ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เรื่องลับๆ ใต้ดินของเมืองใหญ่
เรื่อง: โตมร ศุขปรีชา
Hi-Light:
ใต้ดินของนิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส และเมืองใหญ่อื่นๆ ในยุโรป ตั้งแต่ปรากจนถึงเบอร์ลิน - ไม่ได้มีแค่รถไฟใต้ดินเท่านั้นนะครับ แต่ยังมี ‘โครงข่าย’ ของท่ออีกแบบหนึ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้
นั่นคือ ‘ท่อไปรษณีย์’
หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร?
ที่จริงแล้ว ‘ท่อไปรษณีย์’ นี้ เอาไว้ส่งพัสดุไปรษณีย์จริงๆ นะครับ เพราะเมืองใหญ่ระดับลอนดอน ปารีส และนิวยอร์คนั้น มีปัญหาจราจรแบบเดียวกับกรุงเทพฯ สมัยนี้นี่แหละครับ แต่เขาไม่ได้นิ่งนอนใจปล่อยให้การจราจรติดหนึบจนทำร้ายเศรษฐกิจถึงรากถึงโคน ทว่าพยายามหาวิธีอื่นๆ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 จึงเกิด ‘ท่อเหล็ก’ ที่มีความยาวหลายๆ สิบกิโลเมตรขึ้นตามเมืองต่างๆ เป็นท่อที่ไม่ได้เล็กเท่าไร เพราะสามารถส่งได้ตั้งแต่จดหมายและพัสดุที่มีขนาดยาวได้ถึงเกือบครึ่งเมตร โดยระบบการส่งที่ว่านี้ คือการ ‘อัดอากาศ’ ผ่านท่อ มีทั้งอากาศแบบแรงดันสูง และการทำให้บางส่วนของท่อเป็นสุญญากาศ พัสดุและจดหมายต่างๆ จึงส่งไปได้อย่างรวดเร็วในท่อใต้ดิน ไม่ต้องรอให้บุรุษไปรษณีย์ปั่นจักรยานหรือนั่งรถม้าไปส่ง
ท่อที่ว่านี้เรียกว่าระบบ Pneumatic Tube Transport หรือ PTT ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง เช่น จากสถานีไปรษณีย์ไปยังตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เวลาส่งข่าวสารต่างๆ จะได้ไปถึงได้รวดเร็วทันใจ คือเร็วกว่าโทรเลขเสียอีก เนื่องจากโทรเลขนั้น แม้จะเร็วเพราะส่งผ่านสาย แต่อย่างไรก็ต้องให้คนนำไปส่งอีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็ต้องฟันฝ่าการจราจรไป จึงไม่ได้ไปถึงได้ในทันที
สิ่งประดิษฐ์นี้เกิดจากฝีมือของวิศวกรอังกฤษหลายคนที่พัฒนาต่อกันมาเรื่อยๆ แล้วเนื่องจากเป็นยุควิคตอเรียนที่อังกฤษยิ่งใหญ่มากในโลก ท่อ PTT จึงถูกนำไปใช้ในเมืองต่างๆ อย่างนิวยอร์คนั้น มีท่อ PTT ยาวถึง 69 กิโลเมตร แต่ที่ยาวกว่าจนโลกต้องตะลึงก็คือเบอร์ลิน เพราะมีระบบท่อ PTT ซ่อนอยู่ใต้ดินยาวถึง 400 กิโลเมตร ทว่าก็ยังแพ้ปารีส ที่มีระบบท่อนี้ยาวถึง 467 กิโลเมตร
ท่อไปรษณีย์นี้เป็น ‘ของใหม่’ ที่คนยุโรปเห่อกันมาก เพราะมันส่งข่าวสารได้รวดเร็วเหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน เมืองไหนมีระบบ PTT ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่เจ๋งมาก แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ระบบ PTT ก็ถูก Disrupt (คงต้องใช้ศัพท์นี้) โดยระบบแฟกซ์ ที่สามารถส่งข้อความต่างๆ ไปตามสายได้ถึงที่โดยไม่ต้องการการขนส่งใดๆ เลย PTT จึงค่อยๆ หมดไป และหมดไปจนเกือบจะเกลี้ยงโลกในยุคแปดศูนย์
แต่ถ้าอยากเป็น PTT ล่ะ เราจะไปดูได้ที่ไหน
ถ้าไม่อยากเดินทางไปไหน ลองหาหนังอย่าง Kingsman: The Secret Service มาดูก็ได้ครับ เพราะหนังเรื่องนี้มี ‘ยาน PTT’ ขนาดใหญ่สี่ที่นั่ง ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบนูมาติกเดินทางจากย่านดาวน์ทาวน์ไปที่อื่น ซึ่งตัวระบบก็คือ PTT เดียวกันนี่แหละครับ เพียงแต่เป็นจินตนาการที่สร้างให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากระบบท่อ PTT ของจริงในโลกแห่งอดีต
แต่นอกจากจินตนาการแล้ว PTT จริงๆ ที่ใช้กันอยู่ก็ยังมีให้เห็นหลายแห่ง เช่นที่ New York Public Library ก็ใช้ระบบ PTT นี้ในการขนส่งหนังสือจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในไชนาทาวน์ของนิวยอร์ค คือร้านชื่อ Roasting Plant Coffee ก็ใช้ระบบ PTT ในการขนส่งเมล็ดกาแฟหมุนเวียนภายในร้าน โรงเรียนแพทย์ในเดนมาร์คก็สร้างระบบ PTT ขึ้นมาขนส่งของ
แต่ถ้าคุณอยากเห็นระบบท่อไปรษณีย์ PTT ดั้งเดิมที่เคยใช้งานจริงในศตวรรษที่ 19 ก็ต้องไปที่ปรากเท่านั้น ที่นั่นมีการอนุรักษ์สถานีไปรษณีย์ในยุคศตวรรษที่ 18 เอาไว้ พร้อมกับระบบท่อ PTT ซึ่งยังมีเครือข่ายไปทั่วบริเวณเมืองเก่า ยาวราว 5 กิโลเมตร (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.thevintagenews.com/2017/05/22/the-last-surviving-municipal-pneumatic-tube-transport-system-is-in-prague/) ถือเป็นระบบ PTT แห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่า มนุษย์โหยกระหายการเชื่อมต่อเพื่อสัมพันธ์กันมากขนาดไหน
PTT คือหนึ่งในก้าวประวัติศาสตร์แห่งความพยายามเชื่อมต่อนั้นโดยแท้