ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ภาษาที่เราใช้มีผลต่อพฤติกรรมการออม? เศรษฐศาสตร์มีคำตอบ!
เรื่อง: ดร.ศิริศักดิ์ เชยคำแหง
Hi-Light:
มีท่านผู้อ่านท่านไหนจำยอดเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์ของตัวเองได้ไหมครับ หรือจำได้ว่าเดือนๆ หนึ่งเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ช้อปปิ้งไปเท่าไร หมดเงินไปกับค่าเที่ยว หรือแม้แต่ค่ากาแฟไปเท่าไร เคยเป็นกันไหมครับที่พอสิ้นเดือนหรือสิ้นปี มากดเช็กยอดเงินในบัญชีแล้วอดเผลอที่จะถอนหายใจกับตัวเองไม่ได้ และเซ็งที่แผนการออมเงินที่ตั้งใจไว้แต่แรกต้องล้มไม่เป็นท่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การบริหารเงินเป็นปัญหาที่เราทุกคนเผชิญในทุกๆ วันไม่ว่าจะตั้งคำถามว่า เรามีเงินเท่าไร เราควรมีเงินเท่าไร เราจะต้องหาเพิ่มเท่าไร หรือแม้แต่เพื่อนๆ และคนรอบตัวเรามีเงินเท่าไร ถึงแม้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเงินเหมือนเป็นสิ่งที่มนุษย์โลกทุกคนแทบจะคิดกันทุกวัน แต่เหตุใดมนุษย์เราส่วนใหญ่จึงมักมีปัญหาสำหรับการออม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมในระยะยาว หรือการออมเพื่อเลี้ยงดูตัวเองในวัยเกษียณ
หลายท่านอาจจะเคยได้อ่านหรือผ่านตาหลายเทคนิคการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหยอดกระปุกออมสิน ฝากเงินไว้กับคนอื่น จดรายรับรายจ่าย สะสมธนบัตร 50 บาท หรือกระทั่งหักบัตรเครดิตทิ้ง ซึ่งดูเป็นวิธีง่ายๆ ครับ แต่ถ้าหากวิเคราะห์ไปถึงเหตุผลเบื้องลึกถึงพฤติกรรมการออมของมนุษย์เรา อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่มากไปกว่าวินัยการออมของเราครับ ดังนั้นวิธีการช่วยออมแบบเดิมๆ นั้นอาจจะยากเกินกว่าที่จะไปหลอกสมองเพื่อเปลี่ยนวิธีการคิดของเราได้ครับ
มีการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาหลายชิ้นระบุไว้ว่า อุปสรรคสำคัญสำหรับการออมเป็นเพราะมนุษย์เรามักจะไม่คิดคำนึงถึงอนาคต ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเบสิก แต่มันมีปัจจัยส่งเสริมที่ล้ำลึกมากไปกว่านั้นครับ
จากการสำรวจของธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า แต่ละประเทศมีอัตราการออมของประชากรและครัวเรือนแตกต่างกันไป คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ปัจจัยด้านวัฒนธรรมจะมีผลต่อการออมของคนในแต่ละชาติ? จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Keith Chen จาก UCLA พบว่า ภาษาที่เราใช้พูดกันทุกวันนี้แหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนออมเงินต่างกัน หลายคนอาจจะสงสัยว่าภาษานั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคนขนาดนั้นเลยหรือ? อันที่จริงภาษาต่างๆ นั้นมีโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อเลือกส่งสารข้อมูลบางอย่างออกไป ซึ่งพอใช้ภาษานั้นเป็นกิจวัตรประจำวันจะทำให้คนเรามีวิธีคิดไปในทางใดทางหนึ่งโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาถามทางคนไทยอย่างเราทั่วไปว่าจะไปสยามสแควร์ไปยังไง เราก็คงจะบอกทางในลักษณะที่ว่า ขับรถตรงไปข้างหน้า เจอแยกนี้แล้วเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ในทางกลับกัน นักมานุษยวิทยาค้นพบชนเผ่าอะบอริจินเผ่าหนึ่ง (Guugu Yimithirr) ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย ซึ่งใช้ภาษาในทางแตกต่างออกไป โดยจะอธิบายการเดินทางในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ทิศทางแทน เช่น บอกว่าจะไปสยาม คุณต้องเดินไปทางทิศตะวันออกก่อน แล้วจึงขึ้นเหนือหรือลงใต้ โดยภาษาของชนเผ่านี้มีโครงสร้างที่ทำให้คนกลุ่มนี้คิดถึงเรื่องทิศทางได้ตลอดเวลา ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในป่าเขารกชัน กลางภูเขา ในเวลากลางวันหรือกลางดึก ชาว Guugu Yimithirr ก็จะหลงทางได้ยากมากๆ เพราะมีเซนส์การจับทิศทางได้ค่อนข้างดี
ในทำนองเดียวกันภาษาบางภาษานั้นมีโครงสร้างให้เราคำนึงถึงเรื่องของเงื่อนเวลาเสมอ คนในประเทศที่ใช้ “ภาษาไร้อนาคต” (Futureless Language) หรือภาษาที่ไม่มีคำอ้างอิงกาลเวลาอนาคตชัดเจน ซึ่งมักใช้คำกริยาที่ไม่ผันเปลี่ยนตามเงื่อนเวลาปัจจุบันหรืออนาคต มักจะพบว่าเป็นชาติที่มีอัตราการออมเงินสูง ตัวอย่างเช่น สมมติคนอังกฤษหรืออเมริกันจะอธิบายสภาพอากาศว่าฝนตกจะพูดว่า “Now it rains” (ตอนนี้ฝนตก) หรือ “It will rain tomorrow” (พรุ่งนี้ฝนจะตก) ในขณะที่คนในชาติที่ใช้ภาษาไร้อนาคต เช่นใน จีน ญี่ปุ่น หรือ เยอรมนี จะพูดประโยคซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษตามตัวได้ว่า “Now it rain” และ “Tomorrow it rain” จะเห็นว่าไม่มีการผันคำกริยาตามเงื่อนเวลาที่เปลี่ยนไป คนในชาติเหล่านี้จะคิดถึงอนาคตไม่ต่างกับปัจจุบัน หรือพูดได้ว่าภาษาทำให้คนกลุ่มนี้คิดไปว่าอนาคตไม่ต่างจากปัจจุบัน ในขณะกลุ่มคนในชาติที่ใช้ภาษาที่มีโครงสร้างแยกความเป็นปัจจุบันกับอนาคตให้แตกต่างกันสูง จะมีความคิดที่ว่าอนาคตแตกต่างจากปัจจุบันและยังอยู่ไกลยังไม่มาถึง ดังนั้น คนในชาติกลุ่มหลังนี้มักเลือกที่จะใช้เงินในปัจจุบันมากกว่าและออมน้อยกว่าอีกกลุ่ม
ตัวเลขสถิติก็ยังชี้ให้เห็นว่าคนชาติอังกฤษและอเมริกันที่ใช้ภาษาอันมีไวยากรณ์ที่แยกปัจจุบันกับอนาคตชัดเจน นั้นอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการออมต่ำจริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เราเรียกว่าคนกลุ่มหลังนี้มี Present bias หรืออคติที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต
จากการศึกษากลุ่มประชากรหลายชาติ รวมไปจนถึงกลุ่มประชากรในชาติเดียวกันที่ใช้ภาษาถิ่นที่แตกต่างออกไปพบว่า กลุ่มตัวอย่างของคนที่ใช้ภาษาไร้อนาคตมีแนวโน้มที่จะมีการออมในปีหนึ่งๆ สูงถึง 31% และจะสะสมความมั่งคั่งได้เยอะกว่าอีกกลุ่มถึง 39% เมื่ออายุถึงวัยเกษียณ ไม่เพียงเท่านั้น คนในชาติที่ใช้ภาษาประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะติดบุหรี่น้อยกว่า มีเพศสัมพันธ์ที่มีการป้องกัน (ใช้ถุงยาง)มากกว่า และมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าอีกด้วย!
ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่าถ้าอยากจะออมเงินได้มากขึ้นและมีไลฟ์สไตล์ที่ดียิ่งขึ้น นี่ฉันต้องไปเรียนภาษาต่างชาติหรือย้ายประเทศไปอยู่ในชาติที่ใช้ภาษาไร้อนาคตหรือไม่? คำตอบคือไม่จำเป็นครับ สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก็คือ ภาษาไม่ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่าง แต่วิธีคิดถึงอนาคตที่ถูกหล่อหลอมจากภาษาต่างหาก ที่ทำให้มนุษย์เรามีพฤติกรรมการออมระยะยาวหรือไลฟ์สไตล์เรื่องสุขภาพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจะเอาชนะสมองและวิธีคิดของเรากันอย่างไร เพื่อให้เราคิดถึงอนาคตและออมได้มากขึ้นได้ ติดตามอ่านเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับศาสตร์การออม ในคอลัมน์เศรษฐ์สตางค์ต่อในตอนถัดๆ ไปครับ
อ้างอิง: