หนี้บัตรเครดิตมีผลทางกฎหมายอย่างไร

บัตรเครดิตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตและถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคสังคมไร้เงินสด ซึ่งลูกค้าสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าและบริการได้ตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากธนาคาร เมื่อมีการใช้บัตรเครดิตแล้ว ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรจะทดรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนลูกค้าไปก่อน จากนั้นก็จะมีการเรียกเก็บเงินคืน โดยออกใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อให้ชำระเงินดังกล่าวคืน หากลูกค้าชำระเงินคืนครบเต็มตามจำนวนที่ใช้ไป และชำระตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุ ธนาคารก็จะไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมในการใช้บัตร แต่หากเป็นการชำระคืนบางส่วนหรือไม่ชำระคืนหรือชำระคืนไม่ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม โดยแจ้งให้ผู้ใช้บัตรทราบในใบแจ้งหนี้งวดถัดไป ด้วยความสะดวกของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในการชำระค่าสินค้าและบริการ อีกทั้งบัตรเครดิตสามารถนำไปกดเงินสดตามตู้ ATM ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติ กระแสการใช้บัตรเครดิตจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทั่วไป จนมีจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เป็นที่ทราบกันดีว่าลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการจ่ายชำระเงินคืน หากจ่ายคืนเต็มวงเงินทุกเดือนจะไม่เสียดอกเบี้ย แต่หากจ่ายไม่เต็มวงเงิน อาจจ่ายแค่เท่าที่มีเงินแล้วเหลือยอดค้างไว้ หรือบางคนก็จ่ายแค่ขั้นต่ำ เมื่อท่านตกเป็นผู้ผิดนัดในการชำระเงินค่าบัตรเครดิต ปัญหาที่จะตามมาคือ ท่านจะขาดความน่าเชื่อถือด้านการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตจะเปลี่ยนสถานะของท่านจากเดิมเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือเรียกกันจนติดปากว่า แบล็กลิสต์ และจะรายงานข้อมูลการค้างชำระของท่านไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ส่งผลให้ท่านมีประวัติเสียด้านการเงิน และอาจจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ หนี้บัตรเครดิตที่หลายคนสร้างไว้มาจากเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหนี้บัตรเครดิตในแง่มุมทางกฎหมายถือเป็นแนวทางในการตัดสินใจเรื่องหนี้ของลูกหนี้บัตรเครดิตทุกคน หรือแม้จะยังไม่เป็นลูกหนี้ก็ควรอ่าน เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยตัดสินใจ ตั้งแต่ว่ารู้ว่าจะสร้างหนี้บัตรเครดิตหรือไม่แค่ไหน


ถ้าถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับบัตรเครดิต ถือเป็นคดีประเภทใด

ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตตามกฎหมายจะถือเป็นคดีแพ่ง ซึ่งผลลัพธ์ของคดีแพ่งคือ การบังคับคดีการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น


ฟ้องศาลอะไร ที่ไหน

กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ ได้ที่ 1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล 2. ศาลที่มูลคดีเกิด (ที่ตั้งของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ได้ไปรับบัตรเครดิต)


คดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความเมื่อใด

ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป โดยมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปีนับจากผิดนัดชำระหนี้ ถ้าหากธนาคารไม่ได้ฟ้องร้องในเวลา 2 ปี คดีก็เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารหมดสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ ทั้งนี้ถึงขะขาดอายุความไปแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป เช่น ถ้าจะให้ศาลหยิบยกเอาเรื่องการขาดอายุความขึ้นมาพิจารณานั้น ลูกหนี้ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง และถ้าหากเป็นจริงตามที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้มา ทางศาลก็จะทำการ"ยกฟ้อง" คือพิพากษาให้คดีตกไป โดยไม่บังคับให้เป็นไปตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 193/29 กำหนดไว้ว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือเจ้าหนี้สามารถอายัดเงินเดือนลูกหนี้ได้หรือไม่

คำตอบคือ ได้ โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ซึ่งทรัพย์สินที่สามารถยึดได้ มีดังนี้

1.เงินเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% และลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนมากกว่า งนี้    20,000 บาทถึงจะสามารถอายัดได้ และถ้าลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาลก็สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้

ตัวอย่างเช่น  นายเอ ลูกหนี้ มีเงินเดือน 15,000 บาท กรณีนี้ไม่ถูกอายัดเงินเดือน  นายบี ลูกหนี้ มีเงินเดือน 40,000 บาท กรณีนี้จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% คือ 12,000 บาท คงเหลือเงินเดือนที่ไม่ถูกอายัด 28,000 บาท

2. เงินโบนัส อายัดได้ไม่เกิน 50%

3. เงินตอบแทนการออกจากงาน อายัดไว้ได้ไม่เกินสามแสนบาทหรือตามที่เจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร

4. เงินค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ อายัดได้ตามที่ขอแต่ไม่เกิน 30%ของจำนวนทีมีสิทธิได้รับ

5. เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน อายัดให้ตามที่ขอ โดยหากเจ้าหนี้ไม่ได้ระบุให้อายัดเฉพาะปีใดปีหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเป็นประจำทุกปีจนกว่าจะพ้นหนี้

6. ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือ กองทุน ให้อายัดให้ตามที่ขอ โดยระบุให้บุคคลภายนอกผู้รับคำสั่งอายัดส่งเงินเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาสิ้นสมาชิกภาพ


ทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้

1. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ

2. เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ (เบี้ยคนชรา, เบี้ยคนพิการ)

3.เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ)กรณีเป็นข้าราชการ

4. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

5.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


ลูกหนี้เสียชีวิต

กรณีลูกหนี้บัตรเสียชีวิต ความเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด เมื่อลูกหนี้บัตรเครดิตเสียชีวิต ให้เจ้าหนี้ทวงถามต่อกองมรดกของลูกหนี้ ผู้รับมรดกของลูกหนี้ไม่ต้องรับชำระหนี้เกินวงเงินมรดกที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น ผู้รับมรดกได้รับเงินมรดกจำนวน 6 ล้านบาท แต่จำนวนหนี้สินของผู้ตายมีมากถึง 7 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้รับมรดกจะต้องชำระหนี้แค่ตามจำนวนมรดกที่ได้รับคือ 6 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 1 ล้านบาททถือเป็นหนี้สูญไป ไม่ต้องชำระหนี้เพิ่ม


อย่างไรก็ตามกฎหมายยังกำหนดวิธีการบรรเทาหนี้บัตรเครดิต คือการปรับโครงสร้างหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบัน ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม ขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงขอจ่ายเป็นค่างวดตามเงื่อนไขเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ออกไป เป็นต้น ดังนั้นกล่าวได้ว่า การปรับโครงสร้างหนี้ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ถึงแม้ว่าการใช้บัตรเครดิตจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และเป็นเงินสำรองในอนาคตได้ แต่ถ้าคุณใช้จนลืมนึกไปว่า เป็นการสร้างหนี้ และเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้ชีวิตของคุณพลิกผันได้ ดังนั้น ก่อนที่จะใช้บัตรเครดิตสักใบอาจต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ความจำเป็นและวัตถุประสงค์ในการใช้บัตรเครดิต ถ้าคุณใช้บัตรเครดิตเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจ และใช้ให้เหมาะสมกับรายได้ คุณจะมีความสามารถในการชำระคืนได้ แต่ถ้าคุณใช้บัตรเครดิตเพื่อสนองตอบความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นและเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง กรณีนี้คุณอาจจะไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ครบถ้วนหรือตรงตามระยะเวลาที่กำหนดได้ บัตรเครดิตมีประโยชน์หลายอย่างแต่ถ้าใช้อย่างไม่มีสติก็อาจกลายเป็นการสร้างหนี้เกินตัวได้เช่นกัน

บทความโดย :  อังค์วรา ไชยอนงค์