5 สิ่งไม่ควรทำ ถ้าไม่อยากเสียใจตอนเกษียณ

ชีวิตหลังเกษียณฟังดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เมื่อเราทำงานมาซักพักหนึ่งก็ดูเหมือนว่าเวลาผ่านไปรวดเร็วอย่างไม่รู้ตัว จาก First Jobber หน้าใสวัย 20 ต้นๆ กลายเป็นมนุษย์เงินเดือนในวัยเลข 3 แปลงร่างเป็นมืออาชีพเมื่อย่างเข้าหลัก 4 ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารพร้อมมีเลข 5 นำหน้า อีกไม่กี่ปีก็ต้องออกชีวิตการทำงาน เข้าสู่เส้นทางของคนวัยเกษียณ ที่แม้จะมีเวลาว่างแต่ก็ไม่มีรายได้เข้ามาทุกเดือนเหมือนก่อน แนะนำ 5 สิ่งเรื่องการเงินที่ไม่ควรทำ ถ้าไม่อยากมาคิดเสียใจเมื่อถึงวันเกษียณ


1) เอาเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้ก่อน : เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นแผนการออมเงินที่นำเงินได้จากการทำงานมาทั้งชีวิต รวมกับที่นายจ้างส่งสมทบ ลงทุนในสินทรัพย์สร้างผลตอบแทน กลายมาเป็นเงินก้อนใหญ่ ให้เราได้ใช้จ่ายในชีวิตหลังเกษียณ เงินก้อนนี้จึงไม่ควรถูกแตะต้องก่อนที่จะถูกนำออกมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของมัน ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ เมื่อเราเปลี่ยนงานแล้วได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมจากที่ทำงานเก่าออกมา กลับนำเงินก้อนนี้ไปใช้ แทนที่จะโอนไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ หรือลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กลับกลายเป็นว่าเราสูญเสียช่วงเวลาในการเก็บเงินสำหรับชีวิตเกษียณไปอย่างน่าเสียดาย  สิ่งที่น่าเสียใจอีกอย่างคือ การลดจำนวนเงินส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะจะทำให้เราได้เงินก้อนในบั้นปลาย น้อยกว่าที่ควร


2) คิดเรื่องเงินออมสำหรับชีวิตเกษียณช้าเกินไป
:  หลายคนๆ เพิ่งจะมาคิดถึงการเก็บเงินเพื่อชีวิตเกษียณเมื่ออายุขึ้นเลข 4 ย่างเข้าเลข 5 จริงก็ยังไม่สายที่จะเริ่มเก็บเงิน แต่ก็ต้องเก็บแต่ละเดือนในจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งก็หมายถึงการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างสุดขั้วและมีวินัยการเก็บเงินขั้นสุด ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยากเนื่องจากอยู่ในช่วงชีวิตที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในทุกด้าน จะดีกว่าหรือมั้ยถ้าเราจะเริ่มเก็บเงินเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อยที่ชีวิตยังไม่มีภาระ และยังเป็นการฝึกฝนตนเองสร้างวินัยทางการเงินที่ดีนำไปสู่ความมั่นคงในยามบั้นปลายชีวิต

5-do-not-for-retirement-01

3) ไม่ทำประกันสุขภาพระยะยาว : การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองต่อเนื่องไปจนเราอายุมากในวงเงินสูงเพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสุขภาพที่ร่วงโรยในวัยชรานำพาโรคภัยไข้เจ็บที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ การที่เราทำประกันสุขภาพระยะยาวที่มีผลคุ้มครองยาวถึงชีวิตหลังเกษียณ โดยรีบทำและจ่ายเบี้ยประกันให้ครบตอนที่ยังทำงานมีรายได้อยู่นั้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราไปรอทำตอนเกษียณที่ไม่มีรายได้เข้ามาแล้ว ค่าเบี้ยประกันจะกลายเป็นภาระที่ต้องจ่ายด้วยเงินที่เก็บไว้กินไว้ใช้ ที่สำคัญประกันอาจไม่ครอบคลุมโรคเรื้อรังหากเรามีอาการหรือประวัติการรักษาแล้วอีกด้วย ดูรายละเอียดประกันสุขภาพ คลิกที่นี่


4) ไม่ลงทุนอย่างอื่นเลย : ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าเงินที่เรามีอยู่น้อยลงทุกที ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ถ้าเราไม่เอาเงินเก็บมาลงทุนบ้างเลย กว่าจะถึงช่วงเกษียณ ค่าของเงินเก็บที่มีอยู่ก็ลดน้อยถอยลงไปมาก ส่วนคำถามว่าจะลงทุนอะไรดี “หุ้น” เป็นทางเลือกในการลงทุนที่จะทำให้มูลค่าเงินออมชนะเงินเฟ้อได้  เพราะปกติหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลควรให้สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้น หากสนใจควรมองอัตราผลตอบแทนระดับสูงขึ้น เช่น 5% ขึ้นไป อย่างไรก็ดี การลงทุนก็ต้องเลือกหุ้นที่มีความปลอดภัยสูง นั่นคือ หุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง นอกเหนือจากหุ้นแล้ว ก็ยังมีการลงทุนในทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยให้เราชนะเงินเฟ้อได้ อ่านเพิ่มเติม “ลงทุนอย่างไรให้ชนะเงินเฟ้อ”


5) จ่ายให้ลูกเท่าไหร่เท่ากัน
:  แม้ว่าคนเป็นพ่อแม่จะอยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งข้าวของเครื่องใช้ดีๆ การศึกษาในโรงเรียนที่ดี สังคมที่ดี ซึ่งหากไม่ได้มีการวางแผนการใช้จ่ายให้ดี เงินที่จ่ายออกจากกระเป๋าไปก็หมายถึงเงินที่จะเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณร่อยหรอลดน้อยลงไปด้วย และจะกลายเป็นความฝืดเคืองในชีวิตบั้นปลาย ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ควรใช้จ่ายเพื่อลูก แต่เราควรมีการวางแผนที่ดีในการเก็บเงินสำหรับชีวิตเกษียณของเราก่อน แล้วมามองหาสิ่งที่ดีที่สุดในวงเงินที่เราสามารถจ่ายให้ลูกได้ และลองใช้ตัวช่วยอื่นๆ เช่น ทุนการศึกษา สินเชื่อเพื่อการศึกษา เป็นต้น


ไม่มีใครอยากจะลำบากในตอนแก่ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการขาดการวางแผนและการเก็บออมที่ดีให้มีเงินมากพอ 5 แนวทางนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องมานึกเสียใจทีหลังว่า รู้อะไรไม่สู้รู้อย่างนี้


แนะนำลงทุนผ่านแอป EASY INVEST ซื้อขายกองทุนรวมต่างๆ จากหลากหลาย บลจ. แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCBS และมีบริการ ROBO ADVISOR ใช้ AI ช่วยบริหารพอร์ตให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้ลงทุน และยังคงพัฒนาต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนให้ดีที่สุด

ที่มา : https://www.kiplinger.com/slideshow/retirement/t047-s001-retirement-mistakes-you-will-regret-forever/index.html