ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ควรแบ่งเงินมาซื้อประกันเท่าไหร่
ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตสักฉบับ ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความเสี่ยงด้านการทำงาน หรือรูปแบบประกันและความคุ้มครองที่เหมาะสม นอกจากนี้สิ่งที่ลืมไม่ได้ก่อนตัดสินใจซื้อประกัน คือ การแบ่งเงินมาซื้อประกันให้เหมาะสมกับรายได้ อย่าลืมว่าเมื่อซื้อประกันแล้วจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาว ถ้าไม่วางแผนตั้งแต่ต้นอาจเกิดปัญหาทางการเงินได้
คำถามที่ตามมาคือ ควรจะทำทุนประกันเท่าไรจึงจะพอเหมาะพอดี และเบี้ยที่จ่ายควรจะจ่ายปีละเท่าไร หลักการเลือกทุนประกันที่ทำแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว คือ ทำแบบพอดี ไม่ใช่ทำด้วยทุนประกันสูง ๆ แล้วต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันปีละมาก ๆ จนต้องล้มเลิกกลางคัน ดังนั้น การชำระเบี้ยประกันที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ
การแบ่งสัดส่วนรายได้เพื่อนำมาซื้อประกันอย่างเหมาะสมจะทำให้สามารถชำระเบี้ยประกันได้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญา โดยการจัดสรรเงินเพื่อทำประกันในเบื้องต้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการได้มาของรายได้ คือ ผู้ที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ในแต่ละเดือนไม่แน่นอน หรือฟรีแลนซ์
หากแบ่งประเภทตามลักษณะการได้มาของรายได้ พบว่าผู้ที่มีรายได้สม่ำเสมอและแน่นอนจากเงินเดือนสามารถวางแผนด้วยการแบ่งเงินมาทำประกันได้ง่าย โดยใช้หลักการง่าย ๆ คือ ควรแบ่งเงินประมาณ 10% ของรายได้ในแต่ละเดือนมาทำประกัน อย่างไรก็ตาม หากมีภาระความจำเป็นไม่มาก ค่าใช้จ่ายน้อย ก็สามารถแบ่งเงินมาทำประกันมากขึ้นได้ เช่น 15% หรือ 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน (ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย)
เช่น เริ่มทำงานได้เงินเดือนละ 15,000 บาท แบ่งเงินมา 10% ของรายได้ต่อเดือนเพื่อทำประกัน (1,500 บาทต่อเดือน) และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น หากยังคงรักษาสัดส่วนแบ่งเงินมาทำประกันเอาไว้ในระดับเดิม (เช่น 10% ของรายได้ต่อเดือน) ก็สามารถมีเงินเก็บและมีความคุ้มครองทางประกันที่มากขึ้นในอนาคต เช่น เงินเดือน 50,000 บาท ขณะที่สัดส่วนการทำประกันยังคงไว้ที่ 10% ของรายได้ต่อเดือน (5,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้น ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้สัดส่วนการทำประกันยังคงที่แต่เบี้ยประกันที่จ่ายมากขึ้น ก็จะทำให้ได้รับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการแบ่งเงินมาซื้อประกันของผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดด้านรายได้ สามารถเริ่มคำนวณจากรายได้ที่คาดว่าจะหาได้ในปีนั้น ๆ และเนื่องจากมีรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น การแบ่งเงินมาซื้อจึงขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน และเพื่อลดปัญหาการไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกัน ควรเลือกทำประกันที่จ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียวต่อปี
เมื่อเอ่ยถึงการทำประกันชีวิต หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสูง ๆ ทำให้ไม่คิดจะทำประกัน ข้อเท็จจริง คือ ประกันชีวิตมีหลายแบบ มีค่าเบี้ยประกันต่างกัน และมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะพิจารณาถึงการแบ่งเงินมาซื้อที่เหมาะสมแล้ว ควรเปรียบเทียบความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันแต่ละแบบด้วย
ตัวอย่าง อายุ 35 ปี มีรายได้ปีละ 500,000 บาท แบ่งเงินมาซื้อประกัน 10% ของรายได้ (จ่ายเบี้ยประกันปีละ 50,000 บาท) จะได้รับความคุ้มครองแตกต่างกันในแต่ละรูปแบบประกัน ดังนี้
ประกันชีวิต |
ระยะเวลาจ่ายเบี้ยประกัน |
ระยะเวลาคุ้มครอง |
วงเงินคุ้มครองโดยประมาณ |
แบบชั่วระยะเวลา 10/10 |
10 ปี |
10 ปี |
10,000,000 บาท |
แบบตลอดชีพ 90/10 |
10 ปี |
คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี |
1,000,000 บาท |
แบบสะสมทรัพย์ 15/10 |
10 ปี |
15 ปี |
150,000 บาท |
แบบบำนาญ 85/10 |
10 ปี |
คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี |
200,000 บาท |
ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เมื่อประกันชีวิตมีหลายแบบจึงอยู่ที่วัตถุประสงค์ในการทำประกัน เช่น หากต้องการทำประกันชีวิตเพื่อเน้นสร้างความคุ้มครองให้กับครอบครัว แต่งบประมาณจำกัดสามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แต่หากมีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันได้มากขึ้น สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองที่นานขึ้นและเมื่อมีรายได้มากขึ้น และหากมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น หรือมีกำลังทรัพย์มากพอก็สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันออมทรัพย์ เพื่อรับเงินก้อนเมื่อครบสัญญา หรือทำประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณ ซึ่งแบบสะสมทรัพย์และบำนาญ ไม่ได้เน้นความคุ้มครอง แต่เน้นการได้รับเงินเพื่อใช้จ่ายในอนาคต
นอกจากนี้เมื่อมีประกันชีวิตแล้วยังสามารถเพิ่มความคุ้มครองด้วยสัญญาเพิ่มเติม เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันทุพพลภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสัญญาเพิ่มเติมก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลากี่ปีหรือเท่ากับสัญญาหลัก
ประโยชน์การทำประกันชีวิต
1.ประโยชน์ต่อผู้เอาประกัน ช่วยให้มีวินัยในการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคต เมื่อถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินใช้ หากทุพพลภาพก็มีเงินเลี้ยงดู เป็นการเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเผชิญในอนาคต ทำให้ไม่ต้องกังวลใจในการดำเนินชีวิต ถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง เนื่องจากประกันชีวิตบางชนิดมีการขายควบคู่กับกองทุนรวม ทำให้ผู้เอาประกันได้รับทั้งความคุ้มครองและได้ลงทุน อีกทั้งประกันชีวิตบางชนิดยังได้เงินปันผลด้วย นอกจากนี้เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไป ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร 2.ประโยชน์ต่อครอบครัว การทำประกันชีวิตเป็นเหมือนหลักประกันความมั่นคงให้กับคนในครอบครัว เมื่อผู้มีรายได้หลักที่เลี้ยงดูครอบครัวต้องจากไปก่อนวัยอันควร ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินชดเชยจากประกันชีวิตทดแทนรายได้ของผู้นำครอบครัวที่เสียชีวิตไป ช่วยให้คนในครอบครัวยังคงสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ |
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประกันชีวิตเป็นมาตรการรับมือในการบรรเทาความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะเป็นวิธีหนึ่งในการลดความสูญเสียทางการเงิน ทำให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่าย คุ้มครองเงินออม ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจทำประกันควรศึกษาแบบประกันที่เหมาะกับเป้าหมายและความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต