฯ ได้ทดลองใช้และติดใจ ทำให้สินค้าแบรนด์ TROPICANA ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว จนมีนักธุรกิจต่างชาติมาติดต่อนำ TROPICANA ไปขาย ซึ่งจุดนี้เองนำไปสู่การส่งออกทำตลาดในต่างประเทศ


จากที่ทีมบริหารมองว่าสินค้ามีศักยภาพ จึงมองหาช่องทางไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยช่องทางการตลาดในไทยและต่างประเทศแบ่งเป็นออนไลน์ และออฟไลน์  โดยในฝั่งออนไลน์ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing Co-Branding, PR Social Media, Seasonal promotion, Online Advertising , SEO/SEM  ฝั่งใช้ออฟไลน์  วิทยุ ออกบูธ โปรโมชั่นในร้านค้า


คุณณัฐณัยเน้นย้ำจุดสำคัญว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าอยู่กับเราอย่างยั่งยืน คือ การทำตลาดในประเทศให้แข็งแรงก่อน ทั้งในเรื่องของ Branding และ Distribution ถ้าสินค้าบนชั้นวางในห้างขายดี มีการ Turn Over สูง นักธุรกิจต่างชาติก็จะให้ความสนใจ และจากประสบการณ์ทำตลาดต่างประเทศ จนทำให้มีสินค้าแบรนด์ TROPICANA จำหน่ายในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก คุณณัฐนัยสรุปโอกาสและข้อควรระวังของตลาดสินค้าเครื่องสำอางในประเทศต่างๆ ดังนี้


รัสเซีย
 

โอกาส

ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง

·        รู้จักสินค้าไทยเป็นอย่างดี เพราะคนรัสเซียมาเที่ยวไทยเยอะและอยู่นาน (ภูเก็ต/พัทยา/สมุย)

·        ระบบ e-Commerce เติบโตรวดเร็ว

·        สามารถเชื่อมโยงตลาดไปกลุ่ม CIS เช่น คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย เอสโทเนีย และยุโรปตะวันออก เนื่องจากใช้ภาษาเดียวกัน

·        มีความต้องการสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามสูง

·        เป็นประเทศพื้นที่ตลาดขนาดใหญ่

·        ภาวะสงครามยืดเยื้อ

·        ความมั่นคงทางการเงิน ค่าเงิน การชำระเงิน ปัญหาค่าเงินรูเบิล

·        ค่าขนส่งสินค้าสูงเป็นเท่าตัว

·        ระยะเวลาขนส่งสินค้า

·        กฎระเบียบนำเข้าสินค้าเข้มงวด

·        มีความเสี่ยงสูงในการทำ Exclusive Distributor เพราะตลาดใหญ่มาก Distributor หนึ่งรายอาจไม่เก่งทุกตลาด ต้องเลือกให้ดี

·        การ Parallel Import จากตลาดนักท่องเที่ยวในไทย (มีคนรัสเซียส่งตรงจากไทยไปขายแข่ง)

·        การขนส่งในบางเมือง/ประเทศไม่ติดทะเล เช่นคาซักสถาน

·        ต้นทุนในการนำเข้าสูง ทำให้ราคาสินค้าปลายทางราคาสูง

·        มีความเสี่ยงในการถูกลอกเลียนแบบสินค้า


จีน

โอกาส

ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง

·        มีการเติบโตเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

·        มีจำนวนประชากรมาก

·        ชื่นชอบสินค้าและวัฒนธรรมไทย

·        ช่องทางการขายออนไลน์เติบโตได้รับความนิยมสูง

·        ระบบขนส่งในประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว

·        มีความต้องการสินค้าต่างประเทศสูง

·        ข้อกำหนดการนำเข้าสินค้าไปขายอย่างถูกกฎหมาย โดยสินค้าเครื่องสำอางที่ต้องมีการจดอย.ที่จีน (CFDA) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง (6 หมื่น – 1 แสนบาทต่อ 1 SKU) และใช้เวลานาน (6 เดือน-1 ปี) ในส่วน Organic Certification ต้องรับรองโดย China Organic เท่านั้น (ไม่ยอมรับ USDA Organic / EU Organic)

·        ปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้า/การลอกเลียนแบบสินค้า ไม่เฉพาะชื่อออริจินัลของแบรนด์เท่านั้น แต่รวมถึงชื่อทับศัพท์ที่คนจีนเรียกสินค้าเราด้วย

·        การนำเข้าสินค้าแบบคู่ขนานจากตลาดไทย/ชายแดน ผ่านทางลาว เวียดนาม

·        ข้อจำกัดในการเริ่มทำ Cross Boarder e-Commerce ในจีน ค่าใช้จ่ายสูง เหมาะกับ
แบรนด์ใหญ่

·        การสื่อสารกับลูกค้าที่มักใช้ภาษาจีนเป็นหลัก

·        กลุ่มผู้บริโภคหลากหลาย คนแต่ละมณฑลไม่เหมือนกัน ต้องใช้กลยุทธ์ทำตลาดแต่ต่างกัน

·        การทำงานร่วมกับตัวแทนกระจายสินค้า

 

กลุ่มประเทศอาเซียน
 

โอกาส

ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง

·        มีการใช้สินค้าไทยในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

·        ตลาดมีการพัฒนาจากลงทุนของต่างชาติ เช่นเวียดนาม ลาว กัมพูชา

·        อาหารการกิน วัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทย

·        ข้อกำหนดในการส่งออกไม่ยุ่งยากและใช้หลักการเดียวกันทั่วอาเซียน จดที่ประเทศหนึ่งก็ใช้กับประเทศอื่นในอาเซียนได้

·        ผลประโยชน์จาก FTA

·        มีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าที่ดี

·        สามารถใช้วิธืการทำตลาดคล้ายกับตลาดในไทยได้ ทำโปรโมชั่นในไทย ก็ได้ผลกับที่อื่น เช่น ลาว

·        เจอการแข่งราคากับสินค้าจากตลาดการค้าชายแดน

·        สินค้าเจาะตลาดบน ต้องใช้เวลาทำตลาดนานกว่าสินค้า Mass เพราะมีกลุ่มกำลังซื้อน้อยกว่า

·        อาจถูกลอกเลียนแนวทางทำธุรกิจได้ง่าย เช่นข้าว เกษตรแปรรูป ประเทศอื่นทำตามและจะเกิดการแข่งขันด้านราคา

·        ข้อกำหนดเรื่อง Halal ของสินค้าเครื่องสำอางในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้มงวดมาก

·        การขนส่งระหว่างประเทศยังเป็นอุปสรรคในการกระจายสินค้า อาจขายได้เฉพาะในหัวเมืองหลัก

 

ฮ่องกง
 

โอกาส

ข้อควรระวัง

·        ข้อกำหนดในการนำเข้า-ส่งออกไม่ยุ่งยาก

·        ผลประโยชน์ทางภาษี ภาษีเป็น 0

·        การส่งออกต่อไปยังประเทศจีน (In direct) ทำได้ง่าย

·        มีฐาน T-Mall Global

·        ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง

·        เป็นศูนย์กลางการค้าไปได้หลายประเทศ

·        เศรษฐกิจกำลังหดตัวจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีน

·        ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

·        จำนวนประชากรไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

ญี่ปุ่น
 

โอกาส

ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง

·        ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง

·        ผู้นำเข้ามี Loyalty แม้ซื้อครั้งแรกยาก แต่ถ้าซื้อแล้ว จะซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง

·        คู่ค้ามีความน่าเชื่อถือสูง

·        เครดิตการเงินดี ชำระเงินตรงเวลา

·        ผลประโยชน์ด้านภาษีนำเข้า JTEPA

·        เน้นเรื่องการออกแบบสินค้า แพคเกจจิ้ง

·        มีความเข้มงวดสูงในด้านคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร

·        ใช้ระยะเวลา/ขั้นตอน/เอกสาร ในการตัดสินใจสั่งซื้อครั้งแรกค่อนข้างมาก

·        หากสินค้าไม่อยู่ในกระแส หรือมีความต้องการในตลาด คู่ค้าอาจยังไม่เปิดใจ

·        ข้อกำหนดสูงในการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอาง

·        ผู้นำเข้าจะไม่นำเข้าสินค้าข้ามกลุ่มกัน เพราะมีความเชี่ยวชาญแต่ละตลาดโดยเฉพาะ

 

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
 

โอกาส

ข้อควรระวัง

·        ผู้บริโภคสนใจสินค้าไทย จากที่คนอาหรับมาใช้บริการ Health Care ในเมืองไทยเยอะ

·        ตลาดแบ่งเป็น 2 แบบในแต่ละกลุ่มประเทศ

-          เน้นคุณภาพ เช่น  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาร์เรน ซาอุดิอาระเบีย

-          เน้นราคา เช่น อิรัก อิหร่าน ชอบสินค้าที่เห็นผลในทันที

·        การเงินดี จ่ายเงินไว (จากประสบการณ์)

·        ตัดสินใจซื้อง่าย

·        เงื่อนไขดำเนินธุรกิจไม่เยอะ

·        มีข้อกำหนดในการนำเข้าเยอะ เช่นการรับรอง SGS SASO, ขออนุญาต FDA , ภาษีนำเข้า

·        มีความต้องการจำเพาะเจาะจงของสินค้า

·        ใช้ภาษาอาหรับในการพูดคุยเจรจา

·        มีทัศนคติต่อสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าราคาถูก


ยุโรป

โอกาส

ความเสี่ยง/ข้อควรระวัง

·        ถ้าเข้าไปขายได้ 1 ประเทศแล้ว ก็สามารถขายต่อในประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม EU ได้

·        มีช่องทางจัดจำหน่ายครอบคลุมหลายประเทศ เช่น Amazon EU

·        สินค้าไทยมีความแปลกใหม่ แต่ต้องมีผลทดสอบที่ชัดเจนด้วย

·        สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในเรื่องราคา

·        เน้นการออกแบบสินค้าและแพคเกจจิ้ง

·        ให้ความสำคัญเรื่อง Eco-Friendly เช่น แพคเกจจิ้งรีไซเคิล หมึกพิมพ์ Soy Ink เป็นต้น

·        มีข้อกำหนดในการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางจำนวนมาก ทั้งเอกสารและผลทดสอบ ออกโดยสถาบันในยุโรป ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง

·        กลุ่มสินค้า Natural Product มีการแข่งขันสูง และต้องรับรองโดย Certificate ที่เป็นที่ยอมรับ เช่น USDA Organic, COSMOS Organic, ECOCERT เป็นต้น

นักส่งออกในยุค Post Covid ปรับตัวอย่างไรบ้าง?
 

คุณณัฐณัยมองการส่งออกสินค้าในปัจจุบันว่าเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะ จากที่เคยต้องไปออกบูธในต่างประเทศ เป็นเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการการขาย เช่น Cross border e-Commerce ที่มีความท้าทาย, Digital Marketing ที่เป็นเครื่องมือทำตลาดทั้งในฝั่งของผู้ส่งออกและตัวแทนจำหน่าย, e-Business Matching จากเดิมที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็เปลี่ยนมาเป็นการประชุมออนไลน์ พูดคุยหารือกันได้ตลอดเวลา, SEO/ Online Branding


อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจคือการใช้ Connection และสืบค้นหาข้อมูลคู่ค้าจากแหล่งต่างๆ เช่น Thai Trade Center (สคต.) DITP, สถาบันการเงิน เช่น SCB Trade Portal, การสืบค้นผู้นำเข้าสินค้าใกล้เคียง, เพื่อนร่วมการสัมมนา การออกบูธงานต่างๆ เป็นต้น


“ด้วยการส่งออกสินค้าเปลี่ยนไปเยอะ เราต้องปรับตัวเยอะมากในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งถ้าเราตามไม่ทัน เราก็อาจหาลูกค้าไม่เจอ” คุณณัฐณัยกล่าวสรุป


ที่มา : สัมมนาโครงการ ITP Digital Exporter 4 เปิดตลาดส่งออก ดึงลูกค้าไกลจากต่างแดน : การทำการตลาดแต่ละประเทศ วันที่ 7 มิถุนายน 2565