นวัตกรรมสมุนไพรต่อยอดอย่างไรสู่ตลาดสากล

เทรนด์สุขภาพไม่ใช่สิ่งที่อยู่แค่ในกระแส แต่แนวโน้มจะยังคงแรงไปอีกนาน ตราบเท่าที่มนุษย์อยากสุขภาพดี มีอายุยืนยาว หากพูดถึงธุรกิจด้าน Wellness เราอาจจะนึกถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ร่างกาย การออกลังกาย แต่ในปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ Wellness ได้ขยายขอบเขตอีกมากหลายรูปแบบ SCB SME ร่วมกับ สวทช. จัดสัมมนาไขรหัสลับเปิดมุมมองเพื่อปรับตัวเตรียมพร้อมโอกาสทางธุรกิจด้าน Smart Wellness  เพื่อปรับแนวคิด สร้างจุดขายและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการขยายตลาดเชิงรุก พร้อมอัปเดทเทรนด์เทคโนโลยีด้านเวชสำอาง สร้างโอกาสในการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมี คุณพินิจ เขื่อนสุวงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด และ คุณวลีวัลย์ เอกนัยน์ ผู้ช่วยผู้วิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยี สวทช. มาแชร์ประสบการณ์จากการทำเวชสำอางให้กับผู้ประกอบการ SME ที่กำลังทำธุรกิจด้าน Wellness และมองหาโอกาสจากการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ

herbal

เปิดเส้นทางสู่ธุรกิจเชิงนวัตกรรม

จาก Pain Point คือ จุดเริ่มต้นธุรกิจสารสกัดสมุนไพรธรรมชาติ คุณพินิจ เขื่อนสุวงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด เล่าว่า ด้วยอาชีพที่ทำงานเป็นนักวิจัยมานาน เมื่อมีลูกคนแรกและอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ภรรยากลับไม่มีน้ำนมจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำธุรกิจสารสกัดสมุนไพรจากลูกซัด  คุณพินิจเล่าต่ออีกว่าภรรยาได้ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจนเจอสมุนไพรลูกซัดที่มีประโยชน์ช่วยเพิ่มน้ำนมจึงได้ศึกษาทดลองใช้กับภรรยาเมื่อใช้ได้ผลดีเลยทำแจกในกลุ่มเพื่อนจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจ

คุณพินิจกล่าวว่าการจะทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามการเริ่มธุรกิจมักจะมาจากการมองเห็นโอกาส  แต่ธุรกิจต้องมีความแตกต่าง แต่แตกต่างอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องมีความได้เปรียบด้วย นอกจากนี้ต้องมี  Mindset ทำธุรกิจเพื่อสร้างตลาดไม่ใช่แย่งตลาด ยกตัวอย่าง  Apple iPhone สร้างมือถือรุ่นแรกระบบ Touch Screen คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้ามี  Mindset ทำธุรกิจเชิงนวัตกรรมอย่าง Steve Jobs เค้าจะบอกว่าให้คุณนึกเสมอว่าถามลูกค้าว่าอยากได้อะไร ลูกค้าจะบอกสิ่งที่ตรงข้าม  เช่น บอกอยากได้สว่าน แต่จริง ๆ อยากได้รู ฉะนั้นการมี  Mindset ทำธุรกิจเพื่อสร้างตลาดจะทำให้ความคิดไม่โดนบล็อก เพราะเรากำลังจะทำธุรกิจที่ทำ Product และ Services แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นไม่ต้องไปมองเรื่องการตั้งราคาเพราะเราเป็นคนสร้างตลาด การทำธุรกิจเชิงนวัตกรรมเราจะเป็นผู้เล่นรายแรกที่เข้ามาในตลาดใหม่ เราจะมีโอกาส เราจะมีไอเดียใหม่


ยกตัวอย่างการทำธุรกิจ Skin Care  ทุกคนบอกว่าเป็นตลาด Red Ocean แต่เราสร้างนวัตกรรม ฉะนั้นทุกนวัตกรรมคือ การเปลี่ยนแปลงและทุกการเปลี่ยนแปลงมักมีแรงเสียดทาน มีคนต่อต้าน แล้วธุรกิจเชิงนวัตกรรมต้องทำอย่างไรเมื่อต้องเจาะตลาด Red Ocean? คุณพินิจเล่าถึงการขยายสมุนไพรลูกซัดจากผลิตภัณฑ์เสริมน้ำนมแม่มาสู่การต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ Skin Care ว่า การเจาะตลาดด้วย Blue Dot ในตลาด Red Ocean นั้นจะมีจุดสีฟ้าเล็ก ๆ ที่เราจะเข้าไปเจาะตลาดได้ โดยเริ่มจากฐานลูกค้าเดิมให้ทดลองใช้งาน คือ แม่หลังคลอดที่อยากสวยเหมือนก่อนมีลูกแต่ไม่กล้าใช้สินค้าที่ขายตามท้องตลาดเพราะกังวลเรื่องสารเคมีช่วงให้นมลูก พอลูกค้าทดลองใช้แล้วติดใจเชื่อมั่นในสมุนไพรความปลอดภัย ทำให้ง่ายในการ Educated ตลาด จากนั้นก็ขยายตลาดไปยังกลุ่ม Aging Society กลุ่ม Sensitive Skin นอกจากนี้การทำธุรกิจบนวิถีทางวิทยาศาสตร์ สินค้าทุกตัวต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ผลการทดลองได้

แชร์อุปสรรคการนำงานวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่

คุณพินิจได้กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคว่ามีสิ่งหนึ่งที่เจอเหมือนกันที่ไม่ว่าหยิบงานวิจัยจากที่ไหนมาใช้คือ

  1. ปัญหาเชิงเทคนิคจากการขยายผลงานวิจัยสู่ Industrial Scale พอนำมาใช้งานจริงขยายผลได้ไม่ตรงตามทฤษฎี เพราะงานวิจัยที่ขายสูตรสำเร็จจะผ่านการทดสอบในแบบ Prototype เล็ก ๆ  แต่พอจะทำเป็น Commercial Scale ผลิตจำนวนมากทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบหรือฟังก์ชันหรือสีที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือทีมวิจัยที่ร่วมงานกับผู้ประกอบการต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหาและผลักดันงานวิจัยให้ออกสู่ท้องตลาดได้จริง

  2. ปัญหาการ Educate ตลาด เนื่องจากเป็นสินค้านวัตกรรมต้องมีทีมงานและการทำความเข้าใจที่ถ่องแท้เพื่อให้ความรู้กับตลาดได้อย่างถูกต้อง

  3. ปัญหาเจอคู่แข่งรายใหญ่ ตอนเริ่มสร้างนวัตกรรมยังเป็นตลาดเล็ก ๆ ไม่มีคู่แข่ง แต่พอตลาดเริ่มโตรายใหญ่ที่มีกำลัง มีเงินทุนหนา มีทีมงานที่พร้อมจะลงมาแย่งตลาด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนทำธุรกิจเชิงนวัตกรรมจะต้องผ่านให้ได้ เพราะการทำธุรกิจเป็นการแข่งขันอย่างสมบูรณ์

  4. ปัญหาด้าน Regulation ของไทยไม่เอื้อต่อการสนับสนุนธุรกิจเชิงนวัตกรรม เช่น มีงานวิจัยคิดค้นสารสกัดใหม่ขึ้นมา อย.ไม่มีบันทึกทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถจด อย.ได้เพราะไม่มีในบันทึกมาก่อน ฉะนั้นคนทำธุรกิจเชิงนวัตกรรมต้องรวมตัวแล้วช่วยกันผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขในเรื่อง Regulation ให้ได้


3 ด่านสำคัญผลักงานวิจัยสู่โปรดักส์ระดับสากล

คุณพินิจได้แชร์ประสบการณ์ขยายจากตลาดในประเทศสู่ตลาดต่างประเทศว่า ตัวอย่างสมุนไพรเสริมน้ำนมแม่   Market Size ในประเทศเมื่อเทียบกับ 9 ปีที่แล้วลดลงต่อเนื่อง เพราะอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงเหลือปีละ 4-5 แสนคน คิดเป็น 40- 50% ทำให้สนใจที่จะขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ เช่น  เวียดนาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย โดยวิธีขายสินค้าเชิงนวัตกรรมออกสู่ตลาดต่างประเทศควรประกอบด้วย 3 ข้อสำคัญ

  1. การนำสินค้าเข้าไปขายต้องทำให้ถูกตามกฎระเบียบหรือข้อกำหนดของแต่ละประเทศตั้งแต่แรก เช่น  การขอ อย.ในแต่ละประเทศมีความยากง่ายไม่เท่ากันผู้ประกอบการควรศึกษาให้ดี แต่สิ่งหลักๆ ที่ อย.ของแต่ละประเทศร้องขอ เช่น  มาตรฐานการผลิต, โรงงานมี GMP, หลักฐานผลการทดสอบงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

  2. การมี Local Partner ที่มี Potential มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่จะขายและต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง

  3. การมีจังหวะในการเผยแพร่สินค้าหรือจัดจำหน่าย (Timing) เพราะแม้ว่าสินค้าที่ผลิตจะมีนวัตกรรมที่ดีแค่ไหนแต่ถ้าจังหวะในการเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายสินค้ายังไม่ได้ เนื่องจากตลาดผู้บริโภคยังไม่ Educated ดีพอหรือ Demand ไม่มากพอ ตอนที่เริ่มเจาะตลาดจะทำได้ยากมาก

เทรนด์การทำธุรกิจ Wellness ในอนาคต

คุณพินิจมองว่าการทำธุรกิจด้านสุขภาพในอนาคตจะมี 6 เทรนด์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

  1. ในมุมของลูกค้าหรือผู้ซื้อ จะเป็น Smart Buyer มากขึ้น ลูกค้าสามารถค้นหาและเข้าถึงสินค้าได้ง่ายและมีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นการขายสินค้าที่เน้นการตัดราคาในอนาคตจะอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ

  2. ในมุมของผู้ประกอบการ ที่เป็นเพียงตัวกลางไม่ใช่ผู้ผลิตตัวจริงจะค่อยๆ หายไปเรื่อย ๆ จากตลาด

  3. สินค้าในเชิงนวัตกรรมจะต้องพิสูจน์ผลได้ทางวิทยาศาสตร์

  4. ความยั่งยืนในการผลิตสินค้า ก่อนโควิดผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะมองหา Supply จากต่างประเทศโดยเฉพาะในจีน แต่ตอนนี้ต้องหา Supply สำรองทั้งในประเทศและหลากหลายประเทศมากขึ้น

  5. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้ส่วนผสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติจะเป็นเทรนด์ที่ผู้ผลิตต้องตระหนัก

  6. การทำธุรกิจในการเกื้อกูลสังคมจะได้รับการยอมรับและปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ


การทำธุรกิจในเชิงนวัตกรรมลำพังแค่ผู้ประกอบการมีไอเดียเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถจะไปได้ถึงฝั่งฝัน หากแต่ต้องอาศัยกำลังสนับสนุนจากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมหรือไอเดียให้กลายเป็นจริงได้ โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนวัตกรรมของไทยและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีไอเดียแต่ขาดความรู้ในการทำวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์

คุณวลีวัลย์ เอกนัยน์ ผู้ช่วยผู้วิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยี สวทช. ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ สวทช.ว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  พร้อมสนับสนุนนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดองค์ความรู้เดิมสู่นวัตกรรม โดยเน้นการผลักดันให้สร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดได้จริง เพราะมีทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ในส่วนการนำเทคโนโลยี Nano Encapsulation มาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรในเชิงนวัตกรรมนั้น Nano Encapsulation  หมายถึง การห่อหุ้มหรือกักเก็บสารสำคัญเอาไว้ภายในอนุภาคที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร

Nano Encapsulation ต่อยอดสมุนไพรไทยสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม

คุณวลีวัลย์ได้เล่าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี Nano Encapsulation มี 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. ช่วยเพิ่มความคงตัวให้กับสารสำคัญที่ถูกกักเก็บ เช่น วิตามินซี สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน แต่เมื่อถูกห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนจะทำให้มีความคงตัวมากขึ้น เช่นเดียวกันกับสมุนไพรจะมีข้อจำกัดในเรื่องของความคงตัวเหมือนกันเช่น ตั้งทิ้งไว้สีจะเปลี่ยน มีการตกตะกอนหรือการแยกชั้น พอใช้เทคโนโลยี Nano Encapsulation ก็จะช่วยการคงตัวของสารสกัดสมุนไพรได้มากขึ้น

  2. ช่วยการซึมผ่านผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น

  3. ช่วยชะลอการปลดปล่อยสารสำคัญให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น  เช่น น้ำมันหอมระเหย เมื่อใช้เทคโนโลยี Nano Encapsulation ทำให้ความหอมได้ยาวนานขึ้น


ผู้ประกอบการ SME เริ่มต้นสร้างสินค้านวัตกรรมได้อย่างไร

คุณวลีวัลย์กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นทำงานกับนักวิจัยจะต้องหาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีที่มีอยู่กับสิ่งที่ทำได้จริง โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างฝ่ายวิจัยกับทีมผู้ประกอบการที่จะต้องจับมือช่วยกันจนสินค้าออกสู่ตลาดแล้วใช้ได้จริง ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการกับ สวทช.จะมีอยู่ 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกเข้ามาตั้งโครงการวิจัยใหม่ จาก Pain Point ของผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้ว หรือว่าอาจจะเป็นโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาจากความต้องการใหม่ของบริษัท

  • กลุ่มสองเพื่อซื้อสูตรที่ทาง สวทช.มีงานวิจัยอยู่แล้วและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่สนใจทำงานวิจัยกับ สวทช. สามารถติดต่อ Call Center สวทช. โทร.02-564-8000 อีเมล : brc@nstda.or.th และสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจและกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.scbsme.scb.co.th Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร 02-722-2222

ที่มา : งานสัมมนาออนไลน์ “ไขรหัสลับเปิดมุมมองเพื่อปรับตัวเตรียมพร้อมโอกาสทางธุรกิจด้าน Smart Wellness”  โดย SCB SME ร่วมกับ สวทช วันที่ 7 ตุลาคม 2564