ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จากภาวะโรคระบาดโควิด – 19 ที่ผ่านมา ทำให้คนหันมาใส่ใจในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ก็เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สำคัญมากในยามที่เราเกษียณอายุ เพราะเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยมากขึ้น และเมื่อตอนที่เราเกษียณ เราก็จะไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง เช่น ประกันกลุ่ม อีกต่อไปแล้ว ทำให้เราต้องบริหารจัดการกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ดังนั้นการวางแผนทำประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นมากๆ เพราะการมีประกันสุขภาพจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลได้
สิ่งที่ควรพิจารณาในการวางแผนประกันสุขภาพก่อนเกษียณอายุ ได้แก่
1. ตรวจสอบเงื่อนไขในการรับประกัน
เมื่อเรามาทำประกันสุขภาพตอนที่อายุมาก (หรือตอนใกล้เกษียณ) จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขในการรับประกันให้ดี หากเรายังมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมาก เพราะเราจะได้ความคุ้มครองที่ต้องการในราคาเบี้ยมาตรฐาน (สุขภาพมาตรฐาน) แต่หากเรามีโรคประจำตัวไปแล้ว เงื่อนไขที่เราจะได้รับนั้น ก็จะมีตั้งแต่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด (รวมโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน) แต่ถูกเพิ่มเบี้ย ซึ่งอัตราการเพิ่มเบี้ยนั้น ขึ้นอยู่กับทางบริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าเรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน หากมีความเสี่ยงมาก ก็จะถูกเพิ่มเบี้ยมาก
หากความเสี่ยงของโรคที่เป็นมามากเกินกว่าที่บริษัทจะรับประกันได้ เราก็จะได้รับเงื่อนไขในการประกันเป็นแบบไม่ถูกเพิ่มเบี้ย แต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน เช่น หากมีการตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อที่เต้านม แต่แพทย์วินิจฉัยว่า ก้อนนั้นยังมีขนาดเล็ก ไม่ต้องผ่าตัด ให้คอยติดตามอาการด้วยการทำแมมโมแกรมทุกปี ในกรณีนี้บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองประกันสุขภาพแก่ผู้เอาประกันด้วยเบี้ยมาตรฐาน แต่จะยกเว้นไม่คุ้มครองเต้านม เพราะบริษัทไม่แน่ใจว่าก้อนเนื้อนั้นจะพัฒนาเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
แต่หากโรคประจำตัวนั้น เป็นโรคที่มีโอกาสพัฒนาเป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้นในอนาคต และเกินกว่าที่บริษัทประกันจะรับความเสี่ยงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง บริษัทก็จะปฏิเสธการรับประกัน
ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพ เราควรทำความเข้าใจในความคุ้มครองที่ได้รับ และเงื่อนไขในการรับประกันให้ถี่ถ้วน เพื่อที่เราจะได้รับประโยชน์จากประกันสุขภาพที่เราทำอย่างเต็มที่ และไม่เกิดปัญหาในการเคลมได้ในอนาคต
2. ความสามารถในการชำระเบี้ยหลังเกษียณ
สิ่งที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดมา คือ ความสามารถในชำระเบี้ยประกันเมื่ออายุสูงขึ้น เพราะเบี้ยประกันสุขภาพนั้นเพิ่มขึ้นตามอายุ และยิ่งอายุมาก เบี้ยก็จะเพิ่มในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากตามไปด้วย ทำให้หลายคนที่ไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ ก็อาจจะจ่ายเบี้ยไม่ไหว โดยเฉพาะคนที่ทำประกันสุขภาพตั้งแต่ตอนอายุน้อยๆ ดูแล้วเบี้ยไม่แพงเลย เราเองก็เลยไม่สนใจเพราะคิดว่าจ่ายไหว แต่พอเมื่อถึงวัยเกษียณที่เราไม่มีรายได้แล้ว กลับต้องมาเจอปัญหาเรื่องเบี้ยประกันสุขภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากเราจ่ายเบี้ยไม่ไหวก็อาจทำให้ต้องทิ้งประกันสุขภาพนั้นไปก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบเบี้ยประกันสุขภาพในอนาคตที่ต้องชำระตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมแผนการรับมือ โดยอาจจะวางแผนเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันที่สูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้หากเราพบว่าเบี้ยนั้นสูงเกินกว่าจะรับได้ (ไม่คุ้มกับความคุ้มครองที่ได้) เราอาจพิจารณาที่จะไม่ต่อความคุ้มครองนั้น และเตรียมเงินกองทุนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลของตัวเองแทนก็ได้ ซึ่งการวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เรามีทางเลือกสำหรับการเกษียณอายุที่มากขึ้นนั่นเอง
3. ข้อผิดพลาดในการวางแผนประกันสุขภาพ
การเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งทางการเงินของเราได้เลย เพราะการที่ต้องเผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วยแบบไม่ตั้งตัว อาจทำให้ต้องเสียเงินเสียทองที่มากกว่าที่คาดไว้ เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็ต้องรีบรักษาทันที หรือบางคนโชคร้ายเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องใช้เงินรักษาที่สูงมากและเรื้อรังยาวนาน ซึ่งความผิดพลาดนี้เกิดจากการที่เรามักจะคิดว่าอายุยังน้อย ยังแข็งแรง ไม่ต้องรีบทำประกันสุขภาพก็ได้ แต่พอเกิดเหตุก็ทำไม่ทันเสียแล้ว และอาจจะทำประกันสุขภาพไม่ได้อีกเลย หากโรคนั้นเป็นโรคที่บริษัทประกันไม่รับประกัน
ข้อผิดพลาดประการถัดมา คือ ทำประกันสุขภาพวงเงินคุ้มครองน้อยเกินไป โดยอาจคิดว่าอายุยังน้อยซื้อแค่นี้ไปก่อนเดี๋ยวอายุมากๆ ค่อยซื้อเพิ่ม แต่อาจจะไม่ได้มีการติดตาม ทบทวนความคุ้มครองที่มีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงค่อยพบว่ามีวงเงินไม่เพียงพอ ต้องมาเสียเงินจ่ายส่วนต่างเพิ่มเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้กระทบกับแผนการเงินด้านอื่นเหมือนกัน เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบกรมธรรม์ของตัวเองด้วยว่า วงเงินคุ้มครองที่ตัวเองมีอยู่เพียงพอกับที่ต้องการมั้ย ควรต้องซื้ออะไรเพิ่มเติมหรือไม่
4. มีทางเลือกอะไรบ้าง หากไม่มีประกันสุขภาพ
สำหรับคนที่ทำประกันสุขภาพไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีโรคประจำตัวที่บริษัทประกันไม่รับประกัน ก็อาจต้องพิจารณาใช้สวัสดิการของรัฐที่เรามีอยู่ เช่น บัตรทอง ซึ่งเราต้องเข้าใจสิทธิประโยชน์ รวมทั้งยอมรับข้อจำกัดของบัตรทอง เช่น ต้องใช้บริการที่โรงพยาบาลที่กำหนดไว้เท่านั้น และต้องต่อคิวนาน เป็นต้น
หากอยากได้รับความสะดวกสบายในการรักษามากขึ้น หรืออยากรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เราอาจสร้างพอร์ตการลงทุน เพื่อเป็นกองทุนค่ารักษาพยาบาลของตนเองขึ้นมาก็ได้ โดยหากเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ถอนเงินจากกองทุนไปเป็นค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งในการสร้างพอร์ตการลงทุน ก็ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญในการลงทุน และมีระยะเวลาการลงทุนที่มากพอ จึงจะทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตได้
กล่าวโดยสรุปการวางแผนประกันสุขภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เช่นกัน เพราะบางครั้งหากมาเริ่มคิดตอนใกล้เกษียณก็อาจไม่ทันกาล โอกาสในการซื้อจะยากขึ้น เนื่องจากเมื่อสูงอายุขึ้น ก็มักจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงมีประวัติการการรักษาโรคอื่นๆ มาก่อน ซึ่งหากเรามีการวางแผนที่ดี และสามารถซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะปลอดภัยและอุ่นใจกว่าในระยะยาว
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร