5 เรื่องเข้าใจผิดที่ทำให้แบรนด์เมิน TikTok

TikTok โซเชียลมีเดียสัญชาติจีนที่มาแรงแซงโค้งในยุคนี้จนทำให้รัฐบาลบางประเทศมีแนวคิดที่จะแบนเพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ผู้ใช้บางคนยังมองว่า TikTok เป็นเพียงแพลตฟอร์มบันเทิงที่ให้ผู้ใช้ครีเอทคลิปเต้นหรือตลกสนุกสนาน แต่ในความเป็นจริงหากได้ลองศึกษาเจาะลึกลงไปจะพบว่า TikTok คือ ขุมทรัพย์ที่รอการขุดค้นจากคนทำธุรกิจและนักการตลาด หากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียจากจีนตัวนี้  ในวันนี้ขอนำ 5 ความเข้าใจผิดที่ทำให้บางแบรนด์ไม่สนใจที่จะทำการตลาดผ่านช่องทาง TikTok มาฝากกัน

tiktok1

ข้อที่ 1 TikTok เป็นแค่แพลตฟอร์มสร้างความบันเทิง

แม้ว่าในช่วงแรกที่ TikTok ออกมาโลดแล่นในเวทีโซเซียลมีเดียโลกจะเน้นเรื่องการสร้างความบันเทิงให้กับยูสเซอร์เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง TikTok ยังมีลูกเล่นให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้ เช่น จากการสร้าง Challenge ให้ลูกค้าทำตาม การเต้น Cover เพลงสินค้า หรือการให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในแคมเปญที่แบรนด์สร้างขึ้นมา ซึ่งนับเป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ติดตามได้มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ โดยที่ไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนโดนยัดเยียดจากแบรนด์ จึงนับเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต


ข้อที่ 2  TikTok คือ แพลตฟอร์มสำหรับเด็ก

แน่นอนว่ายูสเซอร์ในช่วงแรกที่ TikTok พุ่งเป้ามัดใจจะเป็นกลุ่มเจน Z จึงทำให้หลายแบรนด์คิดว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเด็ก ทำให้แบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเช่น เจน Y อาจมองข้าม TikTok ไปทันที  ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้งานในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างมากขึ้นไม่ได้อยู่ในกลุ่มเจน Z เท่านั้น จากสถิติพบว่ามีอัตราการใช้งาน TikTok ในกลุ่ม เจน Yเติบโตมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หากดูสถิติของบางประเทศจะเห็นได้ว่ามีคนกลุ่มเจน Y ใช้ TikTok มากกว่าเจน Z  เช่น  จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  สำหรับประเทศไทยกลุ่มผู้ใช้หลักยังคงเป็นกลุ่มเจน Z แต่เหนือสิ่งอื่นใดคนทำธุรกิจและนักการตลาดก็ไม่ควรจะมองข้าม เพราะถ้าหากประเทศอื่นผู้ใช้เจน Y สามารถเติบโตได้ ประเทศไทยก็มีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน

ข้อที่ 3 TikTok หากมียอด Followers มากยอด Engagement ก็จะลดลง

นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์ผ่านโซเซียลมีเดียมักคุ้นเคยกับโซเซียลแพลตฟอร์มเดิมอย่าง Facebook ที่หากมียอดแฟนเพจสูงก็จะถูกลดการมองเห็นโพสต์ลง (Organic Reach) หากไม่ได้ซื้อโฆษณา ทำให้หลายคนคิดว่า TikTok จะเป็นเหมือนกัน  แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามเพราะหากมียอดผู้ติดตามเยอะ ยอดวิวจะสูง ยอด Engagement ก็จะสูงตามไปด้วย ทำให้ TikTok มียอด Performance Rate ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับโซเซียลแฟลตฟอร์มอื่น


ข้อที่ 4 ต้องมียอดผู้ติดตามมากคนจึงเห็นเยอะ

ความดีงามอีกประการหนึ่งที่ TikTok มีเหนือโซเซียลมีเดียอื่นนั่นคือการมี Algorithms ที่รู้ Insight ของผู้ใช้งานก็จะนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจในหน้า For You และจากสถิติพบว่า 69% ของผู้ใช้จะใช้เวลาอยู่บนหน้า For You มากกว่าหน้า Following ที่ติดตาม แสดงให้เห็นว่ายอด Followers ไม่ได้มีผลต่อการเข้าถึงคอนเทนต์ เช่น เมื่ออัปโหลดคลิปใหม่ ระบบจะแสดงให้เห็นเฉพาะผู้ใช้งานบางคนเท่านั้น โดยดูจากประวัติ  Engagement จากนั้นจะดูว่ามีคนหยุดดู กดไลค์ เม้นท์ แชร์ แค่ไหนก็จะนำไปประมวลผลต่อว่าควรจะแสดงคลิปนี้ให้คนเห็นมากขึ้นหรือไม่ นั่นหมายความว่า ถ้าหากทำคอนเทนต์ได้ดีโดนใจ โอกาสที่ระบบจะแสดงผลให้ผู้อื่นเห็นก็มีมากขึ้น เรียกได้ว่าไม่ต้องมียอด Followers เยอะแค่ทำคอนเทนต์ให้ดี โอกาสที่คลิปจะกลายเป็นไวรัลได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืนก็มีสูง ซึ่งต่างกับ Facebook หรือ Youtube ที่ต้องมียอดแฟนหรือ Subscribe จำนวนมากถึงจะมีโอกาสเห็นมากกว่า  

ข้อที่  5 ทำการตลาดบน TikTok ต้องเต้นเท่านั้น

จากที่หลายคนมองว่า TikTok เป็นเพียงแพลตฟอร์มสร้างความบันเทิงอย่างเดียว TikTok จึงได้พยายามขยายฐานผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น ด้วยการเปิดตัวแฮชแท็ก #TikTokUni เพื่อเพิ่มการครีเอทเนื้อหาในแง่สาระประโยชน์ความรู้ให้กับชุมชน TikTok ซึ่งก็มีตัวอย่างครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องทำคลิปเต้นตลกขบขันแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปีที่นิวยอร์กทำคลิปสอนวิชาเลขและวิทยาศาสตร์กว่า 100 คลิปจนมีผู้ติดตามมากกว่า 6 แสนคน ขณะที่ไทยได้เริ่มมีผู้ใช้ #TikTokUni ผลิตคลิปวิดีโอสั้นในเชิงสาระประโยชน์หลากหลายประเภท เช่น  โค้ชแบงค์ สุภกฤษ สอนเทคนิคการขายแบบมือโปรมียอดไลค์กว่า 6 แสน   @kimpropertylive สอนเทคนิคการทำอสังหาริมทรัพย์มียอดไลค์กว่า  1 แสน  @krujib_ebay สอนขายสินค้าไทยไปต่างประเทศมียอดไลค์กว่า  1 แสน  @drteamty หมอทีมสอนการดูแลสุขภาพมียอดไลค์กว่า 2.9 ล้าน  @jexep จิ๊บสุรศักดิ์ สอนการตลาดแบบอินเทรนด์มียอดไลค์กว่า 2.2 ล้าน @kruhoneytv ครูฮันนี่สอนการสร้างแบรนด์มียอดไลค์กว่า 8 แสน  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาด TikTok ในเมืองไทยเริ่มมีครีเอเตอร์หน้าใหม่เชิงสาระประโยชน์มากขึ้นและยังมีหลากหลายแนวให้เลือก เช่น สอนทำอาหาร  ภาษา  ออกกำลังกาย  ตัดต่อวิดีโอ  แนะนำแอปเด็ด  How to  แนะแนวอาชีพในฝันอย่างแอร์โฮสเตสหรือแม้กระทั่งหมอดูก็ยังมีฯลฯ  จึงเป็นที่น่าจับตาว่า #TikTokUni จะสามารถขยายฐานผู้ใช้ไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากเจน Z ในไทยได้หรือไม่ คนทำธุรกิจและนักการตลาดต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป  และเหนือสิ่งอื่นใดต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ TikTok คือ แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเป็นคนผลิตคอนเท็นต์เอง (User Generated Platform) ที่แซงหน้าแพลตฟอร์มอื่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


จากกระแสความฮอตของ TikTok และความพยายามในการสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นมากกว่าความบันเทิงจึงเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจและนักการตลาดไม่อาจมองข้ามแพลตฟอร์มตัวนี้ได้อีก เพราะถ้าหากคุณชะล่าใจโอกาสทองที่จะเข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภครุ่นใหม่อาจจะไม่ทันแล้วก็เป็นไปได้.


ที่มา : 

https://www.youtube.com/watch?v=HSf9Q2bok7Y

https://www.prachachat.net/columns/news-505953