Future of Education เมื่อ COVID-19 เปลี่ยนโลกการศึกษาไปตลอดกาล

เมื่อประเทศไทยพบผู้ป่วย COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์  2563 หรือประมาณก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 ทำให้โรงเรียนทั่วทั้งประเทศไทยเร่งสอบและรีบปิดภาคเรียน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดในโรงเรียนซึ่งเป็นเหมือนชุมชนขนาดย่อมๆ แม้แต่ครูที่เคยเข้ามาตรวจข้อสอบ ทำประเมินวัดผล ก็ยังต้อง Work From Home ไปด้วยเช่นกัน


จนถึงเดือนมิถุยายน ที่ในยามปกติ จะตรงกับช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษาใหม่แล้ว แต่ COVID-19 ที่คงอยู่ และเรายังรอการพัฒนาวัคซีนจากประเทศต่างๆ นั้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ตัดสินใจเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมแทน และหลายโรงเรียนตัดสินใจให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นความท้าทายทักษะของทั้งครู เด็กเรียน และผู้ปกครอง

future-is-education-01

คุณตะวัน เทวอักษร ที่เดินทางไปดูห้องเรียนต่างๆ ทั่วโลก นำข้อดี และของดีในแต่ละโรงเรียนมาปรับใช้กับหนังสือ และหลักสูตรของบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่ปัจจุบัน คุณตะวัน ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวันนี้ได้ให้เกียรติมาพูดคุยใน SCB TV ตอน Future of Education พร้อมกับให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแวดวงศึกษาจากสถานการณ์ COVID-19 ดังนี้


โดยวิกฤตโควิดนี้ เชื่อว่าจะส่งผลต่อทิศทางการศึกษาในระยะยาว ด้วยพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน และการสอนของครูจะเปลี่ยนไป คุณตะวันคาดการณ์ว่า แม้สถานการณ์โควิดจะจบลงด้วยการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ แต่เพราะทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองได้มีประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ได้รู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นการ Transformation ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ ด้วยจำนวนครู 4 แสนกว่าคน และนักเรียนอีกเกือบ 10 ล้านคน แต่ในวันนี้ เรารู้แล้วว่า จริงๆ ก็สามารถทำได้

Timeline การศึกษากับ COVID-19

  • ปลายกุมภาพันธ์ ที่ประเทศไทยเริ่มสอบ สถานการณ์ COVID-19 ที่ประเทศจีนรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายโรงเรียนในประเทศไทยถูกสั่งให้เร่งสอบ และปิดโรงเรียนให้เร็วที่สุด
  • มีนาคม ครูต้องตรวจข้อสอบ ทำรายงาน และการประเมินต่างๆ จากที่บ้าน โรงเรียนปิดทำการ
  • เมษายน ช่วงต้นเดือนมีมติ สั่งเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็น วันที่ 1 กรกฎาคม แทน และช่วงและหลังสงกรานต์ ครูมาโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวสอนระบบออนไลน์ในภาคเรียนที่ 1
  • 18 พฤษภาคม มีการทดลองเรียนระบบออนไลน์วันแรก ครูและนักเรียนได้ทดลองสิ่งใหม่พร้อมกันวันแรก

โลกแห่งการศึกษาที่จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

  • ครู เปิดโลกแห่งการสอนวิถีใหม่ เตรียมการสอนออนไลน์ ที่จะไม่ได้พบเด็กๆ ในชั้นเรียน โดยครูได้ลองทำคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับบทเรียน และจะต้องเหมาะกับการสอนออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกคำตอบ มาเป็นโค้ชคอยผลักดัน ให้แนวทางกับนักเรียนว่าจะหาคำตอบของคำถามนั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแนวการถาม จาก What, When, Where เป็น Why และ How แทน เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด มากกว่าท่องจำ

  • นักเรียน พัฒนาตนจากที่เคยเป็นผู้รับมาตลอด ต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง  คิดกระบวนการค้นคำตอบ เป็นการเรียนรู้แบบ Proactive  เมื่อได้คำตอบแล้วจึงมาคุยกับครูผู้สอน โดยอาจจะเป็นการคุยผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ใช่ในชั้นเรียน

  • ผู้ปกครอง เดิมที่หลายคนมอบบุตรหลานให้โรงเรียนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการเรียนรู้ทั้งหมด วันนี้เด็กๆ ต้องการแรงขับเคลื่อน สนับสนุน กำลังใจจากพ่อแม่ในการค้นหาคำตอบ และการเรียนรูปแบบใหม่

    นับว่าเป็นการเรียนรู้ การทำงานไปด้วยกันระหว่างบ้านและโรงเรียนอย่างแท้จริง และเป็นก้าวกระโดดข้ามขีดจำกัดการเรียนรู้ของระบบการศึกษาของไทย เมื่อการเรียนมีความเปลี่ยนแปลง การสอบวัดผลเช่นกัน จากเดิมที่เคยวัดกันด้วยการสอบที่เป็นคะแนน เป็นตัวเลข แต่ไม่เคยมีการประเมินทักษะด้านอื่นที่ควรให้ความสำคัญ เมื่อเกิดวิกฤตในครั้งนี้ อาจจะเป็นอีกส่วนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่โลกใหม่ได้ไม่ยาก

    ข้อคำนึงของระบบการเรียนรู้แบบนี้คือ เทคโนโลยีไม่อาจจะมาแทนจิตวิญญาณความเป็นครูได้ สิ่งที่เราควรทำคือสนับสนุนสร้างครูให้แข็งแกร่ง เพราะการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ การได้สบตามถามตอบ สามารถสร้างความรู้สึก ความสำคัญ ความอาทรได้ดีกว่าการเรียนที่มองเพียงหน้าจออย่างเดียว

    ในวิกฤตวันนี้ ได้เห็นโอกาสและความมุ่งมั่นในการพัฒนา เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ อย่าลืมพัฒนากันต่อ เพื่อสนำประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้าทางการศึกษาอีกขั้น