ปักธงสินค้าไทยขายดีในตลาดจีน ด้วย Cross- Border E-Commerce (CBEC)

จีนเป็นตลาดการค้าอันดับต้นๆ ของโลก จึงเป็นที่หมายปองของคนทำธุรกิจที่อยากเข้าไปช่วงชิงตลาด ยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าไทยได้รับความนิยมอย่างมาก และคนจีนรุ่นใหม่ก็มีกำลังซื้อ ยิ่งสร้างโอกาสทองให้ธุรกิจไทยอยากไปขายสินค้ามากขึ้น ธุรกิจ Cross- Border E-Commerce หรือ CBEC จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยผู้ประกอบการไทยให้มีพื้นที่การค้าโดยไม่ต้องจดทะเบียนบริษัทในจีน คุณบรรพต  หาญทองคำ  กรรมการบริษัท บีบีเบิร์ดเนส เทรดดิ้ง จำกัด ได้แชร์ประสบการณ์การทำ CBEC ให้กับผู้เข้าอบรม ITP4 Digital Exporter  ดังนี้


ล้มลุกเรียนรู้ สู้ศึกแดนมังกร

คุณบรรพตเล่าว่าในอดีตเคยขายรังนกในไทยแต่ก็โดนกดราคา เลยมองหาโอกาสใหม่ที่ตลาดจีน ครั้งแรกล้มเหลวแต่ก็ไม่ย่อท้อ  กลับเมืองไทยวางกลยุทธ์ใหม่ สร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ เจาะกลุ่มลูกค้าคนจีนในไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน และมองหาช่องทางการขายใหม่ เช่น ร้านบู๊ทส์ , 7-11  และจุดที่มีนักท่องเที่ยวจีนเยอะ รวมทั้งติดต่อไกด์หรือบริษัททัวร์ให้พาคนมาซื้อสินค้า  พอสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวจีน คุณบรรพตเลยหาโอกาสเหมาะกลับไปรุกตลาดจีนอีกครั้ง แม้ว่าตลาดรังนกในจีนจะเป็น Red Ocean แต่ด้วยการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง สินค้าได้รับความไว้วางใจให้เลี้ยงรับรองบุคคลสำคัญที่มาเยือนประเทศจีน รวมถึงบุคคลสำคัญของจีน จนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในที่สุด

bunphot

ปักธงธุรกิจ Cross Border E-Commerce ในจีน

เมื่อคิดจะทำธุรกิจในประเทศจีน ตอนแรกนั้นคุณบรรบตอยากเข้า Tmall Global เพราะมี Market Share สูงเป็นอันดับ 1 แต่เนื่องจากยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กและสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก เลยเริ่มเปิด Flagship Store ที่  JD Global ก่อน เมื่อสินค้าขายได้ดี ทาง Tmall  Global จึงชักชวนไปขาย ทำให้ขายผ่าน 2 แพลตฟอร์มนี้เป็นหลัก และเพราะว่าอยากปิดความเสี่ยง พยายามหาช่องทางขายอื่นเพิ่มเติม จึงลองขายออฟไลน์ แต่เนื่องศึกษาไม่มากพอและทางการจีนก็มีกฎระเบียบที่ซับซ้อน ทำให้ผลในช่วงนั้นไม่เป็นตามที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามที่ไม่หยุดนิ่ง สุดท้ายก็หาทางออกด้วยการจดทะเบียนบริษัทที่เมืองกว่างโจว เพื่อเปิดบริษัทรับจ้างผลิตในจีน ทำให้ได้ อย.หรือ FDA ของจีน สามารถขายส่งรังนกมาที่จีนได้ เมื่อมีบริษัทผลิตสินค้าของตัวเองที่จีนแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เช่น ค่า Packaging ถูกลง  มีความได้เปรียบด้านภาษี ทำให้สามารถเปิดร้านที่จีนและมีช่องทางตัวแทนจำหน่ายได้สำเร็จ


4 ปัจจัย สินค้าไทย ก้าวไกลถึงแดนมังกร

คุณบรรพต มองว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยไปขายเมืองจีนบูมมาก ซึ่งมี 4 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระแสนี้

1.กลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่มาเรียนเมืองไทยแล้วอยากอยู่ต่อ เลยคิดทำธุรกิจหาสินค้าไทยไปขายที่จีน เช่น เครื่องสำอาง  ผลไม้  เมื่อคนกลุ่มนี้เริ่มมีเงินจึงจ้าง OEM ผลิตแบรนด์ตัวเองหรือตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทยแล้วขายส่งกลับไปเมืองจีน

2.กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มทัวร์คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยในราคาที่ถูกมาก มีคนจีนมาเที่ยวกันเยอะ ส่งผลให้รู้จักสินค้าไทยมากขึ้น

3.Soft Power ไทยกระชากใจแดนมังกร ภาพยนตร์และละครไทยได้รับความนิยมในจีน เช่น เมีย 2018 ทำให้คนจีนอยากมาตามรอยเที่ยวเมืองไทย

4.ภาครัฐให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยปีละ 8 – 10 ล้านคน


เตรียมความพร้อมอย่างไร ก่อนลงสู่สนามแข่ง

ด้านผลิตภัณฑ์

  • Packaging Design ศึกษาให้เหมาะกับตลาดจีน อย่าลืมใส่ Branding และเอกลักษณ์ไทยลงในดีไซน์
  • Product Size ช่วงทดลองตลาดให้ทำขนาดเล็ก จะได้ขายราคาไม่แพง คนจะได้กล้าทดลองซื้อ
  • Price Structure โครงสร้างราคาสินค้าที่จีน Margin ควรมี Margin ที่มากพอสมควรเพราะ Margin มีผลต่อการเลือกช่องทางขาย ถ้า Margin ไม่มากอาจเลือกขายเฉพาะบางช่องทางเท่านั้น


ด้านกฎหมาย

  • จด Trademark ในจีน  1.ควรจดรูปภาพ 2.ควรจดข้อความภาษาจีนและจดให้ครอบคลุม
  • หากมีชื่อจีน ให้จดชื่อจีนของตัวเองเพราะชื่อคนไทยใน Passport เป็นภาษาอังกฤษ ทางการจีนมองว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนๆ เดียวกัน
  • ควรจด Trademark อย่างน้อย  3 แบรนด์ เผื่อไว้กรณีที่แบรนด์แรกเกิดปัญหา จะได้ใช้แบรนด์ที่สองทำธุรกิจต่อได้ทันที
  • จดลิขสิทธิ์ Packing Design ป้องกันการถูก Copy


ก่อนลงสนามจริงทดลองตลาดคนจีนในไทยก่อน

  • ทดลองสินค้ากับกลุ่มคนจีนในเมืองไทย  1.ผ่านแอปสำหรับคนจีนในไทย เช่น แอปซุนหงอคง, แอปช้างบิน  2.กลุ่มสมาคมจีนในไทยสามารถต่อยอดธุรกิจไปจีนได้เพราะมี Connection กับผู้ค้าในจีน ทั้งนี้ คุณบรรพตมองว่า การออกงานแฟร์ไม่ต้องไปบ่อย ถ้าไปก็เพื่อทดลองตลาด รับฟัง Feedback 


เปรียบเทียบความแตกต่าง General Trade vs Cross Border E-Commerce

ข้อพิจารณา

General Trade

Cross Border E-Commerce

รูปแบบธุรกิจ

ออนไลน์และออฟไลน์

ออนไลน์อย่างเดียว

การจัดตั้งบริษัทในจีน

จำเป็นต้องมีหรือต้องร่วมมือกับบริษัทที่มีใบอนุญาตการนำเข้าที่ถูกกฎหมายจีน

ไม่ต้องจดทะเบียนบริษัทในจีน

การขอ อย.(FDA) จีน

ต้องขอ FDA (ใช้เวลาขอ 6 เดือนถึง 2 ปี)

ไม่ต้องขอ FDA

ฉลากผลิตภัณฑ์

ต้องแปลและติดบนผลิตภัณฑ์เป็นภาษาจีน

ไม่จำเป็น

ภาษีนำเข้า

ตามกฎหมายการนำเข้าของจีน โดยคิดตามประเภทสินค้า

คิดภาษีแบบกฎเกณฑ์ของ CBEC

9.1% สินค้าปกติ

17.9-28.9% สินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือย

โควต้าการซื้อสินค้านำเข้าคนจีนต่อปี

ไม่จำกัด

ซื้อได้ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อครั้ง

หรือไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี

ช่องทางการขาย

ซุปเปอร์มาร์เก็ต ,ไฮเปอร์มาร์เก็ต,Tmall, JD.com, Pinduoduo, VIP และอื่นๆ

Tmall Global,Kaola , JD International, Xiaohongshu (Little Rea Book) ,VIP Global , CBEC Platform

 

7 อันดับ CBEC ชั้นนำแดนมังกร

แพลตฟอร์ม

ส่วนแบ่งตลาด

สินค้ายอดนิยม

Tmall Global

37.40%

แฟชั่นและเครื่องแต่งกาย, แม่และเด็ก,เครื่องสำอางและบำรุงผิว, อิเล็กทรอนิกส์ , อาหารเครื่องดื่ม, วิตามินและอาหารเสริม, เฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ภายในบ้าน

Kaola

26%

สุขภาพ , อาหารและของขบเคี้ยว , ชิ้นส่วนยานยนต์,อาหารและเครื่องดื่ม, แฟชั่นและเครื่องแต่งกาย, สินค้าดิจิทัล, เครื่องสำอางและบำรุงผิว , ผลิตภัณฑ์ความงาม, แม่และเด็ก, สุขภาพและอาหารเสริม

JD Worldwide

17.80%

อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ในบ้าน, ชิ้นส่วนยานยนต์, อาหารเครื่องดื่ม, แฟชั่นและเสื้อผ้า, สินค้าดิจิทัล, เครื่องสำอางและบำรุงผิว, ผลิตภัณฑ์ความงาม, แม่และเด็ก, สุขภาพและอาหารเสริมเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด

VIP International

8.80%

ผลิตภัณฑ์ความงาม , บำรุงผิว, จิวเวอร์รี่, แฟชั่น , โภชนาการและสุขภาพ, แม่และเด็ก

XiaoHongshu (Little Red Book)

5%

เครื่องสำอาง, บำรุงผิว, แฟชั่น, สินค้าพรีเมี่ยม

Suning

4.3%

อิเล็กทรอนิกส์, สินค้าหญิงตั้งครรภ์, เฟอร์นิเจอร์, อาหาร, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัว, อุปกรณ์ใช้ในบ้าน,หนังสือ, อุปกรณ์ใช้ในครัวเรือน, เครื่องสำอาง, ดูแลเด็ก

Pinduoduo

-

อาหารสด ,เสื้อผ้า, อุปกรณ์ใช้ในครัวเรือน, อิเล็กทรอนิกส์  (แหล่งขายปลีกสินค้าการเกษตรออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน)

 

3 โมเดลหลัก E-Commerce แดนมังกร

1.Traditional E-Commerce คือ การขายออนไลน์ที่ผู้ซื้อมีความต้องการสินค้า แล้วเสิร์ชหาและซื้อสินค้า หรือเรียกว่า Demand Search Purchase Model ได้แก่ TaoPao , Tmall , JD.com  

2.Social Commerce คือ การรวม Social Media กับ Online Shopping เข้าด้วยกัน มีความไว้ใจกันจากการรู้จักในโซเซียลมีเดียและนำมาสู่การซื้อขายสินค้าระหว่างกัน หรือเรียกว่า Trust Demand Purchase ได้แก่ Pinduoduo, Xiaohongshu, WeChat Mall Mini Product เป็นต้น

3.Interest E-Commerce คือ  การ Live ขายของหรือวิดีโอสั้นขายของที่แนะนำสินค้าให้กับคนดู หรือเรียกว่า Products Looking for People เช่น  Douyin (TikTok จีน) 


10 อันดับ Social Media ในจีน

1.WeChat (LINE/WhatApp) 2.Tencent QQ 3.Weibo (Twitter) 4.Douyin (TikTok) 5.Xiao HongShou (IG)

6.Youku(Youtube) 7.Kuaishou 8.Zhihu 9.Meituan Dianping (Robinhood/Grab) 10.Buidu (Google)


3 วิธีสำหรับธุรกิจไทยที่อยากทำ Cross Border E-Commerce ในจีน

1.เปิด Flag Ship Store ในแพลตฟอร์มต่างๆ ของจีนเอง ทำให้เข้าใจกระบวนการแต่ค่อนข้างยุ่งยากลำบาก

2.หา Exclusive Partner  ข้อดีคือขายล็อตใหญ่ไม่ต้องทำเอง 

3.หาบริษัทคู่ค้าที่เปิดขายอยู่ในแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ข้อดีคือได้คู่ค้าหลากหลายเจ้า

การส่งออกสินค้าไทยด้วย CBEC เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน โดยไม่ต้อง ผ่านกฎระเบียบที่เข้มงวด จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ไม่ควรพลาดเพื่อเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้า ปักธงสินค้าไทยในตลาดแดนมังกร

 

ที่มา : งานสัมมนา ITP4 Digital Exporter 4 หัวข้อ Cross Border Commerce: China E-Commerce  โดยคุณบรรพต หาญทองคำ กรรมการบริษัท บีบีเบิร์ดเนส เทรดดิ้ง จำกัด วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่