Future of Entertainment โลกความบันเทิงแห่งอนาคต

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ทุกคนต่างวิตกกังวลกับความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิต องค์กรหลายแห่งมีนโยบายให้พนักงาน Work From Home เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค จากสถิติพบว่าในช่วง COVID-19 ทั่วโลกมีการเสพข่าวจากช่องทางต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นถึง 67% คนใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อดูสื่อบันเทิงต่างๆ ผ่าน Streaming Service เพิ่มสูงถึง 50% และมีการเล่น Social Media เพิ่มขึ้นมากว่า 40% ซึ่งหมายความว่าในช่วง Social Distancing คนมีเวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อการทำงาน ติดตามข่าวสาร เสพความบันเทิง และเชื่อมต่อกับเพื่อนและคนสนิทผ่าน Social Media

future-of-entertainment-01

แล้วอนาคตของวงการบันเทิงจะเป็นอย่างไร มาดูบทสรุปจากSCB TV ที่ได้เชิญ คุณพัฐวร ผ่องแผ้ว Head of Dplay Asia-Pacific Discovery จะมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถึงอนาคตของธุรกิจกลุ่ม Entertainment ว่ามีศักยภาพในการเติบโตต่อไปเช่นไร ตลอดจนโอกาสในวิกฤตที่จะเกิดขึ้นจาก Next Normal นั้นมีอะไรบ้าง

 

Streaming Service คืออะไร?

Streaming Service เป็นการให้บริการ ภาพและเสียง รวมไปถึงข้อมูล Animation ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบ Real Time โดยไม่ต้องรอการดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดมาก่อน ผู้รับชมจะสามารถดูได้ในทันที ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ หลากหลายช่องทางทั้ง ทีวี มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์

Streaming ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งหนัง ซีรีย์ หรือเพลง โดยมีผู้ให้บริการหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตาม รูปแบบการใช้บริการ (Service) เช่น Netflix , Disney Plus, Apple TV หรือ แบ่งตามเนื้อหาที่นำเสนอ (Content) เช่น ช่องสารคดีอย่าง Discovery หรือช่องรายการ ที่เจาะลึกตามความสนใจของผู้ชม เช่น Chef’s Table (รายการทำอาหาร) เป็นต้น


ธุรกิจ Streaming เข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 คนไม่สามารถเดินทางไปนอกบ้านได้ตามปกติ ทำให้หันกลับมาเสพสื่อความบันเทิงผ่านหน้าจอมากขึ้น การแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างดุเดือด เพราะไม่ใช่แค่แข่งกันเองในวงการ แต่ต้องแย่ง 1-2 นาที จากผู้ชมที่มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันมาให้ได้จากทุกสื่ออีกด้วย

COVID-19 กระตุ้นให้คนเสพสื่อเพิ่มมากขึ้น

วิกฤต COVID-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการดูหนังฟังเพลงเปลี่ยนไป โดยการเสพความบันเทิงจะแตกต่างไปตามช่วงเวลา เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาจากที่ต้องเร่งรีบเดินทางไปทำงาน เมื่อเปลี่ยนเป็นการ Work From Home คนก็จะเลือกเปิดซีรีส์ทิ้งไว้เป็นเพื่อนตอนทำงาน โดยไม่ค่อยเปลี่ยนช่องรายการในระหว่างวัน ในช่วงกินข้าวอาจมีการเลือกช่องที่สมาชิกทุกคนในบ้านดูร่วมกันได้ ช่วงค่ำๆ เริ่มมีการชมที่หลากหลาย โดยอาจมีเลือกช่องที่ตัวเองชอบ หรือเลือกดูช่องใหม่ๆ ที่สนใจ และจะเปิดดูยาวๆ ไปจนเข้านอน ดังนั้นที่เพิ่มมาคือช่วงกลางวัน จะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน!


ประเภทขอการเสพสื่อก็ต่างออกไปจากเดิม โดย ช่วงแรกคอนเท้นต์ที่ได้รับความนิยมมากคือการอัพเดทข่าวสาร ตามกระแสโลก ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง ผ่านมาซักพักความบันเทิงก็เข้ามาเยียวยา ให้คนที่ต้อง Work From Home หรือต้อง Stay Home ไปไหนไม่ได้คลายความเหงาลงได้บ้าง และเมื่ออยู่บ้านได้ระยะหนึ่ง กระแสเรื่องการทำอาหาร งานช่าง การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านก็มาอยู่ในสายตามากขึ้นเพื่อปรับบ้านที่เรารักให้น่าอยู่มากกกว่าเดิม ทั้งนี้ คอนเท้นต์ที่หายไปจะเป็นเรื่องของกีฬาต่างๆ เนื่องจากไม่มีการถ่ายทอดสด เป็นการรีรันเทปเดิม ซึ่งไม่ได้รับความนิยม เพราะไม่ Real เท่ากับภาพสดจากหน้าสนามจริง แต่ถ้ากีฬาสามารถกลับมาเล่นได้อีก คอนเท้นต์ส่วนนี้ก็ก็จะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

เทรนด์คอนเท้นต์ที่ยังไปได้ต่อ

วงการบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ไม่มีการออกกองถ่ายทำ หยุดการผลิตไปชั่วคราว ส่งผลให้ไม่มีคอนเท้นต์ใหม่ในช่วงนี้ ผู้สร้างที่เป็นเหมือนต้นน้ำการผลิตก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแส โดยหันกลับมาดูว่ามีคอนเท้นต์อะไรอยู่บ้าง และคอนเท้นต์ประเภทไหนเหมาะที่จะนำมาเผยแพร่ในช่วงนี้ก็ต้องคัดออกมารีรันซ้ำไปก่อน และเมื่อให้มีการเริ่มถ่ายทำได้ ก็ต้องวางแผนถ่ายทำใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

รูปแบบคอนเท้นต์ที่ยังไปได้ต่อในยุคนี้

  • รูปแบบการนำเสนอจะต้องสั้น กระชับ เช่น การนำเสนอข่าว จะต้องทำเนื้อหาสรุปให้อ่านได้ง่ายๆ จับประเด็นได้อย่างรวดเร็ว เพราะคนมีเวลาสนใจแค่เปิดผ่านไวๆ บน Feed เท่านั้น

  • การผลิตสื่อต่างๆ จะมี production ที่เล็กลง และลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการออกกองเพื่อถ่ายทำอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ และใช้คนจำนวนมากเหมือนเมื่อก่อน

  • รูปแบบของคอนเท้นต์พวกการสร้าง passion ในชีวิต การทำอาหาร งานบ้าน งานช่าง จะเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพราะคนที่ต้องอยู่ติดบ้านจะหันมาให้ความสนใจในส่วนนี้


ทั้งนี้ การที่จะทำให้คอนเท้นต์ที่ผลิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า จำเป็นต้องต่อยอดของคอนเท้นต์ออกไป อย่าง Disney ที่เริ่มจากการสร้างการ์ตูน ผลิตของเล่น ทำสวนสนุก และสร้างแบรนด์ออกมาโดยไปจับกับ Customer Journey ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างเข้าอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่ามหาศาล การไปให้ถึงจุดนี้ก็จะทำให้แบรนด์แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

รูปแบบ & การเสพความบันเทิงแห่งอนาคต

มีวิกฤต ทุกคน ทุกวงการ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งรูปแบบความบันเทิงในอนาคตก็ยังขึ้นอยู่กับรสนิยมและความชอบของแต่ละคนเช่นเดิม ว่าอินกับสิ่งไหน สนใจอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่อาจปรับเปลี่ยนวงการจะมาในรูปแบบ

  • การรวมตัวของผู้ผลิตเพื่อทำคอนเท้นต์ใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน โดยอาจจะได้เห็นในเร็ววันนี้
  • มีการสนับสนุนเงินทุนให้กับ YouTuber หน้าใหม่ที่มีไอเดียดีๆ มีความคิดสร้างสรรค์และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนอาจใช้งบไม่สูงมาก แต่ได้อะไรใหม่ๆ ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า รวมไปถึงสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้อีก
  • มีรูปแบบความบันเทิงที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนมากขึ้น
  • ประสบการณ์การเสพความบันเทิงรูปแบบใหม่
    • การดูหนังร่วมกันบน Streaming เช่น ฟีเจอร์ของ Netflix Party ที่ชวนเพื่อนมาดูพร้อมกันได้
    • Drive-in Concerts โดยให้ผู้ชมขับรถมาฟังดนตรีได้อย่างสบายใจ
    • การจัด Meet & Greet หรือ คอนเสิร์ต ผ่าน Zoom
    • LIVE from Home ของบรรดาศิลปิน

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ หรือปลายน้ำ ทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตามวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญก็คือการทำให้คอนเท้นต์ที่ผลิตเข้าไปอยู่ในสายตา และอินอยู่กับชีวิตของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด


ทั้งนี้ ถ้าต้องการต่อยอดคอนเท้นต์ให้ไปไกล ขายได้ในต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อเก็บข้อมูลว่าตลาดไหนที่ควรเข้า เจาะลึกลงไปหาอินไซต์ว่าอะไรเป็นจุดขาย รสนิยม และคอนเท้นต์รูปแบบไหนที่คนชื่นชอบ เมื่อหาเอกลักษณ์เจอ และผลิตเนื้อหาได้ตรงจริตความต้องการของผู้ชม การไปต่อก็เป็นเรื่องไม่ยากอีกต่อไป


ที่มา : SCB TV ตอน "Future of Entertainment" วันศุกร์ที่ 5 มิ.ย. 63