ปลดหนี้ได้แล้ว ทำยังไงไม่กลับไปเป็นหนี้รอบ 2

หลายคนกว่าจะหลุดพ้นจากวังวนของปัญหาหนี้สินได้ก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากการโดนเจ้าหนี้นอกระบบตามหนี้ แต่เมื่อปลดหนี้ได้แล้ว ทำไมบางคนยังไม่เข็ดกลับไปเป็นหนี้ซ้ำแบบเดิมอีก มีหนทางไหนที่จะแก้ปัญหาการกลับไปเป็นหนี้รอบ 2 3 4 วันนี้มีวิธีไม่กลับไปเป็นหนี้ (ไม่ดี) รอบ 2 หากทำได้จริงชีวิตนี้ไม่ต้องเป็นหนี้ (ไม่ดี) อีกต่อไปแถมยังมั่นคงมีเงินเหลือเก็บเหลือใช้อย่างยั่งยืน


1.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเองที่ชัดเจนแบบไม่มโน

  • สำรวจตัวเองว่ามีรายรับเท่าไหร่ในแต่ละเดือนและมีทางที่จะหารายได้เสริมจากทางไหนได้อีกบ้าง
    สำรวจตัวเองว่ามีรายจ่ายเท่าไหร่ในแต่ละเดือน  มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่ อะไรคือค่าใช้จ่ายประจำและอะไรคือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยซึ่งคุณสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงได้


2.ตั้งเป้าหมายใหญ่วาดฝันความสำเร็จของชีวิต

เพื่อเป็นเข็มทิศในการวางแผนการเงินของคุณให้ได้  เช่น  คุณอาจตั้งเป้าใหญ่ว่าเมื่อเกษียณอายุจะมีเงินเก็บ 10 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยามเกษียณ นอกจากมีเป้าหมายใหญ่แล้ว ควรมีการตั้งเป้าหมายเป็นช่วงระยะเวลา เพื่อจะได้มีกำลังใจเก็บเกี่ยวความสำเร็จในแต่ละช่วงของชีวิต ซึ่งควรเริ่มจากการออมเงินก้อนเล็กก่อนเพราะใช้เวลาไม่นานเมื่อออมก้อนเล็กสำเร็จก็จะได้มีกำลังใจในการออมก้อนที่ใหญ่กว่าต่อไป เช่น

  • เป้าหมายระยะใกล้ไม่เกิน 3 เดือน  เช่น  ออมเงินเพื่อเก็บเงินก้อนไปลงทุน
  • เป้าหมายระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี  เช่น  การเก็บออมเงินฉุกเฉิน เมื่อเวลาที่เกิดเหตุจำเป็นจะต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน ตามปกติควรมีเงินออมฉุกเฉินในบัญชีเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จำนวน 6 เดือน
  • เป้าหมายระยะปานกลางไม่เกิน 10 ปี  เช่น  การเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านหรือคอนโด 
  • เป้าหมายระยะยาว 10 ปีขึ้นไป เช่น  การเก็บเงินก้อนเพื่อการเกษียณอายุ 

3. ปรับทัศนคติ ออมก่อนใช้ 

ฟังดูเหมือนง่ายแต่การเก็บเงินอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แต่ที่ยากที่สุดก็คือก้าวแรก ถ้าหากไม่เคยเก็บออมเลย แนะนำให้ใช้วิธีหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติทุกเดือนเข้าบัญชีเงินฝากประจำจะได้ไม่เผลอใช้เงินก่อนเก็บ 


4.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 จากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทำให้คุณรู้ว่าพฤติกรรมการใช้เงินของคุณในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร   มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นหรือเป็นการซื้อของฟุ่มเฟือยที่สามารถปรับลดลงหรือไม่ซื้อก็ไม่ทำให้คุณเดือดร้อนหรือคุณภาพชีวิตแย่ลง  เช่น  ปกติจะออกไปทานข้าวนอกบ้านเป็นประจำอาจเปลี่ยนเป็นซื้ออาหารสำเร็จรูปมากินที่บ้านก็ช่วยประหยัดเงินได้มากหรือจะทำอาหารหม้อใหญ่เก็บไว้กินเองหลายๆ มื้อก็สะอาดปลอดภัยไม่เปลืองเงินหรือเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง หากของเดิมยังใช้ได้อยู่ก็ไม่จำเป็นจะต้องซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ  เป็นต้น


5. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เลือกคบคนที่ฐานะใกล้เคียงกัน 

บางคนอาจบอกว่าการคบเพื่อนไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางใจล้วนๆ  แต่ความเป็นจริงกลุ่มเพื่อนฝูงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการตัดสินใจเป็นอย่างมาก  เช่น หากเพื่อนชอบพบปะสังสรรค์ที่ร้านคาเฟ่หรูกินอาหารร้านดังในห้าง แน่นอนว่าคุณก็ต้องควักเงินจ่ายค่าอาหารในราคาหรูๆ เช่นกัน หรือเพื่อนในกลุ่มต่างซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมใช้ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อกระเป๋าของคุณเช่นกัน และนั่นก็คือตัวกระตุ้นให้คุณควักเงินหรือก่อหนี้เพื่อจ่ายค่ากระเป๋าแบรนด์เนมอย่างไม่ทันตั้งตัว  

6. ศึกษาการลงทุนแบบชาญฉลาด

แม้ว่าคุณจะเก็บออมเงินเก่งแต่ถ้าหากไม่รู้จักการลงทุนก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินไปได้ เพราะทุกวันนี้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำไม่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ซึ่งค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณปีละ 3%  ดังนั้นการหาความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อเอาชนะอัตราเงินเฟ้อคือสิ่งที่คุณควรทำ และต้องลงทุนอย่างชาญฉลาดคุณจึงจะประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงิน


สุดท้ายนี้  หากคุณไม่อยากกลับไปเป็นหนี้ซ้ำอีกต่อไป  คงไม่สายที่จะเริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของคุณและที่สำคัญตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ เข้าไว้ฝันให้ไกลและไปให้ถึง รู้จักออมก่อนใช้ ปรับทัศนคติเรื่องการใช้เงินและหมั่นศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน  คุณก็จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้แบบที่มีความสุขและความสำเร็จทางการเงินจะอยู่ไม่ไกลจนเกินเอื้อมอย่างแน่นอน


ข้อมูล

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_2May2021.aspx?fbclid=IwAR0L6gFU_wAbHk1s7OvvPu7pvYQ6GGRE540qAcAyVjm84BE-9V5OIwTUnKM