บริหารการเงินให้อยู่หมัด ด้วยหลัก “หัวใจเศรษฐี”

เราสามารถสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเองได้ง่ายๆ ตามหลักหัวใจเศรษฐี คือ ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร และดำเนินชีวิตแบบพอเพียง หากทำได้ เราจะมีเงินเก็บ เงินใช้ และเงินเติมเต็มความสุข แบบเพียงพอไปตลอดชีวิต มาดูกันว่าแต่ละข้อมีสิ่งที่นำมาปรับใช้กับการเงินของเราอย่างไรได้บ้าง

millionaire-principle-01

1. ขยันหา

สร้างรายได้โดยสุจริต เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต เมื่อการเงินมั่นคง การต่อยอดเพื่อสร้างความมั่งคั่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากการวางแผนการเงินอย่างจริงจัง ทำรายรับ-รายจ่าย ให้รู้ที่มาที่ไปของเงิน รู้ว่าต้องหารายได้เท่าไหร่ เพื่อให้พอค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รู้ว่าต้องตัดส่วนไหนออก เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น  โดยไม่กระทบเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งแผนการเงินที่ดี ต้องมีเป้าหมายชัดเจน และวัดผลได้ เช่น จะต้องมีเงินเก็บให้ได้ 1 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือจะต้องสร้างรายได้แบบ Passive Income ให้ได้เดือนละ 5,000 บาท เมื่อเป้าหมายชัด ก็จะรู้ว่าต้องหารายได้เพิ่มเดือนละเท่าไหร่ สามารถกำหนดวิธีการเพื่อไปยังเป้าหมายได้อย่างมีทิศทาง เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าควรทำอะไรบ้าง มีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน และควรมีแหล่งรายได้หลายทาง เช่น รายได้จากอาชีพที่สอง หรืองานเสริม รวมถึงการสร้างรายได้ในรูปแบบ Passive Income ที่มาในรูปแบบของค่าเช่า เงินปันผล ดอกเบี้ย เป็นต้น เพราะการมีเงินได้เพียงแหล่งเดียวคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เหมือนเราไม่มีทางเลือก หรือทางออกสำรองไว้ให้ตัวเอง หากวันดีคืนร้าย แหล่งเงินได้นั้นหายไป รายได้ก็จะกลายเป็นศูนย์ทันที

 

2. รักษาดี


รู้จักเก็บออมเงิน และรักษาสภาพคล่องของตนเองให้ดีอยู่เสมอ มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อยให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำ 3-6 เดือน อย่าลืมว่าความไม่แน่นอนคือความแน่นอน เงินที่เราคิดว่าพอในวันนี้ อาจจะไม่พอในวันข้างหน้า จากเหตุที่ต้องใช้เงินมากขึ้น หรือสูญเสียเงินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจเกิดกับตัวเราเอง หรือคนใกล้ชิด จึงต้องรักษากระแสเงินสดของตัวเองไว้เสมอ อย่านำเงินเก็บทั้งหมดไปทุ่มกับการลงทุน และอย่าเก็บเงินไว้แค่ในรูปแบบเงินฝากเพียงอย่างเดียว ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลที่ชนะเงินเฟ้อ เช่น ลงทุนในความรู้ที่นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้เพิ่มได้ รวมถึงลงทุนในผลิตทางการเงินต่างๆ โดยสัดส่วนของเงินเก็บ กับเงินลงทุน จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่าย ความจำเป็น และความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ เพราะการบริหารเงิน ต้องควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วย

3. มีกัลยาณมิตร


หลายงานวิจัยกล่าวไว้ว่า คนรอบข้างเราสามารถส่งผลต่อชีวิตของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนสุภาษิตที่ว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล โดยเราจะเป็นค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่เราอยู่ด้วยมากที่สุด หากเราฟุ่มเฟือย แต่เพื่อนของเราประหยัด ก็สามารถช่วยให้เราใช้จ่ายเงินน้อยลงได้ เพราะจะมีคนคอยเบรก คอยห้าม หรือคอยเตือนสติให้เราต้องประหยัดตามไปด้วย รวมถึงการพาตัวเองไปหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ยิ่งมีความรู้กว้าง ก็ยิ่งได้เปรียบ เหมือนมีต้นทุนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายขึ้น


4. ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง


การวางแผนการเงินไม่ใช่แค่เรื่องของการเก็บเงินให้ได้มากๆ ตามเป้าหมาย แต่ยังหมายถึงการที่เราสามารถบริหารเงินเพื่อให้มีพอเพียงไปตลอดชีวิต ได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่สุดโต่งกับการหาเงิน หรือใช้เงินจนเกินไป เพราะหากไม่รู้จักพอ  มีเงินมากเท่าไหร่ ก็ยังคิดว่าไม่พออยู่เสมอ เช่นเดียวกัน หากไม่รู้จักเก็บ หาเงินได้มากเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้เช่นกัน ความพอเพียงต้องอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท อย่าคิดว่ายังหนุ่ม ยังสาว มีเวลาในการเก็บเงินอีกนาน เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เวลาผ่านไปไวกว่าที่คิด และอย่าคิดแต่เพียงต้องการมีเงินมากๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง เพราะเงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง บางคนมัวแต่หาเงินจนลืมใช้ชีวิต ลืมมองคนรอบตัว สุดท้ายคนที่เสียใจก็คือตัวเราเอง ดังนั้น ขอให้มีคำว่า “พอเพียง” ไว้สร้างสมดุลในชีวิตเสมอ


เมื่อเราลงมือทำได้ทั้ง 4 ข้อนี้ ก็จะสามารถกำหนดอนาคตทางการเงินของตัวเองได้ ฐานะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือรายได้ ไม่ได้เป็นตัวกำหนด เพราะเราสร้างต้นทุนชีวิตเพิ่มเติมได้จากการขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร และดำเนินชีวิตแบบพอเพียงนั่นเอง


สนใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความมั่นคง ดูรายละเอียดได้ที่นี่