กลุ่มชาติพันธุ์กับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของไทยในฉบับปัจจุบัน

“กลุ่มชาติพันธุ์”

เมื่อกล่าวถึงคำนี้ อาจจะคิดว่าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นหมู่เกาะไกลโพ้นหรือกลุ่มประเทศที่มีแต่ป่าทึบเท่านั้น อันที่จริงแล้ว กลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนนี้ก็จัดเป็นกลุ่มประเทศในดินแดนแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของพลเมือง ในแต่ละประเทศ จะมีกลุ่มชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันบ้าง คล้ายคลึงกันบ้าง ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า อินโดนีเซีย เป็นต้น รวมถึงประเทศไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศเช่นเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันในลักษณะความผสมผสานจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี โบราณสถานต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทย ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางด้านสังคม เทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาการของกฎหมายจะเจริญก้าวหน้าเพียงใด ก็ยังมีข่าวสารของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ปรากฎออกมาต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2553 เรื่อยมาจนปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บางกลอย ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทำให้เราต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้กัน

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กระจายอยู่จำนวนมาก อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธุ์มอญ กลุ่มชาติพันธุ์ซาไก เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานกระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวนกว่า 70 กลุ่ม โดยมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
มีจำนวนกว่า 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรทั้งประเทศ จำแนกตั้งถิ่นฐานออกได้เป็นลักษณะดังนี้ กลุ่มตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูงหรือชนชาวเขา กลุ่มตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ราบ กลุ่มชาวเลและกลุ่มอาศัยอยู่ในป่า   กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่หลากหลาย แตกต่างไปตามเศรษฐกิจ สังคม
จารีตประเพณี สภาพภูมิสังคมในการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ โดยกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชนชาวเขา จะตั้งถิ่นฐานตามแนวเทือกเขาบนพื้นที่สูงจำนวนมากทางภาคเหนือ เป็นสังคมเกษตรกรรมที่พึ่งพิงอาศัยป่าเป็นหลักกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ราบ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่มีวิถีการดำรงชีวิตกลมกลืนกลับคนไทยทั่วไปมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานริมชายฝั่งทะเลหรือตามหมู่เกาะต่าง ๆ มีอาชีพทำประมงเป็นหลัก (ที่มา: รายงานความก้าวหน้าการติดตามการปฎิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ ฯ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา)


กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มคนที่มีจุดกำเนิดร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบแผนเดียวกัน รวมถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และสัญชาติสอดคล้องกัน มีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือดและทางวัฒนธรรม พร้อมกับเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยสร้างเสริมอัตลักษณ์ของบุคคลและชาติพันธ์ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นั้น หากนับถือศาสนาเดียวกันหรือได้รับอิทธิพลจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์นั้นจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก (ที่มา อมรา พงศาพิชญ์. (2537). วัฒนธรรมศาสนาและชาติพันธุ์วิเคราะห์สังคมไทยแบบมนุษย์วิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยประสบปัญหาด้านต่าง ๆ หลายด้าน อาทิ ปัญหาถิ่นที่อยู่อาศัย ปัญหาพื้นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ พื้นที่ทำการเกษตร หรือแม้กระทั่งปัญหาในการถูกยอมรับการมีตัวตนว่าเป็นคนพลเมืองไทยหรือไม่ ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์นั้นก็อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยมาตลอดอย่างยาวนาน ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏเป็นข่าวและเกิดปัญหามาระยะหนึ่ง คือ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แห่งบ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญออยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี พ.ศ. 2524 ถิ่นฐานของพวกเขาตั้งอยู่ใจกลางป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดำรงวิถีชีวิตแบบ ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวพื้นเมืองและพืชผักที่เคยทำมาตลอดอย่างยาวนาน จึงเกิดปัญหาทางกฎหมายอันนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย

less-is-more-for-luxuary-travel-market-01

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีกำหนดการรับรองสิทธิและเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ไว้ มาตรา 27 กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน และห้ามมีให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง   นอกจากกำหนดให้บุคคลมีสถานะที่เท่าเทียมกันแล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้เป็นบทบัญญัติเฉพาะในมาตรา 70 ให้เป็นภาระหน้าที่สำคัญของรัฐ ที่จะต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและพลเมืองไว้ ถือได้ว่าเป็นหลักประกันที่สำคัญให้การคุ้มครองและให้เกิดกลไกลต่าง ๆ ที่เป็นภาระหน้าที่ในรัฐต้องดำเนินการ ๆ เป็นสำคัญด้วย


จะเห็นได้ว่า รัฐให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งเป็นบทบัญญัติกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดเป็นระดับนโยบายให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไปดูแลและที่สำคัญอยู่ในระหว่างจัดทำร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อมุ่งคุ้มครอง
ให้ความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งที่รัฐมีหน้าที่ต่อกลุ่มชาติพันธุ์


สำหรับกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอแห่งบ้านบางกลอย ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้นครอบคลุมพื้นป่าเทือกเขาตะนาวศรี ประกอบไปด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี จังหวัดราชบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จังหวัดราชบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาครัฐได้ดำเนินร่วมกันกับทุกภาคส่วนเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนบูรณาการกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลายโครงการ (ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์, วันที่ 29 มิถุนายน 2564) อาทิ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านโป่งลึก-บางกลอย อันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงกางหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม การแนะนำให้ชาวบ้านทำกสิกรรมแบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
 

กลุ่มชาติพันธุ์นับว่าเป็นพลเมืองที่มีความรู้ ความสามารถตามวิถีของตน มีวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมาตามความเชื่อของชาติพันธุ์มายาวนาน ฉะนั้น นอกจากภาครัฐแล้วพลเมืองทุกคนก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันส่งเสริม ยอมรับ และสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนบนวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ต่อไป


บทความโดย นคร วัลลิภากร