“หนี้นอกระบบ” น่ากลัวกว่าที่คุณคิด

“เงินด่วน กู้ง่าย ได้ไว ไม่เช็คเครดิตบูโร ไม่ต้องมีเอกสาร รับเงินสดทันทีติดต่อ 08X-XXXXXXX” เงินกู้ที่เข้าถึงง่าย แต่อาจจะตายก่อนออก! เศรษฐกิจไม่ดี หมุนเงินไม่ทัน หลายคนเลยหลงกลโกงของหนี้นอกระบบ ทั้งๆ ที่อาจรู้ทั้งรู้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ยังก็ยังไม่วายมีคนจำนวนมากที่ยังหลวมตัว หลงกลตกเป็นทาสของขบวนการหนี้นอกระบบจนชีวิตพังและอาจไม่พังคนเดียว ครอบครัวและคนรอบข้างก็อาจพลอยเดือดร้อนไปด้วย ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมจากหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก เฉพาะการร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 4444 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 - วันที่ 24 พ.ย. 2562 มีผู้ร้องเรียนถึง 4,748 ราย โดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคกลาง 1,926 ราย เฉพาะกรุงเทพฯมีถึง 663 ราย ตามด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 766 ราย ภาคเหนือ 516 ราย ภาคใต้ 449 ราย ภาคตะวันออก 414 ราย และไม่ระบุจังหวัดอีก 677 ราย วันนี้มาฟังความน่ากลัวของหนี้นอกระบบกันชัดๆ อีกที จะได้ไม่หลงกลเห็นว่าได้เงินง่ายๆ แต่สุดท้ายต้องกลายเป็นทาสและหวาดกลัวกับการทวงหนี้มหาโหด


ดอกเบี้ยสูงมาก

ลองคิดตามดูดีๆ เขาบอกดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 20% ต่อเดือน หนี้รายวันก็ดูเหมือนผ่อนไหว วันละไม่กี่ร้อยบาท แต่คุณพระ! คิดดีๆ ดอกเบี้ยเท่ากับ 240% ต่อปี แซงหน้าเงินต้นไป 3-4 เท่า! ดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ นอกจากจะปลดหนี้ไม่ได้แล้ว หลายคนต้องไปกู้เพิ่มเพื่อมาจ่ายแค่ดอก เป็นทาสไปตลอดชีวิต ลองมาเปรียบเทียบกันชัดๆ ระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ของหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ สมมติกู้เงินที่ 10,000 บาท


หนี้ในระบบ ดอกเบี้ย 1.75% ต่อเดือน คืนเงินใน 12 เดือน เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 12,100 บาท = ดอกเบี้ย 2,100 บาท


หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน คืนเงินใน 12 เดือน เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 34,000 บาท = ดอกเบี้ย 24,000 บาท

ดอกลอย

กรณีดอกลอยสามารถเกิดได้ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งจำนวนในคราวเดียวกัน สามารถชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ทำให้ปริมาณเงินที่ต้องจ่ายโดยรวมถูกทบเข้าทั้งต้นทั้งดอกจนยอดหนี้สูงขึ้น ภาระทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้น และเมื่อทบเข้าไปยาวนานขึ้นเรื่อยๆ จากกู้ไม่กี่พันบาทอาจจะลอยไปเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้


ไม่มีการทำสัญญาชัดเจน

การทำสัญญาเงินกู้นอกระบบไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ค่อยมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และผู้กู้ก็ไม่สามารถต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ด้วย รวมทั้งผู้กู้จะไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ในขณะที่การกู้ในระบบแม้จะใช้เอกสารและขั้นตอนมากกว่า (ซึ่งในปัจจุบันการกู้ในระบบมีขั้นตอนที่ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก) แต่มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างความมั่นใจในการชำระหนี้ให้กับผู้กู้ได้มากกว่า

อาจพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย

หากทำการกู้เงินนอกระบบ จะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่ปล่อยกู้ให้เรามีแหล่งเงินมาจากที่ไหน ซึ่งอาจจะมาจากการทำธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ  ซึ่งถ้าหากเข้าไปพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ ก็อาจจะยากที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทันท่วงที เพราะการสืบหาเกี่ยวกับเครือข่ายกู้เงินนอกระบบได้ทันทีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย


คนปล่อยกู้คือคนคุมเกม

คนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ มักรู้ว่าคนที่กู้เงินนอกระบบมักอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินกู้มาใช้ทันเวลา ทำให้ในการกู้เงินนอกระบบมักมีกลโกงที่บอกเงื่อนไขการกู้เงินแบบกำกวมๆ หรือทำให้สับสน ทำให้สุดท้ายแล้ว ผู้กู้จะไม่รู้เลยว่าตอนนี้เป็นหนี้อยู่เท่าไหร่กันแน่ เพราะคนปล่อยกู้คือคนเดียวที่จะตีความข้อตกลงนั้นได้ ทำให้ผู้กู้กลายเป็นแค่ลูกไก่ในกำมือ

โดนทวงหนี้โหด

ในกรณีลูกหนี้ผิดนัดการจ่ายเงินมักจะมีการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้อับอาย หลายกรณีถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกาย พยายามทำลายทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งลุกลามไปถึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิด


นอกจากนั้นข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ ระบุว่าปัจจุบันกลโกงจากแก๊งหนี้นอกระบบมี 3 ประเภทได้แก่


1.แก๊งหมวกกันน็อค
มีลักษณะเป็นการปล่อยเงินกู้เงินรายวันโดยไม่มีการทำสัญญา อาจใช้วิธียึดบัตรเครดิต บัตรประชาชน หรือยึดบัตรของคนที่ค้ำประกัน ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แก๊งเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยหลายๆแก๊งมีแหล่งเงินทุนจากทุนใหญ่เจ้าเดียวกัน กลโกงที่น่ากลัวมากของแก๊งหมวกกันน็อคนั้นมีอยู่ 2 วิธีคือ

  • การคิด “ดอกลอย” เช่น ให้กู้ 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับเดือนละ 5,000 บาท ก็จะให้ลูกหนี้ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกหนี้จะมีเงินต้นครบ 50,000 บาทมาใช้คืน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้ และต้องส่งเงินให้เจ้าหนี้มากกว่าเงินต้นที่กู้ยืมมาหลายเท่า หรือต้องไปกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ในวงเงินที่มากกว่าเดิม

  • “ล้ม เงินส่ง 24 วัน” ยกตัวอย่าง เงินกู้ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 2,000 บาท รวมเป็น 12,000 บาท ให้ผ่อนชำระเป็นเวลา 24 วัน วันละ 500 บาท ระหว่างที่ผ่อนชำระหากวันใดวันหนึ่งลูกหนี้ไม่สามารถส่งเงินได้ เจ้าหนี้จะยกเลิกเงินที่ส่งมาแล้วทั้งหมดเท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า “ล้ม” และลูกหนี้ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการผ่อนชำระ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้

2. กลุ่มนายทุนที่ทำสัญญาแบบเอาเปรียบ ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำกิน โดยก่อนหน้านี้รูปแบบที่นิยมทำกันมากคือการขายฝาก โดยทำสัญญาไถ่ถอนระยะสั้นส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนที่คืนได้ทัน ที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่กู้หลายเท่าจึงตกเป็นของเจ้าหนี้ แต่หลังจากที่ภาครัฐมีการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการออก “พระราชบัญญัติขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ซึ่งมีกฎเกณฑ์มากมาย ส่งผลให้การทำสัญญาขายฝากเพื่อยึดที่ดินของลูกหนี้เงินกู้ลดน้อยลง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันเจ้าหนี้ได้ใช้กลโกงในการทำสัญญาแบบใหม่ โดยให้ลูกหนี้ “โอนที่ดิน” ให้เจ้าหนี้ก่อนรับเงิน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนและนำเงินมาชำระหนี้จึงได้ที่ดินคืน (โดยทำสัญญาจะซื้อจะขาย) แต่สิ่งที่ลูกหนี้ไม่รู้คือ“กรรมสิทธิ์”ในที่ดินได้ตกเป็นของเจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้เพื่อแลกกับเงินกู้ และเนื่องจากราคาที่ดินมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่กู้หลายเท่า ลูกหนี้จึงมักถูกโกงที่ไปโดยปริยาย โดยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนเจ้าหนี้ก็จะหลีกเลี่ยงการรับชำระหนี้ เช่น เมื่อลูกหนี้มาชำระเงินงวดสุดท้ายเจ้าหนี้จะไม่ให้พบโดยอ้างว่าไม่อยู่บ้าน

3. เงินกู้ออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ พนักงานบริษัท และกลุ่มนักศึกษา สำหรับ “กลุ่มแม่ค้าออนไลน์” นั้นจะเป็นการปล่อยกู้แบบ “ตั้งวงแชร์” โดยแก๊งเงินกู้จะเข้าไปตรวจสอบประวัติของแม่ค้าออนไลน์และคนที่จะดึงมาร่วมวงแชร์ก่อนว่ามีกำลังในการชำระหนี้และมีหลักแหล่งชัดเจนหรือไม่ จากนั้นจึงเข้าไปตีสนิทผ่านการแชท เมื่อคุ้นเคยกันก็ชวนตั้งวงแชร์ โดยแก๊งเงินกู้ทำหน้าที่เป็น “เท้าแชร์” วิธีการจะเหมือนกับการเล่นแชร์ทั่วไป แต่หากลูกแชร์คนไหนไม่มีเงินส่ง เท้าแชร์ก็จะชักชวนไปลงแชร์อีกวงหนึ่งเพื่อ “เปีย” มาส่งวงแรก

ซึ่งจะทำให้ลุกหนี้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญเท้าแชร์จะทำหน้าที่เป็น “แหล่งเงินกู้นอกระบบ” ด้วย หากลูกแชร์ไม่มีเงินส่งก็สามารถกู้เงินจากเท้าแชร์ได้ โดยหากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามกำหนดก็จะใช้วิธีด่าประจานหน้า Facebook หรือไปทวงกับคนรักและเพื่อนๆ ของลูกหนี้ที่อยู่ใน Facebook ทำให้ลูกหนี้ต้องรีบชำระหนี้เพราะกลัวถูกประจาน และเหตุผลที่เจ้าหนี้ไม่กลัวลูกหนี้ปิด Facebook หนี เนื่องจากจากการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียพบว่าลูกหนี้ที่เป็นแม่ค้าออนไลน์จะเสียดายฐานลูกค้าที่อยู่ใน Facebook ขณะที่ลูกหนี้ทั่วไปที่เล่น Facebook ก็เคยชินกับการใช้ Facebook เดิม ไม่อยากไปแอดเพื่อนใหม่


หนี้นอกระบบนั้นทั้งน่ากลัวและอันตราย นอกจากจะโดนเอาเปรียบเสียเงิน อาจเสียบ้าน เสียที่ดิน เสียชื่อเสียง เจ็บตัวหรือแม้กระทั่งเสี่ยงชีวิต ไม่ควรเอาตัวไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องการเงินเดี๋ยวนี้การกู้ในระบบกับธนาคารอย่าง SCB ก็มีออฟชั่นที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านวิกฤตการเงินไปได้ ทั้งสินเชื่อ UP , สินเชื่อ My Home My Cash และสินเชื่อ My Car My Cash ที่ใช้บ้านหรือรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ แต่ยังมีบ้านอยู่ ยังมีรถใช้เหมือนเดิม รู้ผลการอนุมัติเบื้องต้นไวภายใน 1 วันทำการ สอบถามข้อมูลเพื่อหาสินเชื่อที่เหมาะสมกับคุณได้ที่ 02-7777777


อ้างอิง

https://www.ncb.co.th/

https://www.moneyguru.co.th

https://www.gobear.com/th/blog/personal-loan/4-reasons-to-avoid-informal-debts

https://mgronline.com/specialscoop/detail/9620000116089